‘นักอุดมคติ’ กับ ‘นักยุทธวิธี’ | ธงชัย วินิจจะกูล

สัปดาห์ก่อน มีโอกาสนั่งชม “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” นักคิด-นักวิชาการอาวุโส พูดคุยกับ “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์” ในหัวข้อ “นักเคลื่อนไหว อดีต ปัจจุบัน อนาคต…” ผ่านทางช่องยูทูบ Jomquan

หนึ่งในประเด็นสนทนาน่าสนใจ ก็คือ กรณีที่ “คนฝ่ายประชาธิปไตย” มีวิวาทะกันในกรณีแนวทางการต่อสู้ของ “ตะวันและแบม” ซึ่งอาจารย์ธงชัยมองว่า ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นคนสองกลุ่ม

กลุ่มแรก คือ “นักยุทธวิธีทางการเมือง” ที่มักใส่ใจว่าแนวทางการเคลื่อนไหวลำดับถัดไปคืออะไร? หรือขบวนการจะมีทางลงหรือไม่?

คนกลุ่มถัดมา คือ “นักอุดมคติทางการเมือง” ที่อาจไม่ได้แคร์เรื่องยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี หรือความสำเร็จเฉพาะหน้า มากมายนัก แต่มักครุ่นคิดถึงเรื่องหลักการ ภาพใหญ่ คิดยาวคิดไกลว่าสิ่งที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร

ความแตกต่างข้างต้น ส่งผลให้บรรดา “นักยุทธวิธี” มักประเมินว่า “นักอุดมคติ” ไร้ยุทธศาสตร์และไร้เดียงสาจนเกินไป

ขณะที่ “นักอุดมคติ” ก็สามารถจะเถียง “นักยุทธวิธี” กลับได้เช่นกันว่า พวกคุณรู้เดียงสา แต่มักไร้หลักการ

 

นักวิชาการผู้นี้ไม่ปฏิเสธว่าจากจุดยืนส่วนตัว เขานั้นเลือกจะต่อสู้อยู่ในฟากฝั่งของการเป็น “นักอุดมคติ”

“สมัยรัฐบาลทักษิณ ผมก็เคยออกเสียงประท้วง ถูกเพื่อนผมที่เดี๋ยวนี้ก็คบหากันดีกินข้าวกันได้ บอกว่าไอ้ธง เอ็งไม่รู้ ‘ข้อเท็จจริง’

“เขาคงไม่รู้หรอกว่าในวงวิชาการ เรามีคำพูดอันหนึ่งสำหรับนักวิชาการหลายคน บอกว่า ‘หูย โชคดีจังเลย ที่เราไม่รู้ข้อเท็จจริง’ ในความหมายว่า รายละเอียดทั้งหลายบางอย่างมันเป็นข้อแก้ตัว ขณะที่เรายืนบนหลักการ เรายืนบนภาพใหญ่ แล้วถ้าหากเราไปแคร์ข้อเท็จจริงเหล่านั้นหมด อย่างพวกเขา เราก็จะลืมหลักการ เราก็จะลืมภาพใหญ่”

อาจารย์ธงชัยยืนยันหลักการของตนเอง พร้อมทั้งอธิบายถึงอันตรายของการให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีจนมากล้นเกินไปว่า

“ตกลงประเทศเราจะอยู่ด้วยอย่างนี้ใช่ไหม? อยู่ด้วยความกลัว อยู่ด้วยความเข้าใจอย่างดีถึงยุทธวิธี ต้องไม่ไร้เดียงสา จนไม่เหลือหลักการกันเลย จนไม่เหลือหลักวิชาชีพกันเลย ตกลงเรารักประเทศไทยจริงหรือเปล่า? คนที่คิดแบบนี้ ถ้ามันมีมากเกินไป จนกระทั่งทิ้งหลักการหมด ประเทศพินาศนะ”

 

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ อาจารย์ธงชัยเล่าให้จอมขวัญฟังว่า ประวัติศาสตร์ทั่วทั้งโลกสามารถเคลื่อนไปได้ ทั้งเพราะนักอุดมคติและนักยุทธวิธี

โดยความจำเป็นในการดำรงอยู่ของบุคคลสองกลุ่ม ได้รับการยืนยันด้วย “ตลกร้ายทางประวัติศาสตร์” บางอย่าง

“บ่อยครั้ง หลักการ ความคิด ที่มันอาจจะยากหน่อย ถ้ามันไม่มีที่ทาง ไม่มีเป็นธง ไม่มีฉายภาพเป็นเป้าหมายให้คนได้เห็น ว่าสิ่งที่ควรจะเป็นมันคืออะไร สังคมนั้นไม่เดินไปโดยมีทิศทางมีเป้าหมาย แต่ถ้าขืนคุณเอาคนประเภทนี้ (นักอุดมคติ) ไปนำการต่อสู้ เจ๊งทุกราย…

“ผมก็บอกได้แค่นี้ ขืนทุกวันนี้ ผมออกไปนำการต่อสู้ เจ๊งแน่ๆ ถ้าหากไม่มีคนอย่างณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) จตุพร (พรหมพันธุ์) ก็เจ๊งไปอีกแบบ

“แต่ถ้าหากมีแต่คนอย่างเขาหมด ผมไม่รู้จะพยายามต่อสู้ไปเพื่ออะไร? มันก็มีคนหลายแบบ คนเหล่านั้น คุณห้ามไม่ได้เรื่องเขาจะทะเลาะกัน เพราะแต่ละคนก็มักยึดถือว่าตัวเองถูก…

“สังคมจะโตได้ คุณต้องเปิดช่องทางให้มีคนเหล่านั้น สารพัดประเภท ถกเถียงทะเลาะกัน จะส้มจะแดงไม่ต้องไปห้ามเขาหรอก”

ดังนั้น สภาวะพึงปรารถนาของสังคมแบบเสรีนิยมในทัศนะ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” จึงได้แก่ การให้โอกาสและเปิดที่ทางให้ทั้ง “นักยุทธวิธี” และ “นักอุดมคติ” ได้มาแลกเปลี่ยนโต้เถียงกัน

ว่าสถานการณ์แบบไหนควรยึดยุทธวิธี และสถานการณ์แบบใดควรยึดหลักการเป็นธงนำของการเคลื่อนไหว •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน