นัยยะทางการเมืองจาก ‘โพลเลือกตั้ง’ | ปราปต์ บุนปาน

หนึ่งเดือนกว่าๆ ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เริ่มเผยแพร่สู่สาธารณชน ก็คือ ผลโพลของสถาบันวิชาการและสำนักข่าวต่างๆ ที่สำรวจคะแนนนิยมของพรรคการเมืองและผู้นำทางการเมือง

โพลเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นถึงนัยยะ แนวโน้ม ความเป็นไปได้ที่น่าสนใจหลายประการ

ถ้าถามว่าสังคมพอจะมองเห็นอะไรจาก “ผลโพลเลือกตั้ง” ที่ปรากฏออกมาบ้าง?

ประการแรก เราได้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยยังมีคะแนนความนิยมสูงที่สุด และยังนำหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ อยู่เยอะและชัดเจนจริงๆ

แม้หลายคนอาจจะทราบเรื่องนี้อยู่แล้วโดยไม่ต้องพึ่งพาผลโพล ทว่า โพลต่างๆ ก็ได้ช่วยเน้นย้ำให้ “ความเป็นจริงทางการเมือง” ข้อนี้มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น

ประการที่สอง ผลลัพธ์ของแทบทุกโพลบ่งบอกคล้ายคลึงกันด้วยว่า พรรคก้าวไกลมีคะแนนนิยมรวมๆ ตามมาเป็นอันดับสอง

อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบการเลือกตั้งปี 2566 ที่แตกต่างจากปี 2562 โดยมีการเพิ่ม ส.ส.เขตให้เยอะขึ้น ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อลง ไม่ได้นำ “คะแนนตกน้ำ” ในเขตเลือกตั้งต่างๆ มาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่ม ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้กับพรรคการเมืองที่ไม่ได้มี ส.ส.เขต มากมายนัก

ก็ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่าจำนวน ส.ส.จริงๆ ของก้าวไกลในปี 2566 อาจมีความหวือหวาน่าตื่นเต้นน้อยกว่าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ปรากฏในโพล หรือผลเลือกตั้งเมื่อสี่ปีที่แล้ว

ประการที่สาม ไม่ว่าผลสำรวจของโพลไหนๆ ก็ยืนยันตรงกันว่า พรรครวมไทยสร้างชาติมีคะแนนเป็นกอบเป็นกำจับต้องได้จริงๆ

เท่ากับว่าพรรคการเมืองนี้และตัวบุคคลอย่าง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังคงเป็น “ทางเลือกอันดับแรกสุด” ของโหวตเตอร์ฝ่ายอนุรักษนิยมในสังคมไทยร่วมสมัย

 

คําถามชุดต่อมาที่น่าสนใจ ก็คือ ยังมีอะไรที่เรามองไม่เห็นหรือเห็นไม่ชัดเจนนัก จากผลโพลเลือกตั้งต่างๆ ที่กำลังเผยแพร่อยู่ในปัจจุบัน

ประการแรก ผลโพลนั้นบ่งบอกถึงกระแสความนิยมกว้างๆ แต่อาจไม่ได้นำเสนอครอบคลุมไปถึงบริบทของการแข่งขันด้านอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการกำหนดผลคะแนนเลือกตั้งเช่นกัน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหว-การปรับประสานต่อรองระหว่างชาวบ้านกับนักการเมืองในพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

บริบทส่วนนี้ที่หายไปจากผลโพล ก็สะท้อนไปยังคะแนนในโพลที่หายไปของพรรคการเมืองบางพรรค เช่น ภูมิใจไทย และพลังประชารัฐ

สวนทางกับการรับรู้ทางการเมืองในโลกความเป็นจริงที่ว่า อย่างไรเสีย พรรคการเมืองเหล่านี้ก็จะได้ ส.ส.จำนวนมากพอสมควร ภายหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม

 

ประการต่อมา ถ้าใครตามผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” มาสักระยะ ก็จะพอเห็น “ช่องว่าง-ปริศนา” หนึ่งที่ปรากฏขึ้น

เริ่มจากโพลหัวข้อ “คนสงขลาเลือกพรรคไหน” ซึ่งผลโพลระบุว่า คนสงขลาจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์เป็นอันดับหนึ่ง เพื่อไทยตามมาเป็นอันดับสอง และรวมไทยสร้างชาติอยู่อันดับสาม

แต่เมื่อถามถึงบุคคลที่คนสงขลาจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์ (รวมไทยสร้างชาติ) กลับพุ่งขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง “แพทองธาร ชินวัตร” (เพื่อไทย) อยู่อันดับสอง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” (ก้าวไกล) เป็นอันดับสาม ส่วน “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” (ประชาธิปัตย์) หล่นลงไปอันดับหก

ความไม่สอดคล้องต้องตรงกันระหว่างแนวทางการเลือกพรรคการเมืองกับแนวทางการสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อาจหมายความว่า เมื่อถึงวันเลือกตั้งจริงๆ ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่คนสงขลาซึ่งตั้งใจจะกากบาทให้พรรคประชาธิปัตย์ อาจเปลี่ยนใจไปเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติ ใช่หรือไม่?

เช่นเดียวกับโพลหัวข้อ “คน กทม.เลือกพรรคไหน” ซึ่งประมวลผลลัพธ์ออกมาว่า คนกรุงเทพฯ จะเลือก ส.ส.แบบแข่งเขตและบัญชีรายชื่อจากเพื่อไทยเป็นอันดับหนึ่ง ก้าวไกลเป็นอันดับสอง (ระยะห่างราว 6-7 เปอร์เซ็นต์)

แต่เมื่อถามว่าใครคือบุคคลที่คน กทม.จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯ พิธา (ก้าวไกล) กลับมีคะแนนนำเป็นอันดับแรก โดยแพทองธาร (เพื่อไทย) ตามมาอันดับสอง (ห่างกันไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์)

 

ผลโพลจากสงขลาถึงกรุงเทพฯ บอกเราว่า กระบวนการให้คำตอบต่อคำถามเรื่องตัวเลือกนายกรัฐมนตรี (ที่ไม่ถูกถามไว้ในบัตรเลือกตั้ง) และกระบวนการให้คำตอบต่อคำถามว่าประชาชนจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคการเมืองใด นั้นอาจวางพื้นฐานอยู่บนตรรกะ-การประเมินคุณค่าคนละชุดกัน

และไม่แน่ใจว่า “ความแตกต่าง-ช่องว่าง” เช่นนี้ จะส่งผลกระทบอย่างไร แค่ไหน ต่อกระบวนการตัดสินใจและพฤติกรรมทางการเมืองของโหวตเตอร์หลายสิบล้านคนในวันที่ 14 พฤษภาคม

ทั้งหมดนี้คือความชัดเจนและความพร่าเลือน-ไม่แน่นอนบางอย่างที่เราเริ่มสัมผัสได้จาก “ผลโพลเลือกตั้ง” •