‘8 ปี’ ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘8 ปี’ ในอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน

 

ประเด็นว่าด้วยการครบวาระ 8 ปี ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจไม่ได้ข้องเกี่ยวกับปัญหาเชิงเทคนิคของการเขียนกฎหมาย หรือวิธีการตีความรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการเดินเกมระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองทุกฝ่าย เพียงเท่านั้น

ทว่า คำถามที่สำคัญไม่แพ้กัน (หรืออาจสำคัญกว่า) ก็คือ สภาพสังคมการเมืองไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ได้นำไปสู่อารมณ์ความรู้สึกแบบใดของผู้คนส่วนใหญ่?

 

8 ปีที่ยาวนานเกินความคาดหวัง

ย้อนไปในปี 2557 ไม่ว่าจะยอมรับหรือคัดค้านรัฐประหาร หลายคนล้วนมองออกว่า การเข้ามายึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.นั้นมี “หน้าที่” (ฟังก์ชั่น) บางอย่างในทางการเมือง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งสำคัญ

แต่ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในอำนาจนานถึง 8 ปี หรือพยายามยื้ออำนาจไว้เนิ่นนานขนาดนี้

เป็นช่วงเวลาอันยาวนาน เสียจนกระทั่ง “หน้าที่แรกสุด” เพียงประการเดียว ไม่สามารถประคับประคองความชอบธรรมทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเอาไว้ได้

“กองเชียร์บิ๊กตู่” จำนวนหนึ่งจึงเริ่มคาดหวังว่า นายกฯ ของพวกเขาควรจะทำ “หน้าที่ประเภทอื่นๆ” ได้ดีด้วย

แต่ความเป็นจริงกลับดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม และคุณประโยชน์ที่จำกัดจำเขี่ยของผู้นำประเทศ ก็ยิ่งช่วยขับเน้นให้คนหลายกลุ่มตระหนักคล้ายๆ กันว่า นายกรัฐมนตรีคนนี้อยู่ในตำแหน่งนานเกินไปแล้ว

 

8 ปีที่ปราศจากความเปลี่ยนแปลง

แม้หลายคนจะเปรียบเทียบ “8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์” กับ “8 ปีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” แต่อย่างน้อย เรามิอาจปฏิเสธได้ว่า ใน “ยุคเปรม” มีพัฒนาการสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจเกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะด้วยความสามารถของรัฐบาลเอง และ/หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่เกื้อหนุนก็ตาม

แต่ “8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์” ไม่ได้ก่อให้เกิดสภาวการณ์เช่นนั้น ในทางกลับกัน การเมืองไทยกลับถอยหลังลงคลองจากช่วงทศวรรษ 2540 การบริหารประเทศถูกขับเคลื่อนด้วยรัฐราชการ แม้ทุนใหญ่ๆ จะร่ำรวยขึ้นชนิดก้าวกระโดด ทว่า โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจกลับไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบและเห็นภาพชัดเจน

ยิ่งพอต้องประสบกับภาวะ “โควิดระบาด” ต่อเนื่องหลายปี ความหวังของคนเล็กคนน้อยและผู้ประกอบการระดับกลางจำนวนมากก็ยิ่งมอดดับไป

 

8 ปีที่คลี่เผยปัญหาใต้พรม

การย้อนยุคของรัฐไทยโดยรวม การดำรงอยู่ของรัฐบาลประยุทธ์ และการยุบทำลายทางเลือกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ได้ปลุกพลังขบถของเหล่าเยาวชน ให้ลุกฮือขึ้นมาตั้งคำถามแหลมคมใส่ “ระบอบอำนาจ” ทั้งแผง

นี่คือมรดกตกทอดของความขัดแย้งตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2540 ที่ค่อยๆ คลี่คลายขยายตัวจากการปะทะกันระหว่างคนเมืองกับคนชนบท หรือคนเสื้อเหลือง/เป่านกหวีดกับคนเสื้อแดง

มาสู่อาการตื่นตัวกระตือรือร้นและการหันไปหาแนวคิดก้าวหน้าของลูกหลานคนชั้นกลาง-คนชั้นสูงในเขตเมือง ที่ไม่แน่ใจว่า สังคมไทยแบบที่เห็นอยู่นี้คือสังคมที่พวกเขาใฝ่ฝันถึงจริงๆ หรือ? การเมืองไทยแบบนี้คือการเมืองสำหรับพวกเขาจริงๆ หรือ?

เวลาเราบอกว่ามีความแตกแยกเกิดขึ้นในหมู่ “ชนชั้นนำ” นั่นอาจไม่ได้กินความเพียงแค่การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างผู้มีอำนาจอายุเกิน 60 ปี

แต่อาจหมายถึงปรากฏการณ์ที่ลูกหลานของบุคคลในแวดวงอำนาจเหล่านั้น เริ่มรู้สึกแปลกแยกกับพ่อแม่ปู่ย่าตายายของตนเอง และไม่อยากสืบทอดวิธีการใช้อำนาจ-แสวงหาผลประโยชน์ของคนรุ่นก่อนอีกแล้ว

8 ปีที่ย้อนกลับไปหาความฟอนเฟะในสถาบันการเมือง

ด้านหนึ่ง การเลือกตั้งปี 2562 ได้ช่วยยืนยันหนักแน่นว่าพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยยังได้รับคะแนนนิยมสูงสุด แถมมีพรรคประชาธิปไตยทางเลือกใหม่สามารถแจ้งเกิดได้อีก 2-3 พรรค ขณะเดียวกัน เราก็เริ่มมองเห็นที่ทางของคนรุ่นใหม่ในสถาบันการเมือง

แต่อีกด้าน การเมืองไทยหลังปี 2562 ก็แสดงให้เห็นว่าคะแนนเสียงของประชาชนสามารถถูกบิดเบือนเจตนารมณ์ได้ด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การเกิดรัฐบาลผสมเกินสิบพรรค เกิดเรื่องเล่าว่าด้วย “ลิงกินกล้วย” และ “งูเห่า” ส่วนพรรคเล็กหนึ่งเสียงจำนวนมาก ก็กลายเป็นทั้งปัจจัยพลิกผันและตัวตลก (ร้าย) ทางการเมือง

น่าเศร้าใจที่ว่าความผันผวนนานัปการ (ล่าสุดคือการเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งไปมา) และการต่อรอง-แลกรับประโยชน์กันอย่างโจ่งแจ้งของนักการเมืองบางส่วนนั้น ล้วนบังเกิดขึ้นเพื่อค้ำจุนคณะผู้ครองอำนาจให้มีสถานภาพมั่นคงดังเดิม

 

8 ปีที่นำไปสู่ความหวัง

ความรู้สึกว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป ย่อมบีบให้ประชาชนต้องพยายามเสาะหาช่องทางของการเปลี่ยนแปลงด้วยมือพวกเขาเอง

ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ ผ่านผลการเลือกตั้งซ่อมระยะหลัง รวมถึงผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ส่งสารหนักแน่นว่า คนเมืองส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาลและนายกฯ และพวกเขากำลังปรารถนา “ผู้นำใหม่” แบบไหน

ตลอดจนผลโพลการเมืองของหลายสำนัก ที่บ่งบอกว่าผู้คนจำนวนมากกำลังเอือมระอาอึดอัดกับ “ห้วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมา”

อารมณ์ความรู้สึกของประชาชน และปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นี่แหละ ที่เป็นมาตรวัดอันแท้จริงว่า อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรดำเนินไปสู่ทิศทางใด? •