ทำไมก้าวไกล? | ปราปต์ บุนปาน

ถ้าคะแนนนิยมของ “พรรคก้าวไกล” และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” พุ่งขึ้นมาแค่ในโพลสำนักเดียว หลายคนอาจแซวได้ว่านั่นเป็นแค่ “กระแสหลอก” ที่ทำให้เกิด “นายกฯ ออนไลน์” หรือ “นายกฯ โพล”

แต่พอหลายๆ โพล (หลายๆ วิธีวิทยา) บอกไปในทางเดียวกัน ว่าความนิยมที่มีต่อ “ก้าวไกล-พิธา” นั้นพุ่งแรงขึ้นจริงๆ

หัวใจของบรรดาผู้สมัคร ส.ส. และคนทำงานของพรรคก้าวไกลคงกำลังฮึกเหิม พองโต

คู่แข่งในสนามเลือกตั้งคงกำลังหวั่นไหว ร้อนรน

และศัตรู/คู่ตรงข้ามทางการเมืองรายอื่นๆ ก็คงถึงขั้นอยู่ไม่สุข

 

ก่อนที่จะไปคาดการณ์อนาคต ว่าก้าวไกลจะได้ ส.ส.จริง จำนวนเท่าไหร่? และพรรคจะโดนตัดตอนอีกหรือไม่?

คำถามที่พึงพิจารณาไม่แพ้กัน ก็คือ ทำไมก้าวไกลจึงมาแรงขึ้นเรื่อยๆ?

คำตอบต่อคำถามนี้ ผูกพันอยู่กับเหตุผลประมาณ 5 ข้อ

ข้อแรก คือ การที่พรรคก้าวไกลและพิธาได้ทำงานการเมืองระดับชาติมาอย่างต่อเนื่อง หากมองเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี พิธาก็เหมือนจะได้โชว์ความพร้อมมาก่อนหน้าแคนดิเดตนายกฯ รายอื่นๆ ที่มีคะแนนนิยมสูสีใกล้เคียงกัน

นี่เป็นข้อได้เปรียบในทำนองเดียวกับที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เริ่มออกสตาร์ตก่อนคู่แข่งคนอื่นๆ ในสนามผู้ว่าฯ กทม.

ด้านหนึ่ง มีข้อครหาว่าก้าวไกลเป็น “เด็กไม่เคยทำงาน” สิ่งที่น่าถามกลับ คือ “ทำงาน” นั้นหมายถึงอะไร? “การทำงาน” ของนักการเมืองคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลเท่านั้นหรือ?

ในทางตรงกันข้าม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ก้าวไกลสามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกตนเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ดี กล้าชนกับผู้มีอำนาจในทางการเมืองและเศรษฐกิจ กล้ายืนหยัดเคียงข้างประชาชนและเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งโดยอำนาจรัฐ

เหล่านี้คือ “การทำงานการเมือง” อีกประเภทหนึ่ง

ต้องยอมรับว่า วิธี “การทำงาน” ที่เน้นชนปัญหาเชิงโครงสร้าง หรือมุ่งสะสางปัญหาที่ต้นตอของระบบ ดูจะไม่ค่อยลงรอยกับสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่นมากนัก

ดังที่หลายคนอาจรู้สึกว่าพรรคก้าวไกลและคณะก้าวหน้า ควรจะประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ มากกว่าที่เป็นอยู่

แต่พอนำเอาวิธี “การทำงาน” ในลักษณะดังกล่าวมาวางทาบทับกับสนามเลือกตั้งระดับชาติ ภาพที่ออกมากลับดูไม่ผิดฝาผิดตัว ทั้งยังดูถูกที่ถูกเวลา

“การทำงานอย่างต่อเนื่อง” ของก้าวไกลและพิธา อาจกำลังผลิดอกออกผลครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งทั่วไปรอบนี้

 

ข้อสอง ก้าวไกลขับเคลื่อนตัวเองด้วย “สารที่ชัดเจน” ทางการเมือง

ทั้งคำขวัญ “มีเราไม่มีลุง” และการยืนกรานไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีผู้ทำรัฐประหารเป็นแกนนำ คือ “สารทางการเมือง” ที่ถูกสื่อออกมาอย่างรวดเร็ว กระชับ หนักแน่น และชัดเจน โดยคนของพรรคก้าวไกลทุกระดับ ไม่มีการซุกซ่อนเงื่อนไข-เงื่อนปมเอาไว้

ตัวแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ก็มีความชัดเจนเป็นหนึ่งเดียว คือ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

ความชัดเจนอีกประการ คือ คนออกนโยบายของก้าวไกล และคนของพรรคที่จะเข้าไปทำงานในสภาหรือคณะรัฐมนตรี มีแนวโน้มจะเป็น “คนกลุ่มเดียวกัน” ซึ่งเข้าใจหลักการ จุดยืน และนโยบายสำคัญๆ ของพรรคตรงกัน

ไม่ได้มีภาพที่ทีมคิดนโยบายเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ส่วน ส.ส.ในสภา หรือรัฐมนตรี เป็นคนอีกกลุ่ม อีกประเภท

 

ข้อสาม ก้าวไกลโดดเด่นบนเวทีดีเบต ด้วยศักยภาพในการสื่อสารกับสาธารณชนของหัวหน้าพรรค ผู้สมัคร ส.ส. ทีมนโยบาย และผู้ช่วยหาเสียง ร่วม 10-20 คน ชนิดที่พรรคการเมืองอื่นๆ เทียบไม่ได้

และบางพรรคก็เลือกจะ “ไม่เล่นเกม” หรือ “เล่นเกม” นี้น้อยที่สุด เห็นได้จากปรากฏการณ์ไม่ส่งแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นเวทีดีเบต

ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย “เวทีดีเบต” ถูกตีความในสองความหมาย

ความหมายแรก คือ “เวทีดีเบต” เป็นแค่ส่วนเสี้ยวเดียวของกระบวนการหาเสียง และอาจมิได้เป็นตัวชี้วัดหลักในการแข่งขันทางการเมือง

ความหมายถัดมา คือ “เวทีดีเบต” เป็นช่องทางที่จะสื่อสารกับโหวตเตอร์ได้อย่างกว้างขวางครอบคลุมที่สุด โดยตัดผ่านเขตเลือกตั้ง อำเภอ จังหวัด และภูมิภาค

คล้ายกับว่าหลายพรรคการเมืองจะมองเห็น “เวทีดีเบต” ในความหมายแรก ขณะที่ก้าวไกลเหมือนจะเชื่อว่า “เวทีดีเบต” มีนัยยะความหมายในลักษณะหลัง อันนำมาสู่การค้นพบยุทธวิธีที่เหมาะสมของตนเอง

 

ข้อสี่ โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือสำคัญในการหาเสียงมาตั้งแต่ปี 2562 ทว่า ภูมิทัศน์ของโลกออนไลน์นั้นแปรเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากโลกที่มี “เฟซบุ๊ก” เป็นศูนย์กลาง มาสู่สังคมที่มี “ทวิตเตอร์” เป็นเวทีถกเถียงหลัก มาถึงยุคสมัยที่ “ติ๊กต็อก” เป็นจุดขับเคลื่อนทางการเมือง

ต้องยอมรับว่าก้าวไกลสามารถฉวยใช้ติ๊กต็อกมาเป็นเครื่องมือหาเสียงในการเลือกตั้งรอบนี้ได้อย่างชาญฉลาด

เราไม่ได้เห็นแค่พิธา แกนนำพรรคคนดังๆ หรือ “ธนาธร-ช่อ-ปิยบุตร” ในแพลตฟอร์มวิดีโอนี้ แต่ยังได้ตระหนักถึงพลังและเรี่ยวแรงของผู้สมัคร ส.ส. รุ่นใหม่ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนคนทั่วไปที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล

ติ๊กต็อกช่วยตอกย้ำแบรนด์ “คนเล็กๆ” หรือ “คนธรรมดา” ที่เข้ามาทำงานการเมืองของก้าวไกล ได้อย่างเข้มแข็ง

 

ข้อสุดท้าย ก้าวไกลมีพลวัตอันน่าทึ่งในช่วงเดือนกว่าๆ ก่อนการเลือกตั้ง

บนเวทีดีเบตแรกที่เครือมติชนจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมีนาคม ก่อนการประกาศยุบสภา ทีมงานของก้าวไกลที่ขึ้นเวทีรอบนั้น รวมถึงตัวพิธาด้วย ยังพูดจาสื่อสารจุดยืน-นโยบายของตนเองได้ไม่ค่อยดีนัก เข้าขั้นน่าผิดหวังนิดๆ ด้วยซ้ำ

แต่เวลาผ่านไปเดือนกว่าๆ คนของก้าวไกลกลับเก่งและตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ บนเวทีดีเบต

เช่นเดียวกับเจตจำนงทางการเมืองของพิธา ที่ช่วงแรกๆ ยังดูลอยๆ ฟุ้งๆ ไม่เป็นรูปธรรม ทว่าพอถึงช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง เขากลับหาญกล้าประกาศโรดแม็ปทางการเมืองออกมาว่า “รัฐบาลก้าวไกล” จะลงมือทำอะไรบ้างใน 100 วันแรก 1 ปีแรก และภายในเวลา 4 ปีของการดำรงตำแหน่ง

นี่คือพลวัตที่โดดเด่นออกมาและยังไม่ถูกนำเสนออย่างเป็นระบบจากพรรคการเมืองอื่นๆ

เหตุผลทั้งหมดทำให้เราไม่แปลกใจว่า ทำไม “กระแสก้าวไกล” ถึงมาแรงขนาดนี้ •