ประชาธิปไตย, ความเปลี่ยนแปลง และเวลา ของ “ธงชัย วินิจจะกูล”

ในวาระขึ้นปีใหม่ 2566 ทำให้ย้อนนึกถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญ เคยกล่าวเอาไว้ ผ่านซีรีส์สัมภาษณ์พิเศษ “10 ปี มติชนทีวี 10 ปี การเมืองไทย” เมื่อเดือนตุลาคม 2565

คราวนั้น อาจารย์ธงชัยได้อธิบายและอุปมาเปรียบเทียบเรื่องประชาธิปไตยในฐานะกระบวนการ ตลอดจนประเด็นว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงในสังคม ไว้อย่างน่าสนใจชวนขบคิด

จึงขออนุญาตคัดลอกเนื้อหาดังกล่าวมานำเสนออีกครั้ง ณ พื้นที่คอลัมน์นี้

 

ประเด็นหลักที่นักประวัติศาสตร์ผู้นี้เน้นย้ำ ก็คือ “ประชาธิปไตย” ไม่ใช่ “คำตอบสำเร็จรูป” หากเป็น “กระบวนการที่ดีที่สุด” ที่เอื้ออำนวยต่อ “ความเปลี่ยนแปลง” ในสังคม

“ผมคิดว่าการเมืองต้องเปลี่ยน ขออธิบายตรงนี้นิดหนึ่ง ผมไม่คิดว่าการเมืองเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดอย่างที่บางคนพูดกัน ผมไม่เชื่อว่าอย่างนั้น ผมเชื่อว่าทุกระบบ ระบบการเมือง ระบบการศึกษา ระบบมหาวิทยาลัย ระบบยุติธรรม ระบบอะไรอีกว่ามาเถอะ มีปัญหาของมัน แล้วมันก็เกี่ยวพันด้วยนะ

“ถ้าผมเปรียบ ปัญหาต่างๆ เหมือนสายโซ่ที่คล้องห่วงต่างๆ เข้าด้วยกัน การจะปลดล็อกปัญหาสารพัด บอกการเมืองเป็นต้นตอ ผมไม่เชื่อ แต่ผมขอเปลี่ยนนิดหนึ่ง ผมเชื่อว่าการเมืองเป็นโซ่ห่วงที่มันจะเป็นเปลาะที่คลายเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาหมดนะ

“ฉะนั้น ความสำคัญของการเมืองในแง่นี้ ไม่ใช่เป็นต้นตอ แต่จะเป็นห่วงโซ่ที่ (ถ้า) เราตีให้ดี ตีให้แตก พยายามผลักดันรัฐสภา ผลักดันอำนาจของประชาชนที่ exercise (มีสิทธิ์มีเสียง) ได้เป็นปกติ มันจะช่วยให้อย่างอื่นค่อยๆ คลี่คลายตามไปด้วย แต่อย่างที่บอกว่าการต่อสู้ในระบบอื่นๆ มันก็ต้องเดินไปตามทางของมัน

“คุณมัวแต่คิดทุกอย่างไปที่การเมือง สุดท้ายก็จะผิดหวังอีก ดูตัวอย่าง 2475 มีอีกเยอะ ที่ (คณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง) 2475 ว่าท่านไม่ได้เลยนะ มันไม่มีปัญญาจะแก้ มันอีนุงตุงนัง แล้วความใหญ่โตของปัญหา ความใหญ่โตของมรดกจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันเกินกว่าที่คณะราษฎรจะรับมือไหว ใช่ไหมครับ

“คุณอาจจะตำหนิว่าไม่เข้าใจให้กระจ่างเสียก่อน ก็ตำหนิไปเถอะ การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายในโลกมันไม่เคยเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่สมบูรณ์ ผมก็บอกได้แต่เพียงว่า มาพูดกับคุณในวันนี้ หรือทำงานวิชาการมาหลายปี นี่ก็เพื่อที่จะอยากให้พวกเรามีฐานการเข้าใจปัญหาต่างๆ ดีขึ้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“แล้วเมื่อไหร่ที่เราผลักดันการเปลี่ยนแปลง คุณจะได้ไม่ผิดๆ พลาดๆ ซ้ำๆ หรือ (ผิดพลาด) ให้มันน้อยหน่อย แต่อย่างไรมันก็มีความผิด เราไม่มีทางแก้ปัญหาทุกอย่างได้หมดหรอก

“ประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปของอะไรทั้งสิ้น นอกจากอย่างเดียว เป็นคำตอบของกระบวนการที่พึงประสงค์ เพื่อให้การโต้แย้งถกเถียงมันต่อไปยาวๆ มันจึงไม่มีคำว่าสมบูรณ์ สังคมที่มีปลายทางมันถึงจะมีพลวัตไปเรื่อย

“สมัยหนึ่งเราคิดว่าฟ้าสีทองผ่องอำไพ ทำไมไม่คิดล่ะ สักวันหนึ่ง เราอาจต้องการสีแดงก็ได้ ต้องการสีเหลืองก็ได้ ต้องการท้องฟ้าสีฟ้าก็ได้ ไม่เห็นต้องสีทองเลย มนุษย์เปลี่ยนได้เสมอ มนุษย์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในภาวะโลกร้อน ในภาวะดวงอาทิตย์อะไรแบบนี้ ต่อไป มนุษย์อาจจะเปลี่ยนฟ้าสีทองไปเป็นฟ้าสีอื่นอะไรก็ได้

“ต้องปล่อยให้มันเป็น แล้วก็เอื้ออำนวยภาวะการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่มีระบอบไหนดีเท่ากับระบอบประชาธิปไตย ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ดีที่สุด ไม่ใช่เลวน้อยที่สุด แต่ไม่ใช่คำตอบว่าสังคมจะมี destination (จุดหมายปลายทาง) อย่างไร เพราะประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้คนในสังคมนั้นๆ ช่วยกันตอบต่างหากล่ะ

“แล้วยอมให้มันขวาไปบ้าง ซ้ายไปบ้าง ให้มันถกเถียงกัน อย่าตีหัวกัน อย่าใช้อำนาจ อย่าใช้อำนาจทางกฎหมาย มาข่มเหงรังแกกัน”

 

เมื่อถูกถามว่า คำขวัญ “เวลาอยู่ข้างเรา” นั้นฟังขึ้นหรือไม่? ในบริบทของสังคมไทยที่มีปัญหาใหญ่ๆ ฝังรากลึก อาจารย์ธงชัยได้ให้คำตอบไว้ว่า

“แล้วแต่คุณคิดถึงเวลาในสเกลไหน รู้ใช่ไหมเวลาทางธรณีวิทยามันยาวเป็นพันปี เวลาในทางประวัติศาสตร์มันยาวเป็นร้อยปี เวลาในทางการเมืองมันยาวไม่กี่สิบปี บางทีอาจจะแค่ไม่กี่ปีด้วยซ้ำไป

“ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลง หนีไม่พ้น การเปลี่ยนแปลงดีขึ้น-เลวลง มันเป็นปกติ ไม่มีอะไรจะดีขึ้นไปตลอด ไม่มีอะไรจะเลวลงไปตลอด

“ผมเคยเชื่อในความก้าวหน้า ตอนนั้นเด็กๆ ตอนนี้ ผมคิดว่ามันไม่ง่ายๆ เท่านั้น มันมี (ทั้ง) ดีขึ้น (และ) เลวลง แล้วปกติ สิ่งที่ดีขึ้นมันมา (พร้อม) กับหลายอย่างที่เลวลง สิ่งที่เลวลงมันก็มีด้านที่ดีขึ้น สังคมมันไม่ได้เป็นก้อนเดียว” •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน