คนรุ่นใหม่อย่าง ‘ตะวัน’ และ ‘แบม’ | ปราปต์ บุนปาน

ความจริงข้อหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยาก ก็คือ เวลาให้คนวัย 40-50-60 ปี หรือมากกว่านั้น พูดหรือนึกถึง “คนรุ่นใหม่ๆ”

กระบวนการที่เกิดขึ้นและดำเนินไปมักไม่ง่ายและสะดวกใจนักหรอก

แม้ปากของ “ผู้ใหญ่” อาจจะพร่ำพูดไปได้เรื่อยเจื้อยว่า “คนรุ่นใหม่” คือ อนาคต คือ วันพรุ่งนี้ เป็นความหวังของวันข้างหน้า เป็นพลังงานแห่งความกระตือรือร้น ที่จะผลักดันโลกและเปลี่ยนแปลงสังคมให้เคลื่อนหน้าไปอย่างไม่มีหยุดยั้ง ฯลฯ

แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ คุณลุงคุณป้า คุณน้าคุณอา หรือคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย ต้องมาดีลกับคนรุ่นลูกๆ หลานๆ กันจริงๆ ณ ปัจจุบันขณะ

ทุกคนก็ย่อมรู้และตระหนักดีว่า อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ระหว่าง “คนรุ่นพวกคุณ” กับ “คนรุ่นพวกเขา” ไม่ได้ปรับประสานเข้าหากันอย่างราบรื่นลงรอยเหมือนในความคิดและจินตนาการ

เพราะวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ ความคาดหวัง ของคนต่างรุ่นนั้นผิดแผกจากกันเยอะ ตามช่องว่างระหว่างวัยที่ห่างออกจากกัน ทั้งยังถูกกระตุ้นเร้าด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร-การเข้าถึงข้อมูลความรู้ในโลกยุคใหม่ที่รุดหน้า รวดเร็ว กว้างไกลมากขึ้น

ยังไม่ต้องถกเถียงกันในประเด็นเคร่งเครียด เพราะเอาแค่เรื่องวัฒนธรรมดูหนัง-ฟังเพลง คนรุ่นที่เกิดหลังปี 2000 ก็ดูจะมีรสนิยมและวิถีการเสพความบันเทิงที่แตกต่างไปจากคนรุ่น 60-70-80-90 (ที่ยังพอมีจุดเชื่อมต่อกันได้อยู่) โดยชัดเจน

แม้แต่วิถีการบริโภคอาหารที่หลายคนเชื่อว่าเป็น “เรื่องสากล” ก็มีความต่างกันอยู่พอสมควร เพราะอาหารบางประเภทที่ผู้ใหญ่คิดว่ากินง่าย กินอร่อย กินสะดวก ก็อาจเป็นอาหารที่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยนิยมกินกันแล้ว

ยิ่งเมื่อพิจารณาไปยังเรื่องการใช้ชีวิตและการทำงาน เราก็ยิ่งพบความแตกต่าง ดังที่หน่วยงานเอกชนจำนวนมากน่าจะกำลังต้องเผชิญหน้ากับข้อเรียกร้องของพนักงานรุ่นใหม่หลังยุคโควิด ที่ขอให้บริษัทมีนโยบายเวิร์กฟรอมโฮมอย่างเป็นทางการ และปรับเปลี่ยนเวลาเข้าออฟฟิศให้เหลือเพียงแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ โดยวัดความสำเร็จของการปฏิบัติงานที่ประสิทธิผลเป็นหลัก

แน่นอน หน่วยงานใหม่ๆ ที่ก่อร่างสร้างตัวจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ล้วนๆ น่าจะปรับตัวกับข้อเรียกร้องนี้ได้ไม่ยาก ผิดกับหน่วยงานรุ่นเก่า ที่ยังมีวิธีการทำงานแบบเดิม และมีคนวัยกลางคน-สูงอายุอยู่มากพอสมควร ซึ่งคงปรับตัวกับข้อเสนอเดียวกันได้ไม่ง่ายนัก

 

ประเด็น “คนรุ่นใหม่กับการเมือง” ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พูดคุยเจรจากันได้ยากลำบาก

ลำพังแค่การวิเคราะห์กันเรื่อง “นิวโหวตเตอร์” กับการเลือกตั้งกันแบบรวมๆ หลวมๆ ผิวเผิน อาจฟังดูไม่มีข้อติดขัดมากมาย

ทว่า หากมองลึกลงไป เราก็จะพบสภาพความเป็นจริงที่ซับซ้อนหลากหลายกว่านั้น

เช่น ในฐานะคนวัย 40 ขึ้นไปที่มองสถานการณ์อยู่ห่างๆ เราอาจไม่แน่ใจกันด้วยซ้ำว่า ระหว่าง “คนรุ่นใหม่” ที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองบนท้องถนนในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ใหญ่บางส่วนมองว่าพวกเขาและเธอดู “แรง” และ “ไปไกลมาก” กับ “วัยรุ่นผู้หญิง” จำนวนไม่น้อย ที่รวมกลุ่มกันเป็น “แฟนด้อม” ตามติดนักการเมืองหญิงบางรายคล้ายวัฒนธรรมตามซุป’ตาร์

คนสองกลุ่มนี้มีความเกี่ยวข้อง, แตกต่าง และทับซ้อน กันอย่างไรบ้าง?

แต่แน่นอนว่าในความรู้สึกของ “คนมีอายุ” ส่วนมาก (แม้แต่ที่เป็น “ฝ่ายนิยมประชาธิปไตย”) ก็มีแนวโน้มที่จะมอง “เด็กกลุ่มแรก” เป็นพวกควบคุมยาก คุยไม่ง่าย หัวรุนแรง ผิดกับ “เด็กกลุ่มหลัง” ที่ดูน่ารัก สดใส คึกคัก มีพิษภัยน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเครื่องมือที่บ่งชี้ชัดว่า “คนรุ่นใหม่” แบบไหนที่จะมีพลานุภาพทางการเมือง หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยได้มากกว่ากัน

กล่าวสำหรับ “คนรุ่นใหม่กลุ่มแรก” ประเด็นที่ร้อนแรง ณ ขณะนี้ ก็คือการที่ “ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์” และ “แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์” สองนักกิจกรรมรุ่นใหม่และผู้ต้องหาคดี ม.112 ตัดสินใจถอนประกันตัวเอง, ยื่นสามข้อเรียกร้องแก่กระบวนการยุติธรรมและพรรคการเมืองทุกพรรค

รวมทั้งยืนกรานประท้วงอดน้ำ-อาหาร จนกว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดจะได้รับการยอมรับ

กรณีของ “ตะวันกับแบม” ก็คงไม่ต่างอะไรกับอีกหลากหลายประเด็นที่ “ผู้ใหญ่” และ “คนรุ่นใหม่” ในโลกและสังคมนี้ มองเห็นไม่ตรงกัน

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ที่ข้อเรียกร้อง วิธีการสื่อสาร และแนวทางการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ทั้งคู่ จะทำให้ผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย (ทั้งที่มีอำนาจและไม่มีอำนาจ ทั้งที่อยู่ฝ่ายเผด็จการและประชาธิปไตย) มีความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ

อย่างไรก็ดี มีบางสิ่งที่พึงขบคิดต่อจากความขัดแย้งหรือช่องว่างระหว่างวัยที่บังเกิดขึ้น

ข้อแรก เราควรรับฟังพวกเธอหรือไม่ ว่าโลกและความคาดหวังของคนรุ่นหลังบางส่วนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

ข้อนี้ หลายฝ่ายน่าจะยอมรับร่วมกันได้ว่า ควรรับฟัง

ข้อสอง ภาวะที่คนรุ่นใหม่คู่นี้และเพื่อนๆ ของเธอพยายามส่องสะท้อนออกมา มันแสดงให้ถึงความผิดปกติบางประการในสังคมการเมืองไทยหรือไม่?

ข้อนี้ กระทั่งผู้ใหญ่ “ที่มีสติ” บางคน ก็น่าจะรับรู้ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมหลายเรื่องในบ้านเมืองนี้ นั้นผิดเพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากบรรทัดฐานที่ควรเป็นอยู่จริงๆ

ข้อสาม หลายคนตั้งข้อแม้ว่า ข้อเรียกร้องสุดท้ายของ “ตะวันกับแบม” ซึ่งระบุว่า “พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการยกเลิก ม.112 และ ม.116” ยังต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองกันอีกเยอะ ในโลกความจริงของสังคมการเมืองไทย

แต่ไม่มีเหตุผลอะไรที่ทุกพรรคการเมืองจะไม่รับเรื่องและผลักดันให้นำข้อเรียกร้องนี้ไปพิจารณา อภิปราย ถกเถียงกันในสภา

ทั้งยังหลีกเลี่ยงได้ยากที่ทุกพรรคจะไม่แสดงจุดยืนแบบใดแบบหนึ่งต่อข้อเรียกร้องทางการเมืองทำนองนี้ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น

และไม่มีเหตุผลอะไรเลย ที่ผู้ใหญ่ในสังคมจะเพิกเฉย ไม่ไยดี ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับความทุกข์ความวิตกกังวลของคนรุ่นหลัง หรือรีบจะตัดรอนทันทีว่าสิ่งที่พวกเธอเสนอมานั้นฟังไม่ขึ้น ทำไม่ได้ และขัดฝืนความจริงอย่างสิ้นเชิง

ส่วนผู้ใหญ่ที่พยายามแสดงท่าที “สั่งสอนอบรม” ว่า “เด็ก” ควรทำอย่างโน้นอย่างนี้ ก็คงต้องยอมรับว่า เมื่อสังคมเคลื่อนมาถึงจุดนี้ ความขัดแย้ง-แตกต่าง-รอยปริร้าวดำเนินมาถึงจุดนี้

“น้องๆ ลูกๆ หลานๆ” เขาก็คงไม่เชื่อฟังคำสอนของพวกคุณแล้วแหละ •