ฐากูร บุนปาน : วันที่สนามรบเปลี่ยน

สองสามวันก่อน มิตรสหายในสันนิบาตเทศบาลชวนไปตั้งวงคุยเรื่องโลกและธุรกิจที่เปลี่ยนไป

ก็เลยต้องทำการบ้านเตรียมตัวไปบ้างเล็กน้อย

กันเชย

ทีนี้พอทำข้อมูลแล้วก็เกิดเสียดาย

ขออนุญาตเอามาฉายซ้ำในพื้นที่ตรงนี้ก็แล้วกัน

ข้อมูลบางส่วนนั้น เคยฉายไปแล้ว

ท่านไหนที่เบื่อหนังเก่าก็ข้ามไปอ่านส่วนใหม่เถิด

หัวข้อการสนทนาก็คือ “วันที่สนามรบเปลี่ยน”

1. ทำไมเราต้องเปลี่ยน

ก็เพราะโลกเปลี่ยนครับ

ในปี 1995 คนที่เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตในโลกมีแค่ร้อยละ 1

แต่แค่ 10 ปีต่อมา คือปี 2005 คน 1,000 ล้านในโลกเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตไปแล้ว

ปี 2010 เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านคน

ปี 2014 เพิ่มขึ้นเป็น 3,000 ล้านคน

ถึงเมื่อวานนี้ จำนวนผู้เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในโลกเฉียด 3,800 ล้านคน

หรือเกือบครึ่งของประชากรโลกไปแล้ว

ไม่ใช่แค่เพิ่มขึ้นเฉพาะ “จำนวนคน”

“จำนวนชั่วโมง” ที่ใช้กับอินเตอร์เน็ตก็เพิ่มขึ้น

จาก 10 ชั่วโมงครึ่ง/สัปดาห์ในปี 2005

คนทั่วโลกใช้เวลากับอินเตอร์เน็ตเฉลี่ย 27 ชั่วโมงครึ่ง/สัปดาห์ในปี 2014

หรือเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน

ลองสังเกตตัวท่านเองดูครับ

2.เปลี่ยนขนาดไหน

คนเราใช้งานอินเตอร์เน็ตสารพัดอย่าง

ติดต่อสื่อสาร ค้นหาข่าวสารข้อมูล เพื่อความบันเทิง ค้าขาย

ขออนุญาตเฉพาะในส่วนที่ถนัดคือเรื่องข่าว

ในปี 2015 คนอเมริกันรับข่าวจากโทรทัศน์ร้อยละ 57

จากสื่อดิจิตอลร้อยละ 38

จากวิทยุร้อยละ 25

และจากหนังสือพิมพ์ร้อยละ 20

เงินที่ใช้จ่ายในธุรกิจโฆษณาก็เปลี่ยนตาม

ปี 2015 ธุรกิจอเมริกันใช้เงินเป็นค่าโฆษณาประมาณ 180,000 ล้านเหรียญ

ในจำนวนนี้ประมาณ 60,000 ล้านหรือร้อยละ 33 เป็นโฆษณาผ่านสื่อดิจิตอล

ครึ่งหนึ่งในนี้หรือประมาณ 30,000 ล้านเหรียญเป็นโฆษณาผ่านโทรศัพท์มือถือ

ไม่น่าแปลกใจนะครับ

ทุกวันนี้มือถือทั่วโลกขายได้เฉลี่ยวันละประมาณ 2.5 ล้านเครื่อง

ขณะที่คอมพิวเตอร์กับแท็บเล็ตขายได้รวมกันประมาณ 600,000 เครื่อง/วัน

ในไทยเองก็เปลี่ยน

10 ปีที่แล้ว ยอดขายหนังสือพิมพ์ทุกฉบับรวมกันประมาณ 2.2 ล้านฉบับ

มาถึงนาทีนี้ ถึง 1.2 ล้านฉบับหรือเปล่ายังไม่แน่

แต่เหมือนกันทั้งโลก

คนอ่านหนังสือลดลง แต่ไม่ได้บริโภคสื่อลดลง

ตรงกันข้าม เยอะขึ้น

ในเว็บไซต์สื่อ 10 อันดับแรกของเมืองไทย มีคนอ่านแต่ละวันรวมกันไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน

ในจำนวนนี้ 7 เว็บของเครือมติชน-ข่าวสด-ประชาชาติธุรกิจ และนิตยสารอีก 4 ฉบับก็ 1.8-2 ล้านคนแล้วครับ

3.ที่เปลี่ยนยิ่งกว่านั้น

ก็คือคนใช้อินเตอร์เน็ตในโลกนี้ ดูมากกว่าอ่าน

สถิติของกูเกิลเมื่อกลางปี 2016 บอกว่า จำนวนผู้ดูกับผู้อ่านบนอินเตอร์เน็ตนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 58 ต่อ 42

เฟซบุ๊กประมาณการเอาไว้ว่าถึงสิ้นปีนี้ ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะเป็นผู้ดูมากกว่าผู้อ่าน

ในอัตราร้อยละ 75 ต่อ 25 หรือ 3:1

เผงเลย

จากสถิติเปรียบเทียบของเว็บ/เพจมติชน-ข่าวสดเอง

ตัวเลขผู้ชมไลฟ์-วิดีโออยู่ที่ประมาณ 5.5-6 ล้านคนต่อวัน

เทียบกับจำนวนผู้อ่านที่อยู่ประมาณ 1.8-2 ล้านคนต่อวัน

อัตราก็ 3:1 อย่างที่ว่า

สถิติพวกนี้นำไปสู่อะไร

4.ตัวเลขบอกเราว่าสนามรบเปลี่ยน

เพราะฉะนั้น กองทัพก็ต้องเปลี่ยน

หมดยุคกองทัพอะนาล็อกที่จะควงดาบสองมือ สวมประเจียด ผูกผ้ายันต์ ออกไปรบตะลุมบอนกับข้าศึกแล้ว

เชื่อว่าหลายท่านคงได้ยินข่าวเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเครือมติชนมาบ้าง

ขออนุญาตสรุปซ้ำสั้นๆ อีกทีว่า

เราเลิกกิจการการพิมพ์และการจัดส่งเอง

ยังขายหนังสือพิมพ์อยู่

แต่จ้างท่านอื่นผลิตและจัดส่ง

เพื่ออะไร

เพื่อจะเอาเวลาและทรัพยากรมาทำในเรื่องที่เป็นจุดแข็ง

หรือทำตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและตลาด

อะไรบ้าง

– ธุรกิจดิจิตอลทั้งหมดต้องเร่ง

เป็นที่ 1 ในตลาดวันนี้ ไม่ได้รับประกันว่าพรุ่งนี้ยังจะเป็นที่ 1 อยู่

– หนังสือพิมพ์/นิตยสารยังต้องประคอง

เพราะท่านผู้อ่านที่เป็นลูกค้าหลัก อันได้แก่ผู้อาวุโสทั้งหลายคือผู้มีอำนาจตัดสินใจซื้อ/ลงโฆษณา

– ต่อยอดธุรกิจจากพื้นฐานเดิม

อาทิ การจัดเสวนา สัมมนา การเป็นออร์แกไนเซอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับความถนัดที่สั่งสมมา เช่น งานยางบึงกาฬ งานเฮลท์แคร์ งานเกษตร งานเอสเอ็มอี

จะเชื่อมโลกออนไลน์ที่ฐานลูกค้ากว้างขวาง เข้ากับธุรกิจออฟไลน์ดั้งเดิมได้อย่างไร

– ปรับตัวสู่ธุรกิจฐานข้อมูล

1. ธุรกิจข้อมูลข่าวสารดั้งเดิม ก็ต้องได้รับการพัฒนา ให้มีคุณภาพ-ความลึกเพิ่มขึ้น

2. โลกดิจิตอลคือการที่เรา “รู้จักลูกค้า” มากขึ้น

จะใช้ประโยชน์จากการรู้จักมากขึ้นนี้ไปต่อยอดอย่างไร

คร่าวๆ ก็อะไรประมาณนี้ละครับ

ถ้าลงรายละเอียดอาจจะต้องว่ากันอีกยาว

ท่านไหนสนใจ หลังไมค์ดีกว่า

ฮ่าฮ่าฮ่า