‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ กับ ‘นายกรัฐมนตรี’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

The exhibition will tell the story of the relationship between Sir Winston Churchill and the Queen, both seen here after having dinner at 10 Downing Street Credit: Fox Photos/Getty Images

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ควีนเอลิซาเบธที่ 2’ กับ ‘นายกรัฐมนตรี’

 

จุดเด่นหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” แห่งสหราชอาณาจักร ก็คือ การที่เรื่องราวของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์อังกฤษ ถูกนำมาบอกเล่าผ่านสื่อบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์ และละครเวที

ไม่เพียงแต่พยายามจะถ่ายทอดความเป็นมนุษย์ให้แก่องค์พระมหากษัตริย์ และพยายามสร้างอำนาจ-บารมีให้แก่สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ ผ่านตำแหน่งแห่งที่ใหม่ๆ ในสื่อสมัยใหม่และวัฒนธรรมยุคใหม่

ทว่า หนัง-ละครกลุ่มนี้ยังผูกโยง “ควีนเอลิซาเบธที่ 2” และสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ เข้ากับคุณค่าร่วมสมัยบางอย่าง ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัวแนบเนียน

ซึ่งหนึ่งในคุณค่าข้างต้น ก็คือ ระบอบประชาธิปไตย

 

บุคคลคนหนึ่งที่ “ทำงาน” เรื่องดังกล่าวอย่างแข็งขันจริงจัง ก็คือ “ปีเตอร์ มอร์แกน” นักเขียนบทภาพยนตร์-ซีรีส์-ละครเวที ซึ่งมีผลงานที่เป็นที่รู้จักอย่าง “The Queen” และ “The Crown”

ในโอกาสที่ทั่วโลกกำลังไว้อาลัยต่อการสวรรคตของ “สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2” จึงอยากจะขออ้างถึงผลงานชิ้นหนึ่งของมอร์แกน ได้แก่ บทละครเวทีเรื่อง “The Audience” (ออกแสดงในปี 2013 และ 2015) ซึ่งเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ระหว่าง “ควีนเอลิซาเบธ” กับบรรดานายกรัฐมนตรีในรัชสมัยของพระองค์

(มอร์แกนเขียนบทละครเรื่องนี้ภายหลังจากการประสบความสำเร็จของ “The Queen” และก่อนหน้าที่เขาจะลงมือสร้างสรรค์ซีรีส์ “The Crown”)

เนื้อหาส่วนหนึ่งที่มอร์แกนเขียนเอาไว้ได้อย่างน่าประทับใจ คือ เหตุการณ์ตอนช่วงท้ายของละคร ซึ่งเขากำหนดให้ตัวละคร “ควีนเอลิซาเบธในวัยเยาว์” ได้มาสนทนากับตัวละคร “ควีนเอลิซาเบธวัยผู้ใหญ่” (รับบทโดย “เฮเลน เมียร์เรน” สลับกับ “คริสติน สก็อตต์ โธมัส”)

ประเด็นการสนทนาเริ่มต้นมีสีสัน เมื่อตัวละคร “ควีนวัยเยาว์” บอกเล่าว่าพระองค์เพิ่งได้เรียนหนังสือในหัวข้อว่าด้วย “นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร” มา

พอตัวละคร “ควีนวัยผู้ใหญ่” ซักถามว่าได้เรียนรู้เรื่องอะไรจากบทเรียนนี้บ้าง? “ควีนวันเยาว์” ก็บรรยายตามที่ได้จดบันทึกเอาไว้ในสมุดว่า

“บ่อยครั้ง พวกเขา (นายกรัฐมนตรี) มักโดดเดี่ยวและไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิตในโรงเรียน, รู้สึกเจ็บปวดกับประสบการณ์บาดแผลในวัยเยาว์ จนทำให้พวกเขาถูกหลอกหลอนด้วยแรงกดดันและความหมกมุ่นที่นำไปสู่ความปรารถนาโหยหาในความรักและอำนาจ และโดยพื้นฐานที่สุด พวกเขาทุกคนล้วนเป็นคนบ้า”

นอกจากนั้น ตัวละคร “ควีนวัยเยาว์” ยังแสดงความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับอำนาจตามรัฐธรรมนูญของพระมหากษัตริย์ที่มีอย่างจำกัด และการที่พระองค์ต้องไปนั่งรับฟัง “เหล่าคนบ้า” อย่างสุภาพและนิ่งเงียบเป็นเวลาหลายชั่วโมง ในวาระที่ต้องพบปะหารือกัน

 

อย่างไรก็ดี ตัวละคร “ควีนวัยผู้ใหญ่” กลับให้ข้อคิดหรือบทเรียนเพิ่มเติมแก่ “ควีนวัยเยาว์” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“นั่น (ความอึดอัดใจของควีนวัยเยาว์) ก็เป็นการตีความในแบบหนึ่ง แต่มันยังมีวิธีการมองโลกที่อ่อนโยนกว่านั้น กล่าวคือ บางที เธออาจกำลังอนุญาตให้บรรดาบุคคลผู้เต็มไปด้วยความซับซ้อนหรือทำความเข้าใจได้ยากมากๆ ได้เข้ามาวัดเทียบมาตรฐานของตัวพวกเขาเองกับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่เปลี่ยนแปลง, คงอยู่อย่างถาวร และเรียบง่าย

“ความธรรมดาสามัญในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคือทรัพย์สินที่มีคุณค่ามากที่สุดของเธอในยามอยู่บนบัลลังก์ ซึ่งเมื่อบุคคลที่เต็มไปด้วยความพิเศษหรือช่างเพ้อฝันได้เข้ามาอยู่ในสถานะดังกล่าว เขาก็อาจสร้างเรื่องราววุ่นวายมากมายตามมา

“และถ้าฉันจะเพิ่มเติมบทเรียนให้แก่เธออีกสักเล็กน้อย ฉันก็อยากบอกว่า ‘คนบ้า’ เหล่านั้น จะพิสูจน์ว่าพวกเขาคือพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอ เพราะไม่ว่าพวกเราจะเชย, ฟุ่มเฟือย และไร้เหตุผลขนาดไหน แต่พวกเราก็ยังจะมีสถานภาพที่ดีกว่าประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ที่ต้องลงมือแก้ไขปัญหาวุ่นวายต่างๆ นานาที่เขาลงมือก่อด้วยตัวเอง

“นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคนบ้า (นายกรัฐมนตรี) เหล่านี้จึงพุ่งเข้ามาให้ความช่วยเหลือพวกเราในทุกๆ ครั้ง ที่เราก่อเรื่องยุ่งยากขึ้น ถ้าเธออยากทราบว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศนี้ดำรงอยู่อย่างยาวนานมาได้อย่างไร ต้องอย่ามองไปที่องค์พระประมุข แต่ควรมองไปที่เหล่านายกรัฐมนตรี” •