ฐากูร บุนปาน : กติกาการเลือกตั้งพิสดาร ในยุคที่พิกลพิการเช่นนี้

ไล่อ่านเรื่องกติกาการเลือกตั้ง (แบบวิตถาร เอ๊ยพิสดาร)

ที่กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ และ กกต. ยุคพิกลพิการประเคนให้ชาวบ้านแล้วอยากเป็นลม

สรุปง่ายๆ ก็คือ

ในการเลือกตั้งครั้งหน้า (หรือครั้งต่อๆ ไปในอนาคต ถ้ายังใช้กติกานี้) จะไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา-ต่อให้ชาวบ้านเลือกเข้ามาขนาดนั้นก็เถอะ

(อันนี้ท่านประกาศเองด้วยความภาคภูมิใจ)

เพราะกติกานี้เขียนไว้เพื่อเจาะยางพรรคการเมืองใหญ่โดยเฉพาะ

ไม่ว่าจะใช้บัตรเดียวเลือกทั้ง ส.ส.เขต-บัญชีรายชื่อ

วิธีการคำนวณแบบพิสดาร

หรือล่าสุดที่จะให้ผู้ลงสมัคร ส.ส. ทั้ง 350 เขตจับเบอร์หมด

350 เขต 350 คน 350 เบอร์

ที่แปลว่าพรรคไม่มีความสำคัญอีกต่อไป

ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร

ก็เพื่อไม่ให้การเมืองเข้มแข็ง

ไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

อำนาจนอกระบบจะได้เข้ามาแทรกแซงได้ง่ายๆ

แปลงซีเมนต์ให้เป็นถาดทรายร่วนๆ

ให้ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญหรือนอกการเลือกตั้ง ลอยเลื่อนเข้ามาเป็นนายกฯ เป็นกรรมการอิสระ เป็นอะไรต่อมิอะไรที่ยังกระชับอำนาจเอาไว้ในมือ

นี่คือความฝันของ “อำนาจเก่า” ทั้งหลาย

ที่มีความเป็นไปได้สูงเสียด้วย

เพราะที่ผ่านมา

พรรคและนักการเมืองไทยชอบกดปุ่มเข้าโหมด “ทำลายตัวเอง” อยู่เป็นเนืองๆ

เป็นพวกดีแต่พูด ทำไม่เป็นบ้างละ

เป็นพวกที่เวลามีอำนาจแล้วเหลิงอำนาจ ไม่เห็นหัวชาวบ้าน ไม่นึกถึงชีวิตของพี่น้องที่พลีให้ขึ้นมามีอำนาจบ้างละ

ฯลฯ

ถ้าไม่อยากเป็น “ขี้ข้า” ให้อำนาจนอกระบบต่อไป (ไม่รู้อีกนานเท่าไหร่)

ถึงเวลาพรรค-นักการเมืองทั้งหลายต้องแสดงตัวว่า “มีกระดูกสันหลัง” กันบ้างแล้ว

1. นำเสนอนโยบายที่จับต้องได้ มีประสิทธิภาพ ดี (หรือดูดี) กว่าที่รัฐบาลทำมาหรือกำลังทำอยู่

2. ประกาศจุดยืนให้ชัด ว่าไม่รับมรดกเผด็จการอะไรบ้าง

เช่น

– ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ

– จะทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ (ที่เอาคนส่วนน้อยมาขีดเส้นคนส่วนใหญ่ เอาคนแก่มาบังคับให้เด็กเดินทางคนแก่ไปลงเหว)

3. ทำให้ประชาชนเชื่อให้ได้ ว่าภาพหลอนในอดีตจะไม่หวนกลับมาอีก

หรือมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยนับจากนี้ไป

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริต

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำได้ดีเท่ากับพูด

ฯลฯ

ในทางกลับกัน

ผู้มีอำนาจ (จริงๆ ก็คือกองทัพ) พึงตระหนักให้มากด้วยว่า

ยิ่งข่มเหงน้ำใจชาวบ้าน ยิ่งแสดงความไม่เคารพมากเท่าไหร่

วันไหนเปิดให้ไอน้ำในการะบายออกมา มันก็จะยิ่งพวยพุ่งพลุ่งพล่าน

หรือถ้าพยายามจะปิดไว้นานๆ

เผลอๆ มันก็ระเบิดได้

กติกาพิกลพิการที่ “ไม่เห็นหัวชาวบ้าน” ทำให้การเลือกตั้งเป็นปาหี่นั้น

ไม่ใช่ไม่มีจุดอ่อนนะครับ

กดกันมากๆ เกิดออกมาเลือกตั้งกันถล่มทลาย

ไอ้ที่คิดว่าจะ “คุมกำเนิด” เขาได้ก็อาจไม่จริง

หรือถ้ายังดึงดันจะใช้วิธีวิตถาร-พิสดาร

ลด/กด/บิดเบือนเสียง-เจตนารมณ์ชาวบ้าน

สถานการณ์แบบนั้นจะนำไปสู่อะไร

จะสยบยอมกันโดยดี

หรือจะยิ่งเร่งให้การเผชิญหน้ารุนแรง-แหลมคมยิ่งขึ้น

ในช่วงที่เป็น “ขาขึ้น” นั้นไม่เท่าไหร่

แต่ในช่วงที่เป็น “ขาลง” นี่น่าสนใจนะครับ

ชาวบ้านตาย

ไอ้เณรตาย

สังคมส่วนหนึ่งออกมาร้องแรกแหกกระเชอให้ท่านรับผิดชอบ

ท่านทำหูทวนลม

หรือลากถ่วงดึงคดีไปได้

แต่พอ “คนที่อยากเป็นพวกเดียวกัน” ตาย

ตายอย่างมีเงื่อนงำ

ตายแล้วยังถูกปิดบังสาเหตุการตาย

ศรัทธา-ความน่าเชื่อถือ (ที่ร่อยหรอไปตามธรรมชาติของอำนาจอยู่แล้ว) ก็ยิ่งหดหายไปมากขึ้น

ทั้งหมดนี้มีรากมาจากฐานเดียวกัน

คือการไม่เห็นหัวชาวบ้าน

ถ้าเริ่มเห็นหัวคนอื่น

เห็นคนอื่นเป็นคนเหมือนกัน

เคารพเขาเท่ากันหรือใกล้กับที่เคารพตัวเองเมื่อไหร่

ที่เป็นขาลงก็พอชะลอได้

แต่ถ้ายังแก้สันดอน อุ๊ย-นิสัยดั้งเดิมไม่ได้

ยุทธศาสตร์ 20 ปีอะไรนั่นอย่าไปละเมอถึงเลยครับ

เอาพรุ่งนี้ให้รอดก่อนดีกว่า