‘ฟุตบอลโลก’ ไม่ใช่ ‘กีฬามหาชน’ อีกแล้ว? | ปราปต์ บุนปาน

ปัญหาขลุกขลักว่าด้วยการถ่ายทอดสด “ฟุตบอลโลก 2022” ในสังคมไทย ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดคิดของใครหลายคน

เพราะเอาเข้าจริง กรณียุ่งๆ ทำนองนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วตอนถ่ายทอดสด “ฟุตบอลยูโร 2020/2021”

และคราวนี้ก็เป็นอีกครั้ง ที่เราคงต้อง “ลุ้นกันเหนื่อย” กว่าจะได้ดูบอลโลกแบบถูกลิขสิทธิ์ หรือดีไม่ดี อาจไม่ได้ดูเลย

ด้านหนึ่ง ผู้รู้และสื่อมวลชนจำนวนมากดูคล้ายจะวิพากษ์วิจารณ์ “ปรากฏการณ์ชุลมุนวุ่นวายในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก” โดยพุ่งเป้าหมายหลักไปยังกฎ “มัสต์แฮฟ-มัสต์แคร์รี่” ของ กสทช.

ที่ส่งผลให้ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกสำหรับประเทศไทยพุ่งขึ้นสูง, เป็นการกันเอกชนออกจากกระดานที่พวกเขาไม่มีทางได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างคุ้มค่า และส่งผลให้ภาครัฐต้องแบกรับภาระหนักอย่างไม่จำเป็น

รวมถึงปัญหาเรื่องกระบวนการบริหารจัดการเพื่อดีลลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกของหน่วยงานภาครัฐ ที่แรกๆ เหมือนจะยึดหลัก “ดึงเกมช้าเข้าไว้ เพื่อจะได้ของถูก” แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็น “การเดินเกมช้า จนอาจเสียของ” เสียอย่างนั้น

อย่างไรก็ดี บทความชิ้นนี้อยากชวนคุยถึง “ปรากฏการณ์ฟุตบอลโลก 2022” ในอีกแง่มุมหนึ่ง นั่นคือ ประเด็นคำถามเรื่อง “ฟุตบอลโลก” กับสถานะความเป็น “กีฬามหาชน” ในห้วงเวลาปัจจุบัน

REUTERS/Lee Smith

ข้อแรก ไม่มีใครปฏิเสธว่า “ฟุตบอล” คือกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดชนิดหนึ่ง หากพิจารณาจำนวนคนดูบอลทั่วโลก

แต่ถ้า “กีฬามหาชน” หมายถึงกีฬาที่มีคนดูกว้างขวาง ทุกกลุ่มทางสังคม ทุกชนชั้นทางเศรษฐกิจ ทุกรุ่นอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ๆ ซึ่งจะก้าวขึ้นมาทดแทนผู้บริโภครุ่นเก่าที่ทยอยล้มหายตายจากไป

คำถามที่เกิดขึ้นก็มีอยู่ว่า “ฟุตบอล” ยังครองใจกลุ่มผู้ชมรุ่นใหม่เอาไว้ได้มากน้อยแค่ไหน?

“ฟลอเรนติโน เปเรซ” ประธานสโมสร “เรอัล มาดริด” คือหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่ออกมายืนยันถึงสมมุติฐานที่ว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจกีฬาฟุตบอลน้อยลง (ทางแก้ของเขา คือ การก่อตั้ง “ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก” ที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจให้แก่อุตสาหกรรมฟุตบอล แต่สุดท้ายไอเดียนี้ก็แท้งไป)

จากประสบการณ์ส่วนตัว เท่าที่ได้สังเกตพฤติกรรมและพูดคุยกับวัยรุ่นไทยยุคปัจจุบันมาบ้าง ก็พบว่าพวกเขาและเธอดูฟุตบอล (หรือ “อิน” กับกีฬาชนิดนี้) น้อยลงจริงๆ

กระทั่งการเริ่มต้นบทสนทนาว่า “คืน (เสาร์-อาทิตย์) นี้จะดูบอลคู่ไหน?” หรือ “เป็นเด็กผีหรือเด็กหงส์?” กลายเป็นประโยคทักทายที่ค่อนข้างเชย ผิดที่ผิดทาง (จะใช้คำว่า “ผิดกาลเทศะ” ก็อาจแรงและฟังดูโบราณไป) และ “ไม่ค่อยปกติ” นัก สำหรับวิถีการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่

เช่นเดียวกัน หากย้อนไปในยุค 90 ถึง 2000 เราอาจชวนวัยรุ่นหญิงจำนวนมาก พูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่อง “ความหล่อ” ของนักฟุตบอล (เช่น นักเตะอิตาเลียน) ได้อย่างไม่เคอะเขินและออกรสออกชาติ

แต่ในทุกวันนี้ ประเด็นเรื่อง “ความหล่อ” กับ “นักกีฬาฟุตบอล” อาจมิใช่สององค์ประกอบที่สามารถนำมาประกบเข้าหากันได้อย่างราบรื่นลงรอย

ถ้าวัยรุ่นหญิงในปัจจุบันอยากจะสนทนากันเรื่องคนหล่อหรือผู้ชายน่ารัก ผู้ชายเหล่านั้นก็มักมีชีวิตอยู่ในแวดวง-วัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ไม่ใช่ใน “โลกกีฬา” และ “สนามฟุตบอล”

ข้อสอง อีกประเด็นที่ไม่ค่อยกล่าวถึงกัน ก็คือ “กระแสฟุตบอลโลกฟีเวอร์” ซึ่งเคยเกิดขึ้นในบ้านเรา อาจผูกพันกับผลงานของ “ทีมฟุตบอลไทย” อย่างลึกซึ้ง

การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกครบทุกนัดเกิดขึ้นครั้งในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2533 (ค.ศ.1990) น่าสนใจว่า ถัดจากนั้นอีกไม่กี่เดือน ทีมฟุตบอลชายทีมชาติไทยก็สร้างประวัติศาสตร์คว้าอันดับสี่เอเชี่ยนเกมส์ได้เป็นครั้งแรก

ถ้าฟุตบอลโลก “ฟรองซ์ 98” ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยหลายราย พวกเขาเหล่านั้นก็น่าจะจดจำได้ว่า ในปลายปีเดียวกัน มหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ และทีมฟุตบอลทีมชาติไทยก็ทะลุไปถึงรอบสี่ทีมสุดท้ายได้อีกคราว

ภาวะฟูเฟื่องของธุรกิจถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในประเทศไทย จึงดำเนินคู่ขนานไปกับการที่ทีมฟุตบอลไทยครองสถานะเป็น “เบอร์หนึ่งของอาเซียน” พร้อมการตั้งความหวัง-ความฝันว่า เราจะก้าวขึ้นไปเป็น “เบอร์ต้นๆ ของเอเชีย” และ “เราจะไปบอลโลก” ในสักวันหนึ่ง

แต่ในปัจจุบัน “ความฝันของฟุตบอลไทย” กลับห่อเหี่ยวลีบเรียวลง เราไม่ใช่ “เบอร์หนึ่งอาเซียน” (อีกแล้ว) ไม่ใช่ “ทีมระดับท็อปของเอเชีย” และไม่มีหวังจะ “ไปบอลโลก” แม้สักนิดเดียว (ขณะที่ “ทีมฟุตบอลหญิง” และ “ทีมฟุตซอล” ซึ่งเคยไปได้ไกลถึงระดับโลก ก็มีผลงานดร็อปลง)

แม้ “ฟุตบอลไทยลีก” จะมีภาพลักษณ์อู้ฟู่ แต่ก็เป็นความอู้ฟู่เฉพาะกลุ่ม เฉพาะทีม เฉพาะบุคคล ไม่ข้องเกี่ยวอะไรกับ “ความฝันฟุตบอลของชาติ”

พูดอีกอย่างได้ว่า “กีฬา” มักแยกไม่ขาดกับ “ความรู้สึกชาตินิยม” ด้วยเหตุนี้ พอ “ชาติหนึ่งๆ” สิ้นไร้ที่ทางอันน่าภาคภูมิใจในกีฬาชนิดนั้นๆ เสียแล้ว ความนิยมชมชอบที่ “คนดูในชาติ” จะมีต่อกีฬาชนิดดังกล่าว ก็ย่อมเสื่อมถอยลงไปด้วย

จึงไม่แปลกที่ในมุมมองของคนไทยรุ่นนี้ “ฟุตบอล” จะมีพลังน้อยกว่า “วอลเลย์บอล” เมื่อ “ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทย” มีโอกาสสร้างผลงานระดับอินเตอร์โดยต่อเนื่อง เช่น ได้เข้ารอบสองรายการชิงแชมป์โลก และมีลุ้นเกือบได้ “ไปโอลิมปิก”

ตรรกะทำนองเดียวกัน ยังอาจประยุกต์ใช้ได้กับ “แบดมินตัน” ซึ่งเป็นกีฬาที่คนไทยหลากเพศหลายวัยนิยมเล่น และผลงานของนักแบดฯ ไทยรุ่นปัจจุบัน ก็ก้าวไปถึงระดับโลกได้อย่างน่าชื่นชม

ข้อสุดท้าย ถ้าถามว่าอะไรคือ “กีฬามหาชน” สำหรับสังคมไทยกลางทศวรรษ 2560?

หากมีคนตอบออกมาทันทีว่า “มวยไทย” เราคงต้องถามกลับไปว่ามวยอะไร? มวยลุมพินี มวยราชดำเนิน มวยไทย 7 สี ไทยไฟต์ หรือวันแชมเปี้ยนชิพ

นี่คือตัวเลือกที่หลากหลายและมีบุคลิกแตกต่างกันไป ตั้งแต่ “มวยไทยแบบไทยๆ” ไปจนถึง “ศิลปะการต่อสู้ที่มีบุคลิกอินเตอร์” แต่จริงๆ อาจยังมีคนดูไทยเป็นตลาดใหญ่ และไม่ได้รับความสนใจจากคนดูฝั่งอเมริกา-ยุโรปมากนัก

“วอลเลย์บอล” อาจเป็น “กีฬามหาชน” ของคนไทย แต่ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่ “กีฬามหาชน” สำหรับคนทั้งโลก พิจารณาได้จากปรากฏการณ์มากมาย

เช่น คนอังกฤษไม่ค่อยเล่นวอลเลย์บอล, อเมริกามีทีมชาติที่แข็งแกร่ง แต่ระบบลีกอาชีพไม่แข็งแรง, ลีกวอลเลย์บอลที่โดดเด่นกลับไปอยู่แถวตุรกี อิตาลี หรือญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่อุตสาหกรรมกีฬาที่ประสบความสำเร็จแบบฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ

เหมือนกับ “แบดมินตัน” ซึ่งเป็นที่นิยมของคนเอเชียและยุโรปบางประเทศ แต่อีกหลายประเทศก็ไม่มีส่วนร่วมกับกีฬาประเภทนี้ เช่น เราไม่ค่อยเห็นนักกีฬาแบดฯ จากสหรัฐ รวมทั้งแทบไม่พบเห็นคนดำหรือคนละตินอเมริกันตีลูกขนไก่

สิ่งที่ผมต้องการสื่อ ก็คือ เรา (ทั้งสังคมไทยและสังคมโลก) อาจอยู่ในยุคสมัยที่ไม่มี “กีฬามหาชน” อีกแล้ว

เมื่อเป็นแบบนี้ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหรือกีฬาอื่นๆ จึงยิ่งต้องถูกขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดเสรี ไม่ใช่กฎ “มัสต์แฮฟ-มัสต์แคร์รี่” ที่ขัดฝืนกับสภาพความเป็นจริง •