‘นักเลือกตั้ง’ ชื่อ ‘ประยุทธ์’

‘นักเลือกตั้ง’ ชื่อ ‘ประยุทธ์’

 

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็น “นักการเมือง” มา 8 ปี

แต่ก็เป็น “นักการเมือง” ที่กำเนิดจากกระบวนการรัฐประหาร เป็น “นักการเมือง” ที่พยายามแบ่งแยกตัวเองออกจาก “พรรคการเมือง” และ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”

อย่างไรก็ตาม ภายหลังขึ้นเวทีเปิดตัวเข้าร่วมทำงานการเมืองกับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แบบชัดเจน ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานภาพเป็น “นักเลือกตั้ง” อย่างเต็มตัวเรียบร้อยแล้ว (ไม่ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือไม่)

เพราะบรรดาคนที่อยู่เบื้องหลังนายกรัฐมนตรีบนเวทีในวันนั้น ล้วนแล้วแต่เป็น “นักเลือกตั้ง” ทั้งสิ้น

นี่คือรูปร่างหน้าตาของเครือข่ายอำนาจที่กล้าสนับสนุนหรือคลุกคลีใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ แบบเปิดหน้า ณ ปัจจุบัน ซึ่งมิได้เป็นกลุ่มก้อนเครือข่ายฝ่ายอนุรักษนิยมที่กว้างขวางหลากหลายดังเช่นเมื่อ 8 ปีก่อน

 

แม้จะเป็น “นักเลือกตั้งหน้าใหม่” แต่หากพิจารณาจากคำปราศรัยบนเวทีพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว เราก็ยังได้เห็น “พล.อ.ประยุทธ์ คนเดิม”

เป็น พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถ้ามีโอกาสได้พูด ก็จะพูดยาว พูดเยอะ แต่จับใจความหรือประเด็นหลักสำคัญได้ยากมาก

สำหรับนักพูดหรือบุคคลสาธารณะหลายราย “การพูดนอกสคริปต์” ต่อหน้าประชุมชนนั้น คือ การคิดนอกกรอบ การเผยให้เห็นจินตนาการกว้างไกล ซึ่งช่วยเปิดโลกและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ฟัง

แต่กรณีของนายกฯ “การพูดนอกสคริปต์” คือ การพาคนฟังเข้ารกเข้าพงซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยประเด็นที่ต้องการสื่อสารก็ไม่มีความคืบหน้า ไม่มีอะไรแปลกใหม่ แถมยังเล่นมุขกับกองเชียร์หน้าเวทีอยู่เป็นระยะๆ (ซึ่งไม่ได้สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ทุกคนด้วย)

ผู้ฟังจึงไม่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับชุดนโยบายหรือวิสัยทัศน์ใดๆ จากการปราศรัยเปิดตัวเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์

เอาเข้าจริง การเน้นย้ำอุดมการณ์ทางการเมืองชุดเดิมๆ อยู่ตลอดเวลานั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือยอมรับไม่ได้ เพียงแต่ผู้พูดต้องตระหนักว่าอุดมการณ์ชุดดังกล่าวมีพลังเหลือน้อยลงทุกที และชักจูงกล่อมเกลาจิตใจของผู้คนได้ไม่มากเหมือนเก่า (วัดได้จากจำนวน “คนไม่เชียร์ พล.อ.ประยุทธ์”)

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสามารถบริหารจัดสรรเวลาไปพูดเรื่องอะไรที่มีเนื้อหาสาระได้อีกเยอะแยะมากมาย

เช่น หากปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติมีภาพลักษณ์เป็น “พรรคคนแก่” (ซึ่งพยายามเรียกตัวเองว่า “รุ่นใหญ่”) ทางพรรคก็น่าจะนำเสนอชุดนโยบายที่พร้อมรับมือกับการเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ของประเทศไทย ทั้งในแง่การดูแลประชากรวัยชราจำนวนมาก (มีไม่น้อยที่เลือก “ลุงตู่”) รวมถึงแนวทางการกระตุ้นกำลังการผลิตและบริโภคในทางเศรษฐกิจที่จะลดต่ำลง

ทว่า เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่พยายามแตะต้อง “แก่นสาร” ใดๆ เลย

การเปิดตัวกับรวมไทยสร้างชาติจึงถูกมองว่าล้มเหลว แป้ก ไม่เปรี้ยง เหมือนที่นักวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองหลายราย พูดกันไปหมดแล้วในรายการข่าวทางโทรทัศน์และออนไลน์

 

การแข่งขัน (ไม่ว่าจะในทางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ) ในโลก สนาม หรือภูมิทัศน์ ซึ่งมีความเคลื่อนไหว-พลวัตอยู่ตลอดเวลานั้น มักวัดผลลัพธ์กันตรงที่ฝ่ายใดที่สามารถแสวงหาพื้นที่ใหม่ๆ โอกาสใหม่ๆ และผู้สนับสนุนกลุ่มใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ ย่อมเป็นผู้ชนะหรือผู้ได้เปรียบในเกม

แต่นั่นคล้ายจะไม่ใช่โจทย์ในการลงเลือกตั้งปี 2566 ของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรครวมไทยสร้างชาติ

เพราะเป้าหมายของนายกฯ และพรรคการเมืองใหม่ (ที่เต็มไปด้วยคนเก่าๆ) คือ การมุ่งตรึงพื้นที่เดิมๆ และผู้สนับสนุนกลุ่มเดิมๆ เอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (ในภาวะที่พื้นที่นั้นกำลังหดแคบลง และประชาชนกลุ่มนั้นกำลังอ่อนเรี่ยวแรงลงตามลำดับ)

จุดหมายปลายทางของ พล.อ.ประยุทธ์ และรวมไทยสร้างชาติ จึงไม่ใช่การชนะเลือกตั้ง แต่คือการได้ ส.ส. ให้ถึง 25 เสียง จนพอที่จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี แล้วจึงค่อยอาศัยกฎกติกาที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางปูทางเอาไว้ ตลอดจนโครงสร้างทางการเมือง-ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบไทยๆ มาหนุนเสริม

นี่คือการแข่งขันในสนามที่ผิดปกติ ขัดฝืนความเปลี่ยนแปลง และไม่แน่ใจว่าจะดำรงอยู่ไปได้อีกนานเท่าไหร่ และผลลงเอยสุดท้ายของการแตกหักผุพังจะเป็นเช่นไร

หลายเดือนนับจากนี้ เราคงจะได้เห็น “พรรคการเมือง-นักเลือกตั้ง” บางส่วน ที่มีสภาพเหมือนคนซึ่งย้อนนึกถึงแต่อดีตอยู่ตลอดเวลา พวกเขากำลังเดินหน้ากลับไปในวันวาน มิได้มุ่งสู่อนาคต

คนแบบนี้มีอยู่สองประเภท คือ หนึ่ง คนที่จวนจะหมดสิ้นอายุขัย และสอง คนที่ล้มเหลวในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน