การเมืองเรื่อง ‘วันสำคัญ’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

การเมืองเรื่อง ‘วันสำคัญ’

 

หลายท่านอาจตั้งข้อสังเกตคล้ายๆ กันว่า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนั้น เรามี “วันสำคัญ” หรือ “วันหยุด” เป็นจำนวนมาก

สำหรับใครที่อยากครุ่นคิดถึงประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขออนุญาตแนะนำให้อ่านหนังสือ “ความทรงจำใต้อำนาจ : รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน” ของ “ชนาวุธ บริรักษ์” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

ในบทสุดท้ายของหนังสือเล่มดังกล่าว ชนาวุธได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเมืองเรื่อง “วันสำคัญ” บนหน้าปฏิทินเอาไว้อย่างแหลมคมน่าสนใจ

ดังจะขอคัดลอกเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอ ณ ที่นี้

 

“การกำหนด ‘วันสำคัญ’ บนหน้าปฏิทินไม่ใช่เพียงแค่การมี ‘วัน’ ปรากฏบนหน้าปฏิทินเท่านั้น หากแต่การกำหนด ‘วันสำคัญ’ จะทำให้ผู้คนในสังคมได้หมายรู้ว่า ‘วันนั้นในอดีต’ มีความหมายสำคัญ และความเป็นมาอย่างไร เพื่อที่จะทำให้ผู้คนในปัจจุบันกาลตระหนักและสำนึกว่าตนเองควรจะต้องปฏิบัติตัวและมีความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไรในช่วงเวลานั้นและสืบต่อไปในอนาคต

“กระบวนการกำหนด ‘วันสำคัญ’ บนหน้าปฏิทินจึงเป็นการเมืองอย่างยิ่งในการจัดรูปของรัฐและจัดความสัมพันธ์ของผู้คนในรัฐ เพราะเป็นกลไกทางการเมืองวัฒนธรรมที่ร้อยประสานผู้คนให้สร้างความหมายร่วม/ความสำนึกร่วมกันในการดำรงชีวิตในสถานะชีวิตหนึ่งในสังคม…

“จากจุดกำเนิดของประดิษฐกรรมบนหน้าปฏิทินชิ้นนี้ที่เกิดขึ้นมายาวนานนับศตวรรษจะเห็นได้ว่า สิ่งนี้ได้เป็นกลไกเบื้องหลังที่คอยกำหนดสำนึกความทรงจำของพลเมืองในแต่ละช่วงเวลาตลอดมา

“แม้ว่าสิ่งดังกล่าวนี้ไม่สามารถที่จะเห็นถึงการ ‘สร้าง’ พลเมืองอย่างเด่นชัดเป็นรูปธรรม (ไม่เท่ากับการเปลี่ยนแปลง ‘เสื้อผ้า’ ‘ภาษา’ ‘ความประพฤติ’ ฯลฯ) แต่ประดิษฐกรรมบนหน้าปฏิทินนี้ก็ได้ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดที่เป็นส่วนประกอบของความสัมพันธ์ของคนภายในสังคม

“อีกทั้งยังสะท้อนถึงรูปแบบความสัมพันธ์ภายในสังคมรัฐไทยในแต่ละช่วงเวลานั้นๆ อีกด้วย กล่าวได้ว่าประดิษฐกรรมชิ้นนี้เป็นทั้งเครื่องสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ ‘ชาติ’ พ้นภัยจากทั้งภายในและภายนอก รวมถึงการสร้างความแตกแยกให้แก่สังคมได้อย่างมหาศาล

“ดังนั้น ความเป็นพลเมืองของชาติไทยจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทุกท่วงทำนองของชีวิตจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของปฏิทินไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำให้สำนึกความทรงจำของ ‘พลเมืองไทย’ อาจจะไม่ใช่ของ ‘พลเมืองไทย’ อย่างแท้จริง แต่ได้ถูกสร้างขึ้นมาผ่านกรอบของปฏิทินที่อยู่รอบตัว เพื่อสร้าง ‘ความเป็นพลเมืองไทย’ ขึ้นมา”

“ความทรงจำใต้อำนาจ : รัฐ ราชวงศ์ พลเมือง และการเมืองบนหน้าปฏิทิน” ผู้เขียน : ชนาวุธ บริรักษ์

“ผู้เขียนไม่มีคำตอบต่อทางออกของ ‘วิกฤตสำนึกความทรงจำ’ ของรัฐไทยที่สืบเนื่องมาจากช่วงปลายทศวรรษ 2540 อย่างชัดเจนมากนัก

“ซึ่งหากจะย้อนกลับไปใช้รูปแบบสำนึกความทรงจำเก่าที่ถูกสร้างขึ้นมาจากทศวรรษ 2520 (ดังที่คณะรัฐประหาร พ.ศ.2549 และ 2557 ได้พยายามกระทำ) ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่สูญเปล่า เนื่องจากมีพลเมืองเป็นจำนวนมากหลุดออกไปจากสำนึกความทรงจำในรูปแบบดังกล่าวนี้เสียแล้ว

“ขณะเดียวกัน หากจะให้ความสำคัญกับสำนึกทางการเมืองแบบมวลชน (ดังที่รัฐบาลแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้กระทำ) ก็จะเห็นว่าสำนึกความทรงจำเก่าก็ไม่อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ได้โดยง่าย ซึ่งทำให้ความขัดแย้งอาจจะดำเนินไปสู่ความบานปลายได้ในที่สุด

“สำหรับเรื่อง ‘วันสำคัญแห่งชาติ’ จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษามาก็ทำให้เกิดคำถามด้วยว่า ‘วันสำคัญแห่งชาติ’ ของรัฐไทยควรเป็นแบบใด

“ซึ่งจากที่ได้อธิบายถึงวันสำคัญต่างๆ จะเห็นได้ว่าวันสำคัญแห่งชาติมีจุดอ้างอิงในสำนึกความทรงจำกับประชาชนที่น้อยมาก ดังนั้น การคืนสำนึกความทรงจำและวันสำคัญแห่งชาติให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีวันสำคัญแห่งชาติที่มีสำนึกความทรงจำเชื่อมโยงถึงพลังของประชาชนที่มากขึ้น อาจจะทำให้ประชาชนภายในรัฐไทยได้รับการให้ความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

“และประชาชนยังสามารถที่จะใช้พื้นที่ของวันสำคัญเหล่านั้นในการต่อรองกับรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวนี้ก็ไม่ต่างจากการเปลี่ยนเครื่องพันธนาการชิ้นเก่ามาสู่เครื่องพันธนาการชิ้นใหม่

“เนื่องจากสำนึกความทรงจำของวันสำคัญแห่งชาติเหล่านั้นจะย้อนกลับมาเป็นตัวกำหนดพลเมืองอีกทีหนึ่ง ซึ่งยังไม่รวมถึงการถูกแย่งชิงพื้นที่ในการนิยามความหมายของวันสำคัญ ซึ่งอาจจะทำให้พลังของประชาชนถูกใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม

“ดังนั้น เราจึงควรหันกลับมาตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของวันสำคัญแห่งชาติด้วยหรือไม่ว่า เรามีวันสำคัญแห่งชาติไปเพื่ออะไร และทำไมเราจึงต้องมีวันสำคัญแห่งชาติ…” •