คว่ำ ‘ปลดล็อกท้องถิ่น’ แง่มุมที่น่าเสียดาย | ปราปต์ บุนปาน

"พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ" นายกเทศบาลนครยะลา และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

ในที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น (ร่างปลดล็อกท้องถิ่น) ที่เสนอโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 70,000 ราย ก็ถูกปัดตกโดยรัฐสภาไปตามความคาดหมาย

ในสายตาของผู้มีอำนาจยุคปัจจุบัน นี่อาจถือเป็นความสำเร็จที่พวกเขาสามารถ “ขจัดขัดขวาง” โครงการทางการเมืองที่แลดู “สุดโต่งและชิงสุกก่อนห่ามจนเกินไป” ของ “ธนาธร-ปิยบุตร-ก้าวหน้า-ก้าวไกล-อนาคตใหม่” ให้ล้มคว่ำก่อนถึงจุดหมายปลายทาง ได้อีกคำรบหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ “คนทำงาน” อีกไม่น้อย การคว่ำ “ร่างปลดล็อกท้องถิ่น” อาจถือเป็น “เรื่องน่าเสียดาย” โดยเฉพาะถ้าใครได้รับฟังคำอภิปรายของ “พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ” นายกเทศบาลนครยะลา และอดีตนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ที่ลุกขึ้นชี้แจงต่อสมาชิกรัฐสภา ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

นี่คือเนื้อหาบางส่วนจากคำอภิปรายของพงษ์ศักดิ์ หรือ “นายกอ๋า” ที่กลายเป็น “สิ่งไร้ค่า” สำหรับ ส.ส.จำนวนไม่น้อย และ ส.ว.เกือบทั้งหมด

“…พวกเราเองนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่แล้ว หลายสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ตัวโครงสร้างขององค์กร ผมกราบเรียนครับว่า วันนี้โครงสร้างองค์กรของท้องถิ่นทั่วประเทศเราเหมือนกันหมด เราไม่เคยมองว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยว พื้นที่ไหนที่เป็นพื้นที่ชายแดนที่จะต้องมีลักษณะเฉพาะขึ้นมา แต่ (ทั้งหมด) ถูกสร้างด้วยโครงสร้างที่กำหนดมาจากกรม

“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ตามมาก็คือ เราไม่สามารถที่จะไปสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณของท้องถิ่นได้ ผมยกตัวอย่างกรณีเมืองชายแดน เช่น แม่สอดก็ดี เบตงก็ดี พวกเราไม่สามารถที่จะตั้งกองวิเทศสัมพันธ์หรือกองการต่างประเทศได้ ในขณะเดียวกัน เราเองก็จะต้องถูก (กำหนดให้) ทำงานในลักษณะแบบเดิมๆ

“เมื่อโครงสร้างขององค์กรเราไม่สามารถที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ บุคคลที่เราจะเอาเข้าไปบรรจุ วันนี้เราเจอปัญหาอย่างมากมาย หลายครั้งมีการบอกว่าท้องถิ่นทุจริตในการสรรหาบุคคลเข้าไป วันนี้ส่วนกลางได้เอาเข้ามา มีคดีค้างอยู่ที่ศาลปกครองอยู่ประมาณ 400 กว่าคดี ซึ่งสุดท้ายก็ยังหาข้อยุติไม่ได้

“สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้ตอบว่าที่ไหนดี แต่ผมเชื่อว่าคนพื้นที่น่าจะเป็นคนที่ดูได้ดีกว่า ในขณะเดียวกัน ตัวมาตรฐานตำแหน่งต่างๆ ก็ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง หลายอย่างที่เป็นมาตรฐานตำแหน่งไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของท้องที่ทั้งสิ้น นี่คือสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา

“พอพูดคำว่า ‘นักวิชาการคอมพิวเตอร์’ ก็จะกลายเป็นคนที่จบคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งวันนี้ ผมว่ามันเริ่มต้องไปพูดถึง data science นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลต่างๆ ที่จะต้องใช้ข้อมูลในการพัฒนา สิ่งเหล่านี้มันถูกส่งมาจากส่วนกลางทั้งสิ้น

“ผมฟังในที่ประชุมแห่งนี้ หลายคนได้พูดขึ้นในเรื่องของงบประมาณ ผมเองอยากจะกราบเรียนว่า จริงๆ ในวันนี้ ผมคิดว่าหลายท้องถิ่นสามารถจัดหารายได้ตัวเองได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น (คือ) เราถูกล็อก แม้กระทั่งเงินฝาก ว่าจะต้องถูกฝากในแบงก์รัฐเท่านั้น เราไม่มีสิทธิ์ที่จะไปฝากในแบงก์พาณิชย์อื่นๆ…

“นี่คือข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของการหารายได้ ในขณะเดียวกัน ผมมองเองว่าในแต่ละพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นนั้นมีดีเอ็นเอของตัวเราเองเยอะมาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น เราไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะมันจะถูกตั้งคำถามว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่

“สิ่งที่เป็นปัญหา ผมยกตัวอย่างในพื้นที่ภาคใต้บ้านผม วันนี้ตั้งแต่กล้วยหินที่เป็นจีไอ (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ของยะลาติดโรคเชื้อรา ลามไปสู่โรคใบยางร่วง วันนี้กำลังลามไปสู่ทุเรียน สี่ปีเต็มๆ ที่ไม่มีการแก้ไข

“ผมกราบเรียนว่าสิ่งเหล่านี้ ถ้าเราลองนึกภาพว่าเราให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดการแก้ปัญหาพื้นที่ตัวเอง สิ่งที่เป็นปัญหาเล็กน้อย ผมเชื่อว่าบางครั้งศักยภาพท้องถิ่น สามารถที่จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

“ในขณะเดียวกัน เราไปรอรัฐส่วนกลางที่มีปัญหาเยอะแยะที่จะต้องไปแก้ไข เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่า ถ้าเรามีการกระจายอำนาจ เรามีการปลดล็อกในเชิงของอำนาจหน้าที่ เราสามารถที่จะแก้ไขปัญหาอย่างนี้ได้”

 

“หลายท่านได้เป็นห่วงว่า ถ้ามีการปลดล็อกแล้ว ท้องถิ่นจะเกิด ‘เจ้าพ่อ’ ผมกราบเรียนท่านสมาชิกรัฐสภาด้วยความเคารพครับว่า ปี 2564 ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในส่วนของเทศบาล นายกเทศมนตรีคนเก่าสอบตก 67.33 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงว่าเป็นคนเดิมเพียง 32 เปอร์เซ็นต์

“ตัว อบต.เอง (คนเก่า) สอบตก 67.19 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนเดิมเพียง 32 เปอร์เซ็นต์ ตัว อบจ.เป็นคนใหม่ 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนเก่า 42 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเหล่านี้มันกำลังบอกว่า วิวัฒนาการของประชาชนได้มีการเปลี่ยนแปลงกันไปอย่างมาก เพราะฉะนั้น สิ่งที่บอกว่า ‘ความเป็นเจ้าพ่อ’ ต่างๆ ก็จะน้อยลง

“เมื่อสักครู่ มีสมาชิกท่านหนึ่งได้นำตัวเลขต่างๆ ในเรื่องของการทุจริต (มาอภิปราย) หลายท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของการทุจริตท้องถิ่นมันมีอยู่มาก

“ผมเรียนครับว่า ตัวสมาชิกท้องถิ่นมี 7,000 กว่าแห่ง สิ่งที่มีการร้องเรียน เราต้องมองว่ามันกำลังเกิดสังคมที่เรียกว่าเป็น open society สังคมแบบเปิดที่เขากล้าเข้าไปตรวจสอบ เขากำลังมองด้วยความเป็นห่วงด้วยความเป็นเจ้าของว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสร้างท้องถิ่นให้เป็นที่พึ่งของเขา เขาจะเป็นหมาเฝ้าบ้านที่ดีที่สุด

“แต่ถ้าตราบใดก็ตาม ท้องถิ่นไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของเขาได้ เขาก็จะมองว่าเขาไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปดู (และตรวจสอบ)

“ผมคิดว่าวันนี้ ในแง่ของความโปร่งใส ในแง่ของกระบวนการตรวจสอบของพี่น้องประชาชน ซึ่งมันสะท้อนจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา มันมีความชัดเจนอย่างมากว่าประชาชนได้มีวิวัฒนาการของตนเองอย่างเต็มที่…”

 

“วันนี้ เราต้องการที่จะปลดล็อกขึ้นมา หลายท่านถามว่าทำไมต้องไปถึง (การแก้ไข) รัฐธรรมนูญ? ผมกราบเรียนว่า หลายครั้ง ขนาดตราเป็นกฎหมายยังขอไปยกเลิก

“ในที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจ หลายครั้งที่หลายหน่วยราชการไปขอเพิกถอนอำนาจของท้องถิ่น เพื่อ (เอาอำนาจ) กลับไปที่ตัวเอง แม้กระทั่งในการถ่ายโอน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล)

“จนกระทั่งที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจต้องมีการคุยกันว่า ขอสักทีอย่าเอาวาระนี้เข้ามา กรรมการกระจายอำนาจควรมีท่าทีที่ชัดเจน แล้วก็ยืนยันในมติของการถ่ายโอน รพ.สต.ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ให้กลับมาพิจารณา (ในลักษณะ) ‘ไปหน้า ถอยหลัง’ (อยู่เรื่อยๆ) มันสร้างความไม่มั่นใจ แล้วก็เป็นการส่งสัญญาณ (ลบ) ในเรื่องของการกระจายอำนาจ

“วันนี้ ถ้าเรามีการปลดล็อกด้วยการแก้รัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่ามันจะเป็นการส่งสัญญาณในระยะยาวว่า ความจำเป็นของการกระจายอำนาจ ที่ผมได้กล่าวมาเมื่อสักครู่ มันจะเป็นทิศทางในการเดินของบ้านเมืองต่อไป…” •