“เด็กปกครองรัฐ เด็กครองเมืองนี้ อีกไม่กี่ปีแล้วเอย” | ปราปต์ บุนปาน

“เด็กผู้เติบโต”

เด็กเกิดมาแล้ว จะเติบโตแล้ว ร้องหาคนคอยดูแล

เด็กอีกเรือนแสน จะเติบโตแล้ว อีกไม่นานแล้วสิ

เด็กจะเป็นหมอ เด็กจะเป็นทหาร นายกรัฐมนตรี

เด็กปกครองรัฐ เด็กครองเมืองนี้ อีกไม่กี่ปีแล้วเอย

เด็กเติบโตแล้ว อยากเปลี่ยนแปลงแล้ว

แสวงหาความดีงาม

เด็กเติบโตแล้ว เด็กจะคอยถาม

อยากให้ทุกคนเป็นคนดี

เตรียมสิ่งใดเอาไว้ให้เราหรือยัง

เป็นความหวังให้เราชื่นเชย

เตรียมสิ่งใดเอาไว้ให้เราหรือยัง

เพราะเราหวังจะสร้างชาติให้งดงามนะเอย

เด็กเกิดมาแล้ว จะเติบโตแล้ว ร้องหาคนคอยดูแล

เด็กอีกเรือนแสน จะเติบโตแล้ว อีกไม่นานแล้วสิ

เด็กจะเป็นหมอ เด็กจะเป็นทหาร นายกรัฐมนตรี

เด็กปกครองรัฐ เด็กครองเมืองนี้ อีกไม่กี่ปีแล้วเอย

 

ข้างต้นคือเนื้อหาของเพลง “เด็กผู้เติบโต” เพลงเด็กจากรายการโทรทัศน์ “สโมสรผึ้งน้อย” ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2523 ฝีมือการแต่งคำร้อง-ทำนองโดย “ประชา พงศ์สุพัฒน์” (ซึ่งอีกราวหนึ่งทศวรรษถัดจากนั้น จะกลายเป็นนักแต่งเนื้อเพลงมือทองของค่ายแกรมมี่)

นี่เป็นหนึ่งในบทเพลงที่ผมนึกถึง ท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมขมุกขมัวหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

เอาเข้าจริงแล้ว สภาพสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันได้รุดหน้าไปจากเนื้อเพลงเมื่อกว่า 40 ปีก่อน มากพอสมควร

เพราะเพลง “เด็กผู้เติบโต” กำลังนำเสนอเนื้อหาจากมุมมองของผู้ใหญ่ที่คิดแทนเด็กๆ แม้จะคิดแทนด้วยความหวังดี ปรารถนาดี และมองเห็นเด็กๆ ในแง่ดี ก็ตาม

เพลงเพลงนี้ยังคงคาดหวังว่า ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายลงมือช่วยสร้างสรรค์สังคมที่ดี เพื่อรองรับความฝัน-ความหวังในวันข้างหน้าของเด็กๆ ผู้ต้อง “ร้องหาคนคอยดูแล”

นอกจากนั้น “เด็กผู้เติบโต” ในบทเพลงนี้ ยังคง “อยากได้” หรือแค่ “ต้องการ” ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อไม่กี่วันก่อน ได้บ่งบอกพวกเราว่า เด็กหรือคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยร่วมสมัย มิใช่เด็กน้อยผู้รอคอยความปรารถนาดีจากผู้ใหญ่อีกแล้ว

เด็กหรือคนรุ่นใหม่เหล่านี้เติบโตมากพอ ที่จะลงมือสานต่อความฝันของตัวเองด้วยสองมือของตน พวกเขาและเธอเติบโตมากพอ ที่จะทำพรรคการเมืองของตัวเอง และพร้อมจะก่อร่างสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิมด้วยมือของตัวเอง

เนื่องจากสังคมที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆ เคยสร้างทำขึ้นมา นั้นยังไม่ดีพอสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ และสมาชิกที่จะถือกำเนิดในอนาคต รวมทั้งอาจดีไม่พอสำหรับบรรดาผู้ใหญ่เองด้วยซ้ำไป

ที่สำคัญ “เด็กผู้เติบโต” ณ ปี 2566 ได้กลายเป็นพลเมืองรุ่นใหม่ ที่ไม่เพียงแค่ “อยากได้” หรือ “ต้องการ” ความเปลี่ยนแปลง

ทว่า พวกเขาและเธอได้ลงมือก่อให้เกิด “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่” ขึ้นแล้วในสังคมไทย

ความเปลี่ยนแปลงที่บังเกิดขึ้นจากแรงกายแรงใจของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เด็กๆ คิดเอง เออเอง ทำเอง เพื่อฝ่ายเดียว แต่ยังได้รับการยอมรับ-สนับสนุนจากผู้ใหญ่จำนวนมาก ซึ่งแสดงแรงสนับสนุนดังกล่าวผ่านบัตรเลือกตั้ง

แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้กลับไม่อาจเคลื่อนหน้าวิวัฒน์ไปอย่างราบรื่น เพราะยังมี “ผู้หลักผู้ใหญ่” บางส่วนในบ้านเมือง ที่แสดงท่าทีเหนี่ยวรั้ง ขัดขืน ฝืนต้านพลวัต ซึ่งผลักดันโดยเด็กๆ

ยังไม่มีใครแน่ใจว่า ความเปลี่ยนแปลงอันก่อเกิดจากความใฝ่ฝันและการกระทำของเด็กๆ คนรุ่นใหม่ทั้งหลาย จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคที่ผู้หลักผู้ใหญ่บางกลุ่มจัดวาง “ค่ายกล” เอาไว้ ได้หรือไม่?

และการก่อสร้างกำแพงเพื่อขัดขวางความเปลี่ยนแปลงโดยผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มนี้ จะมีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งแพงลิบลิ่วขนาดไหน? •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน