เขาชื่อ ‘เซีย จำปาทอง’ | ปราปต์ บุนปาน

ภาพจากเฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง

การเลือกตั้งทั่วไป 2566 กำลังเดินทางใกล้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย

ท่ามกลางการบ่งชี้จากหลายแหล่งข้อมูล ว่า “กระแสการเมือง” ดูเหมือนกำลังจะ “เปลี่ยน” “หักเห” หรือ “พลิกผัน” จนนำไปสู่ผลลัพธ์แปลกๆ ที่หลายคนอาจไม่ได้คาดคิดคำนวณมาก่อน

ในความพลิกผันของสถานการณ์ เราได้เห็นกระแสดราม่าหรือการบลั๊ฟฟ์กันโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก และไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระมากนัก เกิดขึ้นเกลื่อนกล่นตามโลกออนไลน์

กระนั้นก็ตาม ยังมี “สาระดีๆ” หรือ “สาระที่แตกต่าง” ซึ่งได้รับการถ่ายทอดบอกเล่าออกมาจากผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่น้อย

หนึ่งในนั้น คือ คำปราศรัยที่เรียบง่าย ซื่อตรง ทว่า สะเทือนอารมณ์ และสะท้อนความเป็นจริงในสังคมได้อย่างพลัง ของ “เซีย จำปาทอง” ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 จากพรรคก้าวไกล

เซียคือตัวแทน “ปีกแรงงาน” ในพรรคก้าวไกล ที่ถูกผลักดันให้ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งหนนี้ และการปราศรัยใหญ่ทางการเมืองครั้งแรกของเขา ณ ลานข้างห้างสรรพสินค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ก็บ่งชี้ถึงศักยภาพของ “นักการเมืองหน้าใหม่” รายนี้ได้เป็นอย่างดี

นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากถ้อยคำปราศรัยดังกล่าว

 

“ตึกอาคารที่หรูหรานี้ สร้างโดยมือแรงงานข้ามชาติค่าจ้าง 300 มือของพี่น้องแรงงานจากต่างจังหวัดที่ที่นาโดนยึด หรือเพาะปลูกไม่ได้

“พื้นในห้างที่มันวับ ขัดถูโดยแม่บ้านที่กินค่าจ้างขั้นต่ำไร้สวัสดิการมาทั้งชีวิต ที่นั่งอยู่ตรงนั้นคือแรงงานไรเดอร์ วินมอเตอร์ไซค์ ทำงานรับใช้เมืองนี้ แต่พวกเราถูกทิ้งไว้กับหนี้ ความจน ที่ส่งต่อจากพ่อแม่ สู่เรา และสู่ลูกหลานของพวกเรา

“ผม ‘เซีย จำปาทอง’ ผมเป็นแค่คนธรรมดาที่ทำงานรับจ้าง ได้รับเงินค่าจ้างแค่พอใช้ชีวิตไปวันๆ ชีวิตผมก็เหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ เกิดในครอบครัวชาวนา ทางบ้านยากจน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือสูงๆ เรียนจบแค่ ม.ปลาย การศึกษานอกโรงเรียน

“ต้องทำงานรับจ้างออกเรือหาปลากลางทะเลตั้งแต่อายุ 15 ปี ทำงานครั้งแรกได้เงินเดือนละ 1,000 บาท ทำงานลงเรือประมงหาปลาประมาณ 6 ปี จนปี 2536 พี่สาวได้ชวนมาทำงานในโรงงานปั่นด้ายทอผ้า จังหวัดสมุทรปราการ

“ผมทำงานโรงงานครั้งแรกได้รับค่าจ้างวันละ 115 บาท ทำงานเข้ากะดึก บ่าย เช้า หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ 20 ปี กรรมกรอย่างเช่นผมทำงานมา 20-30 ปี ก็ไม่มีโอกาสรวย มีแค่เงินใช้จ่ายไปในแต่ละวัน

“ผมทำงานหนักจนเกิดเจ็บป่วย หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ผมเข้ารับการรักษา ผ่าตัด พักฟื้นจนอาการดีขึ้นระดับหนึ่ง ก็ยังต้องกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

“ในขณะที่ผมและคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ทำงานหนักแบบนี้มาคนละหลายสิบปี ทำงานหนักจนเจ็บป่วย ทำงานหนักจนนายจ้างเจ้าของโรงงานเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 2 ล้าน เป็น 700 ล้าน แต่ชีวิตผมและคนส่วนใหญ่ยังยากจน มีหนี้สินท่วมตัว แต่พวกเขายังบอกว่าพวกเราขี้เกียจ และบอกให้พวกเราต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน

“และนั่นทำให้ผมและพี่น้องแรงงานตัดสินใจเข้าร่วมต่อสู้กับสหภาพแรงงาน เพื่อบอกกับพวกเขาว่า เราจะไม่ยอมให้พวกเขากดขี่ขูดรีดอีกต่อไป

“การรวมตัวกันในรูปแบบสหภาพแรงงาน จำเป็นต้องมีกติกาในการอยู่ร่วมกัน หากจะมีการแก้ไขกติกาในคราใด จะต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่เท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสำนึกความเป็นประชาธิปไตยอยู่ในตัวผม

“กฎหมายรัฐธรรมนูญก็เช่นกัน หากจะมีการแก้ไขต้องได้รับฉันทามติจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเท่านั้น ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารผมจึงเข้าร่วมต่อต้านมาโดยตลอด

“ผมได้เข้าร่วมการชุมนุมกับสหภาพแรงงาน และชุมนุมทางการเมืองของเสื้อแดง ในการชุมนุมแต่ละครั้งมีแต่ความเจ็บปวด ความตาย ความสำเร็จที่ได้เพียงน้อยนิดมาก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องเสียไป จะกี่รัฐบาลก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแบบถึงแก่นถึงราก”

ภาพจากเฟซบุ๊ก เซีย จำปาทอง

“…หลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเราได้แต่ฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองนั้น นักการเมืองคนนี้ ผมต้องขอบคุณสำหรับพรรคการเมืองที่รับฟังพวกเรา และประณามพรรคการเมืองที่กีดกันดูถูกพวกเรา

“แต่วันนี้ การทำได้แค่ขอบคุณหรือประณามพรรคการเมือง มันไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนชีวิตพวกเราแล้วครับ วันนี้ถึงเวลาที่พวกเราต้องมาร่วมกันต่อสู้ ร่วมกันเปลี่ยนแปลง ผ่านพรรคการเมืองของพวกเราเอง

“การทำการเมืองแบบอนาคตใหม่ของพรรคก้าวไกล เปิดโอกาสให้คนงานแบบพวกเราเข้ามาทำด้วยตัวเอง ทั้งงานจัดตั้งมวลชน งานจัดทำข้อเสนอนโยบาย ผ่านเครือข่ายแรงงานพรรคก้าวไกลอย่างเป็นระบบ

“พวกผมเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล จะพิสูจน์ว่ามือของกรรมกรนี่แหละ จะแก้ปัญหาของพวกเราด้วยตัวเอง มือของกรรมกรนี่แหละ จะเปลี่ยนประเทศนี้ให้เป็นรัฐสวัสดิการ มือของกรรมกรนี่แหละ ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย ร่วมสร้างสังคมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในยุคสมัยของพวกเรา” •