‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ หลัง 30 กันยายน 2565 | ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’

หลัง 30 กันยายน 2565

 

หลังวันที่ 30 กันยายน 2565 ถ้าพิจารณาในแง่ความเป็นบุคคลและอัตลักษณ์ตัวตนของมนุษย์คนหนึ่ง คงไม่มีความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ฉับพลันเกิดขึ้นกับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เพราะบุคคลที่มีบุคลิกภาพชัดเจนขนาดนั้น มีโลกทัศน์ที่เฉพาะตัวขนาดนั้น และมิได้ออกไปปะทะสังสรรค์กับปัจจัย-ผู้คนที่หลากหลายภายนอก “มณฑลทางอำนาจ” ของตนเองกับพวกพ้องสักเท่าไหร่ ก็ยังจะเป็น “พล.อ.ประยุทธ์ คนเดิม”

ที่ทำงานแบบเดิม พูดจาแบบเดิม เดินเหินแบบเดิม ทำตัวตลก (ไม่สำหรับทุกคน) แบบเดิม และหงุดหงิดฉุนเฉียวบ้างเป็นบางโอกาสแบบเดิม

แต่ “สถานภาพทางการเมือง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต่างหากที่จะไม่เหมือนเดิม

 

เนื่องจากงานชิ้นนี้ถูกเขียนขึ้นก่อนหน้าวันที่ 30 กันยายน ผู้เขียนจึงไม่อาจล่วงรู้แน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป (รอด) หรือต้องยุติการดำรงตำแหน่งนายกฯ อย่างถาวร (ไม่รอด)

ถ้าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่า “ไม่รอด” ก็เป็นที่แน่ชัดว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือตัวละครที่หมดอายุและต้องถูกกวาดลงจากเวทีการเมืองไทย

ในเชิงนิตินัย อาจมีคำอธิบายชุดหนึ่งออกมาแจกแจงเหตุผลอย่างเป็นทางการและวิชาการ ว่าทำไมนายกฯ ถึง “ไม่รอด”

แต่ในเชิงพฤตินัย ก็คงสามารถสรุปรวมได้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า ในทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ คือตัวละครที่ “ไม่มีหน้าที่-ไม่มีประโยชน์” อะไรอีกแล้ว

สิ่งที่ช่วยยืนยันข้อเท็จจริงข้างต้นได้ดี ก็คือ ตลอดห้วงเวลาสุญญากาศหนึ่งเดือนที่นายกรัฐมนตรีต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ทุกองคาพยพสำคัญล้วนเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งรัฐบาลที่นำโดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายค้าน-รัฐบาลที่กำลังมุ่งหน้าสู่สนามเลือกตั้ง กกต.ที่เริ่มนับถอยหลังกระบวนการจัดเลือกตั้ง

และประเทศชาติบ้านเมืองโดยรวมที่ไม่ได้ประสบภาวะสะดุด-ติดขัดอะไรมากมาย

 

ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ “รอด” ไม่ว่าจะเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ จากปี 2560 (อยู่ได้ถึงปี 2568) หรือปี 2562 (อยู่ได้ถึงปี 2570) เอาเข้าจริง สภาพการณ์ที่ตามมาก็อาจไม่ผิดแผกกันมากนัก

เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่สินค้าเกรดเอ ไม่ใช่ตัวเลือกระดับพรีเมียมที่ดีที่สุดในตลาดการเมืองอีกแล้ว

แม้ผลโพลล่าสุดจะบ่งชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นแคนดิเดตผู้นำที่แลดูแข็งแรงที่สุดในฝ่ายอนุรักษนิยมและขั้วรัฐบาลปัจจุบัน กล่าวคือ แม้จะมีคะแนนนิยมตามหลัง “แพทองธาร ชินวัตร” แห่งพรรคเพื่อไทย และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แห่งพรรคก้าวไกล แต่ก็มีแต้มเหนือกว่า “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-อนุทิน ชาญวีรกูล” และนักการเมืองคนอื่นๆ ที่ทยอยเปิดตัวว่าพร้อมชิงตำแหน่งนายกฯ

ทว่า พล.อ.ประยุทธ์กลับแลดูโดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่ได้เชื่อมต่อกับพรรคการเมืองใหญ่อย่าง “พลังประชารัฐ” จนแนบสนิทเหมือนในปี 2562 (พูดอีกทาง คือไม่รู้ว่าระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ กับพลังประชารัฐ ฝ่ายไหนจะพังหรือแตกก่อนกัน)

ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์จึงเป็นผู้นำที่ยังพอมีคะแนนนิยมอยู่บ้างแต่ขาดรากฐานรองรับ เป็นเหมือนหัวที่ไร้ร่าง เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ปราศจากโครงการทางการเมืองขนาดใหญ่ในมือ

นอกจากนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์สามารถนั่งเก้าอี้นายกฯ ต่อไปได้ นี่ก็ถือเป็นคนละเงื่อนไขกับการอยู่รอดของ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อปี 2544

เวลานั้น ทักษิณได้รับ “ความชอบธรรม” เพิ่มเติมจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยที่ตนเองเป็นความหวังหนึ่งเดียวของสังคม ภายหลังการประสบชัยชนะในศึกเลือกตั้งใหญ่ และกระแสความนิยมกำลังพุ่งขึ้นสูง

ผิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ ณ เวลานี้ ที่ต่อให้ “ได้อยู่ต่อ” โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นการ “อยู่รอด” พร้อมความนิยมที่ลดต่ำเหี่ยวเฉาลงเรื่อยๆ และมิได้มีสถานะเป็นความหวังสดใหม่ของสังคม (หรือกระทั่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสังคม) อีกแล้ว

หากประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หลังวันที่ 30 กันยายนนี้ นายกฯ ของเราก็มีสภาพเหมือนนักมวยที่ยังไม่ถูกจับแพ้ทีเคโอ แต่รอเวลาจะไปโดนน็อกในยกปลายๆ หรือเป็นฝ่ายพ่ายคะแนนในท้ายที่สุด •