ตัวเลขน่าสนใจ จากผลโพล ‘มติชน x เดลินิวส์’ ครั้งที่ 1

ผู้อ่านหลายท่านน่าจะได้ทราบผลโพลเลือกตั้ง ’66 รอบแรก ที่สำรวจโดย “เครือมติชน” และ “เดลินิวส์” กันไปเรียบร้อยแล้ว

โดยเฉพาะข้อมูลหลักที่ชี้ว่า จากกลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทางออนไลน์จำนวน 84,076 คน เพื่อไทยคือพรรคการเมืองที่มีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกลตามติดมาเป็นอันดับสอง และพรรครวมไทยสร้างชาติเกาะกลุ่มอยู่ตรงอันดับที่สาม

ขณะที่เมื่อสำรวจความนิยมของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ผู้มีคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากก้าวไกล อันดับสองและสาม คือ “แพทองธาร ชินวัตร” และ “เศรษฐา ทวีสิน” จากเพื่อไทย ส่วนอันดับสี่ คือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แห่งรวมไทยสร้างชาติ

อย่างไรก็ตาม ในเชิงรายละเอียด ยังมีสถิติ-ตัวเลขน่าสนใจอีกหลายประการที่ซ่อนอยู่ในผลโพล “มติชน x เดลินิวส์” ดังที่ปรากฏในบทวิเคราะห์ของคณะนักวิชาการจากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จึงขออนุญาตนำตัวเลขบางส่วนมาเล่าสู่กันฟังในพื้นที่นี้ อีกช่องทางหนึ่ง

ในภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ของโพล “มติชน x เดลินิวส์” เป็นประชากรชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 49.80 และเป็นคนต่างจังหวัดร้อยละ 50.20

เมื่อพิจารณาข้อมูลช่วงอายุ กลุ่มที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุด คือ คน “เจนเอ็กซ์” (วัย 42-57 ปี) ซึ่งมีจำนวน 34.82 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ คนรุ่น “เบบี้บูมเมอร์” (58-76 ปี) 27.43 เปอร์เซ็นต์ และคน “เจนวาย” (26-41 ปี) 26.30 เปอร์เซ็นต์

หากพิจารณาฐานรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่ากลุ่มคนที่เข้ามาทำโพลมากที่สุด คือ ผู้ที่มีรายได้ 50,001 บาทขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 25.63 เปอร์เซ็นต์ รองลงมา คือ กลุ่มผู้มีรายได้ 30,001-50,000 บาท จำนวน 20.30 เปอร์เซ็นต์ (จึงอาจอนุมานได้ว่า ผู้เข้ามาตอบแบบสอบถามเกือบครึ่ง คือ กลุ่มคนชั้นกลางระดับกลางถึงระดับสูงขึ้นไป)

เมื่อนำคะแนนนิยมของแคนดิเดตนายกฯ ไปประกบข้อมูลเรื่องพื้นที่

พบว่า พิธามีคะแนนนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งใน กทม. (ร้อยละ 28.48) และต่างจังหวัด (ร้อยละ 30.33) ส่วนแพทองธารมีคะแนนตามมาเป็นอันดับสองในทั้งสองพื้นที่ (กทม. ร้อยละ 20.01 ต่างจังหวัด ร้อยละ 26.38)

จะมีพลิกผันหน่อย ตรงแคนดิเดตนายกฯ อันดับสามและสี่ ซึ่งเศรษฐาที่เป็นอันดับสามในตารางรวม มีคะแนนเป็นอันดับสี่ในกรุงเทพฯ (ร้อยละ 16.10) และเป็นอันดับสามในต่างจังหวัด (ร้อยละ 17.27)

ส่วนอันดับสี่ในตารางรวม เช่น พล.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนในกรุงเทพฯ มากกว่าเศรษฐา (ร้อยละ 18.04) แต่มีคะแนนในต่างจังหวัดแค่ร้อยละ 9.49 (หมายความว่า สำหรับการแข่งขันในพื้นที่ กทม. ขั้วพรรคฝ่ายค้านเดิมอาจประมาท “ลุงตู่” และรวมไทยสร้างชาติไม่ได้)

เมื่อมองไปที่คะแนนนิยมพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล และรวมไทยสร้างชาติ ต่างยึดตำแหน่งอันดับ 1-2-3 ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ทว่า มีรายละเอียดบางอย่างน่าสนใจ กล่าวคือ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนนิยมในกรุงเทพฯ 35.14 เปอร์เซ็นต์ ต่างจังหวัด 42.55 เปอร์เซ็นต์ พูดได้ว่าฐานคะแนนของเพื่อไทยนั้นเทน้ำหนักไปอยู่ที่ต่างจังหวัด

ส่วนพรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมใน กทม. 31.42 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับคะแนน 33.30 เปอร์เซ็นต์ ในต่างจังหวัด

ทางด้านพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้คะแนนนิยมใน กทม. 17.15 เปอร์เซ็นต์ ต่างจังหวัด 8.64 เปอร์เซ็นต์ หรือมีฐานคะแนนที่เทน้ำหนักมาทางเมืองหลวงมากกว่า

เมื่อจำแนกข้อมูลตามพื้นที่ภูมิภาค

ในส่วนแคนดิเดตนายกฯ พิธามีคะแนนนำในพื้นที่ภาคกลาง (รวม กทม.) ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้ ส่วนแพทองธารมีคะแนนนำในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน

ส่วนเศรษฐามีคะแนนเป็นอันดับสามในทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่คะแนน พล.อ.ประยุทธ์ แซงขึ้นมาเป็นอันดับสาม

ในส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมือง เพื่อไทยนำเป็นอันดับหนึ่ง ในภาคกลาง เหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก ยกเว้นภาคใต้ ที่ก้าวไกลได้อันดับหนึ่ง แม้จะเป็นอันดับสองในภาคอื่นๆ

(หลายคนอาจไม่มั่นใจกับตัวเลขผลโพลในส่วนภาคใต้ของ “มติชน x เดลินิวส์” แต่อย่างน้อยๆ สถิติดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้ว่า สำหรับคนใต้ที่อยากเลือกอะไรใหม่ๆ ดูเหมือนคะแนนนิยมของ “พิธา-ก้าวไกล” จะยังดีกว่า “แพทองธาร-เศรษฐา-เพื่อไทย”)

ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติยึดอันดับสามทุกภาค ยกเว้นภาคอีสาน ที่พรรคภูมิใจไทยแทรกขึ้นมาเป็นอันดับสามแทน

 

ท้ายสุด ยังมีข้อมูลทางด้านเพศสภาพและเจเนอเรชั่นที่น่าสนใจ

หากแบ่งผู้ตอบแบบสอบถามออกเป็นเพศชาย เพศหญิง และไม่ระบุเพศ คะแนนนิยมของพิธา ในฐานะแคนดิเดตผู้นำประเทศจะนำเป็นอันดับหนึ่งในทุกกลุ่ม

ในส่วนคะแนนนิยมพรรคการเมือง เพื่อไทยจะเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มผู้ตอบโพลเพศชาย แต่ก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มเพศหญิงและไม่ระบุเพศ

(จะเห็นได้ว่าทั้งก้าวไกลและเพื่อไทยต่างพยายามหนุนเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศเหมือนๆ กัน แต่ก้าวไกลได้คะแนนจากกลุ่มไม่ระบุเพศมากถึง 44.65 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เพื่อไทยได้คะแนนจากคนกลุ่มนี้ 27.65 เปอร์เซ็นต์)

ถ้าพิจารณาในกรอบเรื่องช่วงอายุ แคนดิเดตนายกฯ อย่างพิธา มีคะแนนนำในกลุ่ม “เจนแซด” (18-25 ปี) และ “เจนวาย” (26-41 ปี) แพทองธารมีคะแนนนำในกลุ่ม “เจนเอ็กซ์” (42-57 ปี) และ “เบบี้บูมเมอร์” (58-76 ปี) ส่วน พอ.อ.ประยุทธ์ มีคะแนนนำในกลุ่ม “ไซเลนต์เจน” (77 ปีขึ้นไป)

คล้ายคลึงกันกับคะแนนนิยมพรรค ที่ก้าวไกลมีคะแนนนำในกลุ่มสองเจนที่อายุน้อยสุด เพื่อไทยมีคะแนนนำในสามเจนที่มีอายุมากขึ้น

อย่างไรก็ดี รวมไทยสร้างชาตินั้นมีคะแนนสูงกว่าก้าวไกล ในกลุ่มคนรุ่นอายุ 58 ปีขึ้นไป •

 

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน