เรื่องดีๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

เรื่องดีๆ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

มีโอกาสนั่งชมการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้อย่างค่อนข้างต่อเนื่อง

โดยรวมรู้สึกว่า ส.ส.ฝ่ายค้าน ทำหน้าที่กันได้ดี

สำหรับพรรคเพื่อไทย แม้คอการเมืองบางส่วนอาจมองว่าไม่มี ส.ส.คนไหน ที่อภิปรายได้แหลมคมถึงขีดสุด และ ส.ส.ส่วนใหญ่ยังอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยใช้แนวทางของการประมวลข่าวการเมืองใหญ่ๆ-รวบรวมปัญหาในชีวิตประจำวันของประชาชน มาบอกกล่าวในสภา

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่า นี่คือวิธีการสื่อสารทางการเมืองที่ยังใช้มัดใจคนส่วนใหญ่เอาไว้ได้มากที่สุด

ถ้าสื่อมวลชนสำนักไหนตัดคลิปอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ลงในโซเชียลมีเดีย เช่น ยูทูบ ก็จะพบว่าคลิปอภิปรายของ ส.ส.รุ่นเก๋าจากพรรคเพื่อไทย ที่พูดจาแบบแตะปัญหานู่นนิดนี่หน่อยไปเรื่อยๆ นั้นมียอดวิวสูงมาก

หากให้ลงรายละเอียด ผมจะชอบการอภิปรายของ “จิราพร สินธุไพร” ที่มีทักษะในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก แล้วนำมาเรียงร้อยเข้ากับการสื่อสารแบบเข้าใจง่ายๆ ได้ค่อนข้างลงตัว จนมีภาพลักษณ์เป็น ส.ส.ผู้เชี่ยวชาญปัญหาเฉพาะด้าน (กรณีเหมืองทองอัครา)

ผู้อาวุโสของเพื่อไทยที่มีลีลาการอภิปรายคล้ายคลึงกับจิราพร คือ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” เลขาธิการพรรค ที่นำเอาข้อมูลหลักฐานมาตรวจสอบการใช้งบฯ กลางของนายกรัฐมนตรี และการปฏิบัติงานของรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้อย่างน่ารับฟัง

โดยส่วนตัวแอบรู้สึกเสียดายนิดหน่อย ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งมีศักยภาพสูงของเพื่อไทย เช่น “ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์” และ “ศรัณย์ ทิมสุวรรณ” ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยแนวทางการประมวลข่าว-รวบรวมปัญหาอันหลากหลาย

เพราะถ้า ส.ส.เพื่อไทย รุ่นใหม่ๆ บางส่วน หันมาโฟกัสที่ประเด็นปัญหากรณีใดกรณีหนึ่งอย่างจริงจัง โทนการอภิปรายโดยรวมของพรรคก็น่าจะยกระดับความเข้มข้นได้มากขึ้นไปอีก

 

ขณะเดียวกัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ก็เป็นอีกหนที่พิสูจน์ความแหลมคมของพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ส.ส.ก้าวไกล หลายคนที่พูดในสภาได้ดีมาก และได้รับเสียงชื่นชมจากผู้สนใจการเมือง-นักเคลื่อนไหวบางส่วนนั้น ยังมิได้อยู่ในเรดาร์การรับรู้ของประชาชนวงกว้าง พิสูจน์จากยอดดูคลิปการอภิปรายของพวกเขาตามโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ซึ่งมีความนิยมระดับ “ปานกลาง”

ถัดจาก “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” แล้ว ดูเหมือน ส.ส.ก้าวไกล ที่มีทักษะในการใช้ถ้อยคำดึงดูดความสนใจของมหาชนได้อย่างสม่ำเสมอ จะมีอยู่แค่ “รังสิมันต์ โรม” “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” และ “ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์”

อีกเรื่องที่ยากปฏิเสธ คือ หลายคนที่ติดตามวิธีการทำงานในสภาของก้าวไกล อาจย้อนนึกถึง “ข้อดี-จุดเด่น” ของพรรคประชาธิปัตย์ช่วงกลางทศวรรษ 2530 ถึงกลางทศวรรษ 2540 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการเจาะลึกขุดค้นข้อมูลของภาครัฐ แล้วหยิบมาถ่ายทอดด้วยวาทศิลป์ที่โดนใจปัญญาชน-คนชั้นกลาง

(กระนั้นก็ดี เราคงไม่อาจกล่าวหาว่าก้าวไกลเป็น “สลิ่ม/แมลงสาบสาขา 2” ได้ เพราะพวกเขาคือหนึ่งในพรรคการเมืองที่ยึดมั่นกับหลักการเมืองประชาธิปไตยมากที่สุดในยุคปัจจุบัน)

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจหนสุดท้ายนี้ ส.ส.ก้าวไกล ที่ทำผลงานได้โดดเด่นก็เห็นจะเป็น “ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล” และ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ซึ่งนำเอาข้อมูลที่สาธารณชนไม่รับรู้ มาเปิดเผยนำเสนอได้อย่างน่าติดตาม (และคนถูกอภิปรายก็ชี้แจงตอบโต้ได้ไม่เต็มปากเต็มคำ)

ขณะที่บรรดาดาวสภาของก้าวไกลก็ยังทำหน้าที่ได้ดีดังเดิม เริ่มตั้งแต่อมรัตน์ ซึ่งเล่นกับข้อมูลเชิงลึกได้ไม่แพ้ปกรณ์วุฒิและพิจารณ์ (ด้วยโจทย์สำคัญที่ว่าภาครัฐสามารถดำเนินการ “โครงการที่ไม่ควรข้องเกี่ยวกับเรื่องทุจริต” ให้ถูกตั้งข้อครหาว่าอาจทุจริตได้อย่างไร) เช่นเดียวกับการตรวจสอบ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ของณัฐชา

ถึงแม้ข้อมูลที่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดของรังสิมันต์ รวมถึง “เบญจา แสงจันทร์” จะไม่ร้อนแรงเท่าหนก่อนๆ แต่ทั้งคู่ยังคงสื่ออารมณ์ความรู้สึกอัดอั้นตันใจแห่งยุคสมัยและส่งสารท้วงติงไปสู่ระบอบอำนาจทั้งแผง ได้อย่างหนักแน่นมั่นคง

อีกคนที่อภิปรายได้จับใจประชาชนหมู่มาก คือ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ที่วิพากษ์บทบาทด้านการต่างประเทศของนายกฯ โดยไม่ได้มุ่งเน้นไปยังข้อโจมตีเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษหรือบุคลิกภาพในเวทีการทูตระดับอินเตอร์ แต่เขากลับเลือกฉายภาพความสัมพันธ์ (ไม่ปกติ) ระหว่างผู้นำไทยกับเผด็จการเพื่อนบ้าน ว่าอาจส่งผลต่อกระบวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร

 

เอาเข้าจริง ยังมี ส.ส.ฝ่ายค้านคนอื่นๆ อีก ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างน่าสนใจ เช่น “นิคม บุญวิเศษ” จากพรรคพลังปวงชนไทย ซึ่งสร้างภาระหนักหนาสาหัสให้ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ได้มากพอสมควร

ทว่าก็มี ส.ส.จำนวนหนึ่ง ที่ถือทรัพยากรเด็ดอยู่ในมือ แต่กลับถ่ายทอดมันออกมาเป็นลีลาวาทศิลป์อันทรงพลังไม่ได้ เช่น ทีม ส.ส.จากพรรคประชาชาติ ที่อภิปราย รมว.คมนาคม ร่วมกันกับปกรณ์วุฒิ หรือ “วิรัตน์ วรศสิริน” ส.ส.เสรีรวมไทย ที่ได้ข้อมูลเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของทหารบริเวณชายแดนภาคตะวันออกมาจาก “วีระ สมความคิด”

สำหรับเนื้อหาการพูดจาของฝ่ายรัฐบาลนั้น งานเขียนชิ้นนี้คงไม่ขอลงรายละเอียดมาก

เพราะสิ่งที่นายกฯ และรัฐมนตรีส่วนใหญ่ชี้แจงในสภาก็ดี นัยยะของคะแนนโหวตก็ดี การก้มลงกราบเท้า “บิ๊กป้อม” ของ “ส.ส.ระดับตุ๊กตาทอง” ก็ดี หรือการโยนหินถามทางเรื่องการเปลี่ยนแปลง “สูตรเลือกตั้ง” (อีกแล้ว) ก็ดี

ล้วนบ่งบอกว่าพวกท่านมีแนวโน้มที่จะสื่อสารกับตัวเองหรือสื่อสารกันเอง เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองของตนเองเป็นหลัก

โดยไม่ได้ตั้งใจที่จะบอกกล่าวอะไรกับประชาชนแต่อย่างใด •