ขอทำงานต่อ? : คำประกาศของผู้นำ และ ‘ชีวิต’ ขององค์กร / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ขอทำงานต่อ?

: คำประกาศของผู้นำ และ ‘ชีวิต’ ขององค์กร

 

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินคำพูดประเภท “ขอทำงานต่อ” หรือ “ขอสานต่อสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ” ดังออกมาจากปากของผู้นำระดับต่างๆ

อันนี้ไม่ได้เจาะจงเฉพาะการหาเสียงในศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไป

ไม่ได้จำกัดวงแคบๆ อยู่ที่เรื่องการเมืองระดับชาติหรือผู้นำรัฐบาล

แต่ยังรวมถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับองค์กร หน่วยงาน สถาบันต่างๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนด้วย

เมื่อได้ยิน “ผู้มีอำนาจ” หรือ “ผู้ขออำนาจ” เอื้อนเอ่ยวลี “ขอทำงานต่อ” หรือ “ขอสานต่องาน” กับสาธารณะ ข้อสงสัยหรือคำถามบางประการก็ย่อมบังเกิดขึ้นตามมา

ประการแรก แทบทุกครั้ง คนที่ประกาศว่า “ขอทำงานต่อ” หรือ “สานงานเก่าให้สำเร็จ” มักสื่อสารเรื่องดังกล่าวในฐานะ “ปัจเจกบุคคล”

ทว่า ผลลัพธ์ของการ “ทำงานต่อ-สานงานเก่า” กลับดูจะผูกพันกับองค์กร ผูกพันกับผู้ปฏิบัติงานรายอื่นๆ และผูกพันกับคนทั่วไปอีกมากมาย ที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับกระบวนการทำงานนั้นๆ

ด้วยเหตุนี้ การจะได้ “ทำงานต่อ” หรือไม่ จึงไม่ใช่ปัญหา-ความท้าทายของปัจเจกบุคคลคนเดียว หรือคณะบุคคลกลุ่มเดียว แต่ยังเชื่อมร้อยกับชะตากรรม-การตัดสินใจของผู้คนอีกเป็นจำนวนมาก

 

ประการถัดมา ถ้าหากองค์กร หน่วยงาน สถาบันใดๆ อุปมาเป็นเหมือน “สิ่งมีชีวิต”

หลายครั้งหลายคราว ผู้นำองค์กรที่ขันอาสาว่าตนเอง “ขอทำงานต่อ” หรือ “ขอสานต่อสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ” ก็พูดราวกับว่า “ชีวิต” ขององค์กรนั้นๆ มีเพียง “ชีวิตเดียว”

ในกรอบความคิดข้างต้น พันธกิจ-ภารกิจหลักของผู้นำองค์กร จึงได้แก่การทำอย่างไรที่จะประคับประคอง “ชีวิตเดียว-ชีวิตเดิม” ดังกล่าว ให้มีความอมตะ-ยืดยาวออกไปมากที่สุด

อธิบายง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดๆ ก็คือ แม้ร่างกายของ “ชีวิตเดียว” ที่ดำรงอยู่มาแต่เดิม จะป่วยไข้ แก่ชรา หมดสภาพเพียงไร ผู้นำองค์กรก็ต้องพยายามยื้อยุด-ปั๊มหัวใจให้เรือนร่างอันชำรุดทรุดโทรมมีลมหายใจต่อไปได้

การเปรียบเทียบองค์กร หน่วยงาน สถาบันต่างๆ กับ “สิ่งมีชีวิต” ไม่ใช่เรื่องผิด

แต่ดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวมากพอสมควร ถ้าใครก็ตาม โดยเฉพาะผู้นำองค์กร พากันหลงคิดว่าองค์กรนั้นๆ คือ “ชีวิตเดียว” หรือ “ชีวิตของใครคนใดคนหนึ่ง”

 

ในทางตรงกันข้าม ถ้าทุกๆ องค์กร หน่วยงาน สถาบัน มี “ชีวิต” นั่นก็เป็น “มวลรวมของหลายชีวิต” ที่เข้ามาข้องเกี่ยว (ไม่ว่าจะทางบวกหรือลบ ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำการหรือผู้ถูกกระทำ) กับองค์กรนั้นๆ ต่างหาก

ตัวอย่างเทียบเคียงที่ชัดเจนก็คือคำที่เราใช้กันจนคุ้นชิน แต่หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตหรือล่วงรู้นิยามชัดๆ ของมัน นั่นคือคำว่า “ประชาชน”

คนทั่วไปหรือสื่อส่วนใหญ่มักใช้คำว่า “ประชาชน” สลับกับ “ประชากร” จนทั้งสองคำแทบจะมีความหมายแบบเดียวกัน

แต่หากพิจารณาคำศัพท์กันจริงๆ ขณะที่ “ประชากร” คือผู้คนในประเทศที่สามารถนับหัว-นับจำนวนได้ “ประชาชน” กลับมีความหมายที่เป็นนามธรรมยิ่งกว่านั้น ในฐานะขอบเขตอำนาจที่กว้างขวางไม่สิ้นสุด นับรวมผู้คนที่เสียชีวิตไปแล้วในอดีต ตลอดจนผู้คนที่กำลังจะถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ในอนาคต

“ชีวิต” ขององค์กร หน่วยงาน สถาบันทั้งหลาย ก็มีลักษณะดุจเดียวกันกับความหมายของคำว่า “ประชาชน”

ดังนั้น การอาสา “ทำงานต่อ” หรือ “สานงานต่อ” ของคนที่ต้องการจะเป็นผู้นำองค์กร จึงมิได้หมายถึงการพยายามยื้อ “ชีวิตใดชีวิตหนึ่ง” “ชีวิตเดียว” หรือ “ชีวิตเก่า” ขององค์กร ให้ยืนยาวออกไปชนิดไร้จุดจบ ทว่า ไร้พลัง เรี่ยวแรง และความสามารถ มากขึ้นทุกที

แต่หมายถึงการยอมรับและเข้าใจว่าจะมี “ชีวิตเก่าๆ” บางส่วน ที่ต้องล้มหายตายจากปลิดปลิวไปตามกาลเวลา และมีโอกาสความเป็นไปได้ที่ “ชีวิตใหม่ๆ” อันเปี่ยมพลังงาน-ความคิดสร้างสรรค์ จะผลิบานขึ้นมาแทนที่

องค์กร หน่วยงาน สถาบันใด ที่มี “ชีวิต” แบบนี้ จึงจะอยู่รอดปลอดภัย และเติบโตเท่าทันยุคสมัยอย่างกล้าแกร่งแข็งแรง •