ฐากูร บุนปาน : 6ตุลา-อาจารย์ยิ้ม และสิ่งที่”ทรัมป์”อยากจะขาย “บิ๊กตู่”

ในฐานะอดีตนักเรียนวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่จบมาอย่างกระท่อนกระแท่น

แต่ยังอุตส่าห์จำที่ครูบาอาจารย์แทบทุกท่านพยายามพร่ำสอนหลักการสำคัญเอาไว้ว่า

ในการดำเนินนโยบายระหว่างรัฐต่อรัฐนั้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหนก็ล้วนยึดเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้งด้วยทั้งสิ้น

จะมาแบบหน้ายิ้มแต่ซ่อนมีดไว้ข้างหลัง

หรือจะมาแบบตึงตังชัดเจนว่าชาติข้า-คนของข้าต้องมาก่อน แบบ คุณโดนัลด์ ทรัมป์

ในเนื้อหาสุดท้ายก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น ขณะที่ฝ่ายไทยแถลงผลการพบปะพูดคุยของผู้นำทั้งสองประเทศเอาไว้สวยหรู

ประเภทนโยบาย America First สอดคล้องกับไทยแลนด์ 4.0 บ้าง

จะให้สิทธิประโยชน์นักลงทุนสหรัฐเท่านักธุรกิจหรือพ่อค้าไทยบ้าง

ไปจนกระทั่งสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับเกาหลีเหนือตามแนวทางสหประชาชาติบ้าง

คุณทรัมป์แกก็พูดตรงๆ ตามประสาพ่อค้าที่มาสวมบทนักการเมืองว่า

“ผมคิดว่า ถ้าเป็นไปได้ เราน่าจะพยายามขายของให้กับคุณมากขึ้นอีกสักหน่อย”

ซึ่งก็น่าให้แกพูดอย่างนั้น เพราะก่อนจะเข้าพบกัน สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐรายงานว่า เมื่อปีที่แล้วสหรัฐขาดดุลการค้าไทย 18,900 ล้านดอลลาร์

มากที่สุดเป็นอันดับ 11 ในบรรดาประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐ

ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีประเด็นที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและอาหารสัตว์ของไทยทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาส่งเสียงคัดค้านพร้อมๆ กัน

ไม่ให้นำเข้าหมูจากสหรัฐตามแรงกดดันของมหาอำนาจชาตินี้

มีการยกตัวอย่างกรณีเปิดตลาดเนื้อหมูและสินค้าเกษตรของเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ต้องยอมอ่อนข้อให้สหรัฐ

ว่าสุดท้ายแล้วเกษตรกรรายเล็กรายน้อยของทั้งสองประเทศล้มหายตายจากกันไปมากขนาดไหน มาให้ดูเป็นตัวอย่างด้วย

คำถามก็คือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความยืดหยุ่น-มีประสิทธิภาพในการรับมือกับแรงกดดันที่มาจากทั้งนอกและในอย่างนี้มากน้อยขนาดไหน

วัดมือกันละครับ

ย้อนกลับมาค่อนโลกถึงบ้านเรา

ศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ซึ่ง “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้วางตลาด คือวันครบรอบ 41 ปีของเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

หนึ่งในการล้อมฆ่ากลางเมืองครั้งใหญ่ของสังคมไทย

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553

แม้จะผ่านมา 41 ปี แต่ยังมีซอกหลืบและมุมมืดในประวัติศาสตร์ให้ขุดค้นและขุดคุ้ยอยู่อีกนับเรื่องไม่ถ้วน

นี่ขนาดผ่านไป 4 ทศวรรษแล้ว

ผู้ผ่านเหตุการณ์นั้น จากวัยรุ่นไฟแรงเปี่ยมพลัง ก็ล่วงเลยและร่วงโรยกลายเป็นผู้อาวุโสที่มากด้วยบาดแผลและประสบการณ์

บ้างก็ปลิดปลิวจากขั้วไปตามกฎของธรรมชาติ

ล่าสุดก็คือ “อาจารย์ยิ้ม” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้เรียกตัวเอง (และคนอื่นๆ ก็สมัครใจเรียกด้วยความเต็มใจ) ว่า “ราษฎรบัณฑิต”

เพราะทั้งชีวิตคือการคลุกอยู่กับชาวบ้าน ผู้ด้อยโอกาส คนถูกรังแก

ให้หมดทั้งแรงกาย แรงสมอง และหลายครั้งก็ถกข้อลงมือเอง

มีคนไปร่วมอาลัยอาจารย์แน่นขนัดลานวัด

หวังว่าการร่วมรำลึกถึงอาจารย์ จะทำให้อุดมการณ์ “นักวิชาการติดดิน” ฟื้นคืนกลับ

และงอกงามยั่งยืนต่อไปในสังคมไทย

ถ้าเหตุการณ์ 6 ตุลา ผ่านมา 4 ทศวรรษแล้ว ยังมีคนไม่ลืม ยังมีคนสนใจที่จะติดตามสืบค้นหาความจริงต่อไป

ก็ยังพอมีความหวังอยู่บ้างละครับว่า เหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ในสังคมไทย ที่ถูก “ทำให้ลืม” ไม่ว่าจะเป็นพฤษภาคม 2535 หรือเมษายน-พฤษภาคม 2553 จะไม่ถูกลืมไปจริงๆ

จะยังมีผู้ค้นคว้าตามหาความจริงให้ปรากฏให้ได้

เพราะมีแต่การเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงที่รอบด้านเท่านั้น ถึงจะทำให้สังคม “ก้าวผ่าน” บาดแผลนี้ไปได้

กระบวนการทำให้ลืมหรือกด-ซุกความจริงเอาไว้ มีแต่จะทำให้เกิดภาวะคับข้อง อัดอั้น

และไม่มีอะไรมาช่วยเตือนใจเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาทำนองเดียวกันเกิดขึ้นมาใหม่

เว้นแต่ว่าสังคมไทยจะสนุกกับการลุกขึ้นมาฆ่ากัน

นั่นก็อีกเรื่อง