‘บทกวีการเมืองร่วมสมัย’ ไม่ใช่ ‘ของสูง’ | ของดีมีอยู่

‘บทกวีการเมืองร่วมสมัย’ ไม่ใช่ ‘ของสูง’

 

แนวคิดหนึ่งที่ผมเห็นต่างอยู่มากพอสมควร ก็คือ การมองว่า “บทกวีการเมืองไทย” เป็นเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองที่แนบเนียนแยบยล เป็นอาวุธที่ซัดเข้าใส่ศัตรู โดยที่เป้าหมายอาจไม่ทันรู้สึกตัว และเป็นเกราะป้องกันภัยที่ช่วยให้ผู้เขียนอยู่ใน “เซฟโซน” ได้ระดับหนึ่ง

ผมมีปัญหากับแนวคิดข้างต้นอยู่สองข้อ

ข้อแรก ในฐานะคนที่ตามอ่านบทกวีไทยร่วมสมัยอยู่บ้างพอสมควร ผมพบว่าหนท้ายๆ ที่ตนเองได้อ่าน “บทกวีการเมือง” ซึ่งมีลักษณะแนบเนียนแยบคาย ต้องอาศัยทักษะการตีความ-ถอดรหัสเป็นอย่างสูง นั้นอาจต้องย้อนไปถึงช่วงเวลาระหว่างหลังรัฐประหารปี 2549 ต่อเนื่องถึงหลังเหตุการณ์นองเลือดปี 2553 โน่นเลย

ข้อสอง หากเราเชื่อตามแนวคิดข้างต้น “บทกวีการเมืองไทย” ก็จะกลายสภาพเป็น “ของสูง” เข้าถึงยาก เป็น “งานเขียนขึ้นหิ้ง” ที่ไม่ใช่ว่าใครๆ จะสามารถเข้าถึงหรืออ่านเข้าใจได้โดยง่าย

พูดให้ชัดๆ คือเป็นงานที่คนส่วนใหญ่ (ไม่ว่าจะเป็นคนมีอำนาจหรือคนไม่มีอำนาจ) เข้าไม่ถึง อ่านไม่ออก

ถ้านั่นคือคุณลักษณะสำคัญของ “บทกวีการเมืองไทย” จริงๆ ก็พึงตั้งคำถามว่า “บทกวีการเมือง” ที่ถูกแต่งขึ้นมา ยังมีสถานะเป็น “อาวุธทางการเมือง” หรือ “เครื่องมือทางการเมือง” ที่ทรงประสิทธิภาพอยู่หรือไม่?

การประเมิน “บทกวีการเมือง” ว่าเป็นวิธีการสื่อสารอันแยบคาย จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตัวงานมากกว่ากัน?

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมีความเห็นว่าในช่วงหนึ่งทศวรรษหลัง โดยเฉพาะหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา “บทกวีการเมืองเชิงวิพากษ์อำนาจ” (ซึ่งเป็นคนละแบบกับ “กลุ่มคำคล้องจอง” ของ “พี่คนดี”) ที่ปรากฏในสังคมไทย ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่เฟสใหม่

ในแง่คนเขียน เราจะพบว่ามีกวีหน้าใหม่ๆ (หรือหน้าเดิม แต่ไม่ค่อยเปิดเผยผลงานต่อสาธารณชนในห้วงเวลาก่อนหน้านั้น) ออกมาเขียน “บทกวีการเมือง” กันเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือนักวิชาการอาวุโส

จุดเด่นที่เห็นชัดเจนของ “บทกวีการเมืองไทย” หลังรัฐประหารปี 2557 ก็คือการใช้ภาษาง่ายๆ มุ่งแสดงอารมณ์โกรธและจุดยืนในการด่าของผู้เขียนอย่างค่อนข้างตรงไปตรงมา

ผู้อ่านจึงไม่ต้องตีความให้ยุ่งยากว่าคนเขียนบทกวีกำลังด่าใครหรือด่าเรื่องอะไรอยู่

จุดร่วมของ “บทกวีการเมือง” เหล่านี้ คือ การลดทอนกระบวนท่าแนบเนียนแยบยลลง และพยายามสื่อสารเนื้อหาที่ชัดเจน-เรียบง่ายมากขึ้น

แม้ในเชิงรูปแบบ งานเขียนกลุ่มดังกล่าวยังคงมีลักษณะเป็นกวีนิพนธ์ที่ถูกครอบคลุมอยู่โดยฉันทลักษณ์ ซึ่งใช้อย่างหละหลวมบ้าง เคร่งครัดบ้าง

แต่หากพิจารณาจากภาษาที่ใช้ ตลอดจนน้ำเสียง ท่าที และอารมณ์ความรู้สึกที่ผู้เขียนสื่อออกมา เราก็อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็น “บทกวีการเมือง” ที่ถูกถ่ายทอดผ่าน “ภาษาแบบชาวบ้านร้านตลาด” เป็นภาษาที่ประชาชนคนธรรมดาใช้พูดคุยด่าทอกันในวิถีชีวิตประจำวัน

เป็น “วัฒนธรรมป๊อป” หรือ “วัฒนธรรมแมส” ในอีกรูปแบบหนึ่ง

เมื่อลองมองในมุมนี้ “บทกวีการเมือง” จึงมิใช่กลยุทธ์อันแนบเนียน มิใช่กระบวนท่าอันแยบยล ที่สูงส่งลึกซึ้งหยั่งถึงยาก ดังที่มักอธิบายต่อๆ กันมา

 

ขออนุญาตออกนอกเรื่องสักเล็กน้อย เวลาที่ผมพยายามบอกว่า “บทกวีการเมืองไทยร่วมสมัย” คือ การสื่อสารแบบเข้าใจง่ายๆ และเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ของสังคมนั้น ในใจผมจะชอบนึกถึงช่วง “ขับเสภา” ในละครจักรๆ วงศ์ๆ ตอนเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ ทางช่อง 7 อยู่เสมอ

หน้าที่หลักของ “การขับเสภา” ประกอบละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่ได้อยู่ที่การทำให้เรื่องราวมีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน หรือเป็นนามธรรมเลื่อนลอยมากขึ้น

แต่ “การขับเสภา” มักทำหน้าที่ช่วยย่นย่อระยะเวลา รวบรัดเรื่องราว และบรรยายายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ด้วยภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก ผ่านบทกวี (โดยมากคือกลอนสุภาพ) ขนาดสั้นๆ แค่หนึ่งบทหรือสี่วรรค

นี่คือกระบวนการที่ใช้สื่อสารกับคนดูทีวีส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงที่เพิ่งรู้หนังสือ เรื่อยไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นหนอนหนังสือหรือมีภูมิรู้ลึกซึ้งมากมายนัก

ทั้งยังเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่นำมาใช้ทดแทนกลวิธีในกระบวนการลำดับภาพของสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์สมัยใหม่ เช่น เทคนิคจัมป์คัต หรือการนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ แบบไม่เรียงลำดับเวลา ได้ดีพอสมควร

“สุจิตต์ วงษ์เทศ” และ “ขรรค์ชัย บุนปาน”

วกกลับมาที่เรื่อง “บทกวีการเมือง” กันต่อ

“ขรรค์ชัย บุนปาน” และ “สุจิตต์ วงษ์เทศ” คือ “สองกุมารสยาม” ที่เขียนบทกวีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม มิอาจปฏิเสธว่าผลงาน “โคลง-กลอน” ยุคหลังของทั้งคู่ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ และเพิ่งถูกนำมาตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือรวมบทกวีเล่มใหม่ชื่อ “ข้างขึ้นข้างแรม” นั้น ได้เกาะเกี่ยวอยู่กับกระแสธารของ “บทกวีการเมืองไทยร่วมสมัย” โดยใกล้ชิด

“กลอนปล่อยๆ” ของสุจิตต์ เหมือนจะเอื้อต่อการใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายและการด่าอะไรอย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่ารูปแบบไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อเนื้อหา

แม้รูปแบบ “โคลง” ที่ขรรค์ชัยเลือกใช้ จะส่งผลให้จังหวะจะโคนและการจัดวางถ้อยคำในงานเขียนมีความซับซ้อนเกินกว่าภาษาสามัญอยู่บ้าง

แต่เนื้อหาของโคลงเหล่านั้นก็ปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกอันเกรี้ยวกราดหงุดหงิดต่อสถานการณ์บ้านเมืองออกมาอย่างชัดเจนและสัมผัสได้ไม่ยาก

หากมีโอกาสเปิดอ่านหนังสือ “ข้างขึ้นข้างแรม” ก็ย่อมจะตระหนักได้ทันทีว่างานเขียนในเล่มมิใช่ “กวีนิพนธ์-ศิลปะขั้นสูง” ที่เข้าถึงยาก ตรงกันข้าม “สาร” ที่ขรรค์ชัยและสุจิตต์พยายาม “สื่อ” ผ่านบทกวี น่าจะไปถึงผู้อ่านกลุ่มใหญ่ได้อย่างไม่ยากลำบากนัก

แม้ในเชิงรูปลักษณ์-ราคา หนังสือที่กำลังวางจำหน่ายอาจดูคล้ายเป็น “ของหรูหรา” อยู่บ้าง

ทว่า หากใครทดลองนำเอา “เนื้อใน” ของหนังสือไปให้พี่ป้าน้าอาตามท้องถนน ชาวบ้านร้านตลาด หรือผู้คนที่หาเช้ากินค่ำ ได้อ่านออกเสียงดู

เราอาจพบว่า “บทกวีการเมืองยุคหลัง” ของขรรค์ชัย-สุจิตต์ คือ เนื้อความ-ถ้อยคำที่สามัญชนทั้งหลายสามารถอ่านออกเสียงได้อย่าง “เต็มปากเต็มคำ”

เพราะนั่นก็เป็นสิ่งที่พวกเขารู้สึกไม่ต่างกัน และเป็นภาษาที่พวกเขาใช้พูดจาสนทนาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

นี่ต่างหากคือศักยภาพและคุณลักษณะที่ “บทกวีการเมืองไทยร่วมสมัย” พึงมี •

 

ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน