‘การเมืองไทย’ เคลื่อนหน้าไปแล้ว / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘การเมืองไทย’ เคลื่อนหน้าไปแล้ว

 

พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

อารมณ์ความรู้สึกของสังคมก็ลอยละลิ่วนำหน้าคำวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของนายกรัฐมนตรี ไปไกลสุดกู่

คนส่วนใหญ่สามารถปฏิเสธ-เพิกเฉยต่อสถานะทางการเมืองของนายกฯ ได้อย่างเปิดเผย และเต็มปากเต็มคำมากขึ้น

หรือไม่ก็ปักใจเชื่อเรียบร้อยว่า พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งไปแล้วในเชิงพฤตินัย

ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่อารมณ์ความรู้สึกแบบเฮโลสาระพาที่ก่อตัวขึ้นอย่างไร้สาระ ปราศจากเหตุผล หรือเป็นอาการอุปาทานหมู่

แต่คืออารมณ์ความรู้สึกที่กลั่นกรองมาจากการเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งได้มองเห็นว่า ความชอบธรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีลักษณะเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ หลังครองอำนาจมา 8 ปีเต็ม

 

ไม่ว่าคำวินิจฉัยในอนาคตอันใกล้ของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาหน้าไหน

ผลลัพธ์อันชัดเจนที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ และเกิดขึ้นไปบ้างแล้ว นั้นมีอยู่ 2-3 ประการ

ประการแรก สังคมไทยได้ตระหนักว่าพวกเราสามารถ “หยุด” พล.อ.ประยุทธ์ จากการมีอำนาจ

ต่อให้ “หยุดชั่วคราว” นั่นก็ถือเป็นการ “หยุด”

หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่ “สิ่งของจำเป็นต้องมี” ในทางการเมือง อย่างที่บางคนคิด หรือบางฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้

การไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้นำประเทศเพียงแค่วันเดียว ทำให้ความชอบธรรมของนายกฯ ที่มีหลงเหลืออยู่น้อยนิด ลดพร่องลงไปอีก

แต่เมื่อภาวะสุญญากาศเช่นนี้ทอดยาวออกไปร่วมหนึ่งเดือน “ความไม่จำเป็นทางการเมือง” ของนายกฯ ก็จะค่อยๆ ถูกพิสูจน์ทราบ จนปรากฏเด่นชัดมากยิ่งขึ้น

“ยิ่งห่างหายจากอำนาจไปนาน ก็ยิ่งหมดความหมายต่อทุกๆ ฝ่าย” คือสถานภาพ-สภาพล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เริ่มปรากฏออกมาหลังวันที่ 24 สิงหาคม 2565

เพราะแม้เจ้าตัวยังมีชีวิต (และมีหัวจิตหัวใจ) ยังคงเคลื่อนไหว และยังคง “ทำงาน” ในหน้าที่ รมว.กลาโหม (ช่วงนี้ อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ เข้าไปปฏิบัติภารกิจตอบกระทู้ฝ่ายค้านในสภา แทน “พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล” ดูบ้าง)

แต่ขณะเดียวกัน นายกฯ ผู้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก็มิได้มีสถานะเป็นศูนย์กลางของแวดวงการเมืองดังเดิม

(แถมเมื่อมองในแง่ดี สังคมยังมีอะไรที่ฟังขัดหู ดูขัดตา น้อยลงเสียอีก)

 

ประการที่สอง เมื่อ “หยุด” พล.อ.ประยุทธ์ ลงได้ ส่วน “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ก็ไม่ได้ถูกคาดหวังว่าจะเป็นผู้ใช้อำนาจนายกฯ ไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดังนั้น ทุกคนจึงนับถอยหลังเฝ้ารอ “การเลือกตั้งใหญ่” และคิดคล้ายๆ กันว่า นั่นคือหนทางเดียวในการปลดล็อก-แก้ปัญหาประเทศ

ณ ตอนนี้ การเลือกตั้งเป็น “ความหวังสูงสุด” ของผู้คน มากกว่าทางเลือกอื่นๆ ที่เคยมีประสิทธิภาพ เช่น การออกมารวมตัวชุมนุมบนท้องถนน

การเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นเร้าให้พลเมืองกลับมาตื่นตัวทางการเมืองอีกครั้ง

ทั้งยังจะก่อให้เกิดการแข่งขันเข้มข้น ในระดับพื้นที่, จังหวัด และภูมิภาค

ตลอดจนการขับเคี่ยวแย่งชิงความนิยมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ

ทั้งระหว่างพรรคการเมืองต่างขั้ว หรือพรรคการเมืองในขั้วเดียวกันเอง

อันจะนำไปสู่ดุลอำนาจที่เปลี่ยนแปลงในที่สุด

 

ถ้าสองข้อแรก คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นอุบัติขึ้นแล้ว

อีกข้อหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด แต่มีแนวโน้มจะต้องเปลี่ยนแปลง ก็ได้แก่ 250 ส.ว. ซึ่งมีตำแหน่งแห่งที่อันตั้งมั่นแน่นิ่ง ตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญ 2560

อย่างไรก็ดี สภาพแวดล้อมทางการเมืองหรืออารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคม (จากชนชั้นรากหญ้าขึ้นไปถึงชนชั้นนำจำนวนไม่น้อย) ที่ผันแปรไป

รวมถึงความล้มเหลวของ (คณะ) ผู้นำ ที่ฝ่ายอนุรักษนิยม-ฝ่ายขวายกแผง เคยไว้วางใจและเลือกสรรมาเป็นอย่างดี โดยมี ส.ว.โหวตสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง

จะเป็นแรงบีบคั้นกดดันให้ 250 ส.ว. ต้องเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองของตนเอง (ถ้าไม่ต้องการให้คนอื่นเข้ามาเปลี่ยนหรือยุบเลิก ส.ว.ทิ้งเสีย)

แม้ชะตากรรมของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะยังไม่ได้มีบทสรุปที่แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การเมืองไทยร่วมสมัยก็กำลังออกตัวเคลื่อนหน้าเข้าสู่หมุดหมายต่อไปเรียบร้อยแล้ว •