‘นิวโหวตเตอร์’ คือใครบ้าง? / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘นิวโหวตเตอร์’ คือใครบ้าง?

 

สังคมการเมืองไทยร่วมสมัยเริ่มสนใจกลุ่มประชากรที่ถูกนิยามให้เป็น “นิวโหวตเตอร์” เพราะผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ได้ ส.ส. ในจำนวนมากมายเกินความคาดคิดของผู้สันทัดกรณีทุกราย

ข้อมูลสถิติหลายอย่างบ่งชี้ว่าฐานคะแนนส่วนใหญ่ของพรรคอนาคตใหม่มาจาก “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ซึ่ง (หนึ่ง) รู้สึกเบื่อ-เกิดแนวคิดต่อต้านระบอบเผด็จการทหารและการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และ (สอง) มีความเห็นว่าพรรคการเมืองเดิมๆ (แม้จะมีจุดยืนประชาธิปไตย) ไม่ได้ตอบโจทย์ของพวกเขา

หลังจากนั้น “นิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่” ดูจะเป็นแนวความคิดที่ทรงพลังทางการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเกิดการชุมนุมของม็อบ “สามนิ้ว-คณะราษฎร 2563” ระหว่างปี 2563-64

การชุมนุมของ “คนรุ่นใหม่” สามารถปักธงทางความคิดและเปิดพื้นที่การต่อสู้ใหม่ๆ ได้อย่างน่าทึ่ง กระทั่งผลพวงจากการยุบพรรคอนาคตใหม่แผ่ขยายไปสู่การตั้งคำถามในเรื่องสำคัญอื่นๆ เกินการคาดเดา การประเมินสถานการณ์ และประสบการณ์อันจำกัดจำเขี่ยของผู้หลักผู้ใหญ่หลายคน

มีนักวิชาการ (ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล) ที่นิยาม “คนรุ่นใหม่” กลุ่มนี้ว่าเป็น “คนรุ่นโบว์ขาว” ซึ่งมีความรู้ ความคิด และความคาดหวัง แตกต่างหรืออาจถึงขั้นแตกหักจากผู้ใหญ่ “รุ่นสงครามเย็น” ที่ยังครองอำนาจในบ้านเมือง

เมื่อพิจารณาที่ความต่อเนื่องเชื่อมโยงในแง่มุมดังกล่าว “นิวโหวตเตอร์-คนรุ่นใหม่-คนรุ่นโบว์ขาว” จึงมักถูกมองเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวอันแข็งแกร่งและเป็นปึกแผ่น ของเยาวชนคนหนุ่มสาว-ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ตื่นตัว ตื่นรู้ และกล้าหาญทางการเมือง

 

คำว่า “นิวโหวตเตอร์” หวนกลับมาถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางอีกครั้ง ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565

เมื่อมีนักวิชาการบางส่วนเสนอว่า “นิวโหวตเตอร์” ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ หนนี้ ซึ่งมีอยู่ราว 7 แสนคน อาจเป็นจุดชี้ขาด-จุดพลิกผันสำคัญของผลการเลือกตั้ง และเป็นเครื่องมือทำนายอนาคตของการเมืองระดับชาติไปในตัว

คำถามน่าคิด ก็คือ เรายังสามารถมองหรือวิเคราะห์ “นิวโหวตเตอร์” ณ ปี 2565 ในฐานะกลุ่มพลังที่มีความสืบเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ “นิวโหวตเตอร์” เมื่อการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 และการก่อตัวของม็อบ “คนรุ่นใหม่” ได้อยู่หรือไม่?

กระบวนการแสวงหาคำตอบของคำถามข้อนี้อาจยุ่งยากมากขึ้น เหมือนเราเผชิญหน้ากับข้อสังเกตใหม่ๆ อย่างน้อยสองประการ

ข้อสังเกตแรก ต่อให้ “นิวโหวตเตอร์” ประมาณ 7 แสนรายในการเลือกตั้ง กทม. มีความต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อนเดียวกับ “พลังคนรุ่นใหม่” ในการเลือกตั้งทั่วไปหนก่อน และระลอกคลื่นการเคลื่อนไหวของเยาวชนตลอดหลายปีหลังจริงๆ

จุดที่แตกต่างไปก็มีอยู่ว่า อย่างน้อยในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้ บรรดา “นิวโหวตเตอร์” มีทางเลือกมากกว่าหนึ่งทาง

กล่าวคือพวกเขามี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นตัวเลือกแรก และมี “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เป็นตัวเลือกถัดไป

ข้อสังเกตประการถัดมา คือคำถามย่อยว่า “นิวโหวตเตอร์” ณ ปัจจุบัน ได้ขยับขยายขอบเขตออกไปไกลจากพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล และม็อบสามนิ้ว แค่ไหน? อย่างไร?

ข้อสังเกตหลังนี้ผุดขึ้นมาจากปรากฏการณ์น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ซึ่งเหมือนจะยังไม่ค่อยมีใครคิด วิเคราะห์ ศึกษากันอย่างจริงจังลึกซึ้งนัก นั่นคือการที่พรรคเพื่อไทยพยายามปรับจูนตนเองเข้าหา “คนรุ่นใหม่” ผ่านการสร้าง “วัฒนธรรมแฟนคลับ ส.ส.”

ในแง่หนึ่ง บางคนอาจมองว่า “คนรุ่นใหม่” ที่เข้ามารวมตัวเป็นแฟนคลับนักการเมืองบางราย ไม่ได้มุ่งตั้งคำถามเชิงโครงสร้างอย่างหนักแน่นเด่นชัด เท่ากับกลุ่มก้อนของ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งตื่นรู้ทางการเมืองในช่วงปี 2562-64

แต่ก็คงเป็นการด่วนสรุปเร็วเกินไปเช่นกัน ถ้าจะเร่งรีบประเมินว่า “คนรุ่นใหม่” เหล่านี้ ไม่สนใจหรือไม่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองเอาเลย

และที่สำคัญ “คนรุ่นใหม่” ที่ประกาศตนเป็นแฟนคลับ ส.ส.เพื่อไทย ซึ่งดูจะทวีจำนวนมากขึ้นในโซเชียลมีเดียนั้น ย่อมถือเป็น “นิวโหวตเตอร์” ด้วยแน่ๆ

(ส่วนพวกเขาจะเป็น “โหวตเตอร์” ในพื้นที่ไหนบ้าง? อยู่ในเขตกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดมากกว่ากัน? นี่ก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งน่าสืบหาไม่น้อย)

 

ไปๆ มาๆ คำว่า “นิวโหวตเตอร์” ที่เราใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงมีความหมายที่ลื่นไหล หลากหลาย คลุมเครือ ไม่ตายตัว มากขึ้นตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะวิเคราะห์ว่าคะแนนเสียงของพวกเขาอาจเทไปทางไหนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

บางที เราอาจต้องมาหาคำจำกัดความหรือคำนิยามกันให้ชัดๆ เสียก่อน ว่า “นิวโหวตเตอร์” ณ ปัจจุบัน นั้นหมายถึงใคร? กลุ่มไหนบ้าง? •