‘การเมือง’ ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. | ของดีมีอยู่

‘การเมือง’ ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเริ่มต้นขึ้นอย่างเข้มข้น

หากพิจารณาจากผู้สมัครหลักๆ ชุดแรก ที่มาจากหลากหลายพรรค-กลุ่ม-อุดมการณ์ทางการเมือง

ไล่ตั้งแต่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, น.ต.ศิธา ทิวารี, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, สกลธี ภัททิยกุล และรสนา โตสิตระกูล

คุณสมบัติ-ภาพลักษณ์ของแคนดิเดตผู้ว่าฯ เมืองหลวง จึงมีหลายเฉดที่ไล่เรียง-เหลื่อมซ้อนกันไป

ตั้งแต่ผู้สมัครที่มีภาพลักษณ์เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ค่อนข้างเป็นกลาง ไม่การเมือง และ “คล้ายจะ” ทำงานร่วมกันได้กับทุกฝ่าย

ผู้สมัครขั้วประชาธิปไตยจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ที่ตั้งท่าจะซัด-คัดง้างกับอำนาจรัฐ หรือความไม่ชอบธรรมต่างๆ ซึ่งดำรงอยู่ในปัจจุบัน

ผู้สมัครจากพรรคการเมืองใหม่ที่ “น่าจะ” อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย และเจนประสบการณ์ในสนามเลือกตั้ง กทม.

ผู้สมัครหน้าใหม่จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ที่พยายามกอบกู้คะแนนเสียง (ซึ่งหายไป) ในกรุงเทพฯ กลับคืนมา

อดีตผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง ยุครัฐประหาร ที่ออกตัวว่าไม่รู้จัก กปปส. แม้จะมีแกนนำ กปปส. ออกมาเน้นย้ำถึงสายสัมพันธ์ระหว่างพวกตนกับท่านผู้ว่าฯ

อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีตสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งไม่ปกปิดอดีตเรื่องที่ตนเองเคยออกมา “เป่านกหวีด” ก่อนหน้ารัฐประหาร 2557

และนักการเมือง-นักกิจกรรมที่ถูกประเมินว่าเคยสังกัดฝ่าย “เสื้อเหลือง” แม้จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลประยุทธ์ในตลอดหลายปีหลัง

หากประเมินจากสภาพการณ์และบรรยากาศการแข่งขันข้างต้น ดูเหมือนแนวคิดเรื่อง “การโหวตเชิงยุทธศาสตร์” จะไม่มีความจำเป็นในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในรอบเกือบหนึ่งทศวรรษ

เพราะต่อให้มีการแบ่งขั้วผู้สมัครออกหยาบๆ เป็นสองกลุ่ม ผู้สมัครในแต่ละขั้วที่มีมากกว่าหนึ่งคน ก็คงจะตัดคะแนนกันเองอยู่มากพอสมควรอย่างเป็นธรรมชาติ แถมขั้วที่ถูกมองว่า “ถอยห่างออกจากประชาธิปไตย” ยังเหมือนจะมีการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าด้วยซ้ำ

ในทางตรงกันข้าม นี่ควรจะเป็นการเลือกตั้งแบบ “ฟรีโหวต” ที่เปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงใน กทม. ได้เลือกแคนดิเดตผู้ว่าฯ ตามรสนิยม ความคิดเห็น ภูมิหลัง จุดยืน และอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองได้อย่างเต็มที่

 

มีคำถามน่าสนใจอีก 1-2 ข้อ เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครรอบนี้

ข้อแรก เป็นที่ทราบกันดีว่าในวันที่ 22 พฤษภาคม จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมๆ ไปกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)

อย่างไรก็ดี แบบแผนการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. ในปี 2565 ดูจะมีสองลักษณะที่ผิดแผกจากกัน

ลักษณะแรก คือ ทีมผู้สมัคร ส.ก. ที่เชื่อมโยงกับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไม่ว่าจะลงในนามตัวแทนพรรคการเมืองหรืออิสระ (ในทางกลับกัน ก็มีผู้สมัครผู้ว่าฯ ที่ไม่มีทีมผู้สมัคร ส.ก. เป็นของตนเอง)

ลักษณะที่สอง คือ ทีมผู้สมัคร ส.ก. จากพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ไม่มีแคนดิเดตฯ ผู้ว่าฯ ของตัวเองอย่างเด่นชัด-เป็นทางการ

น่าติดตามว่าการลงคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ของชาวกรุงเทพฯ นั้นจะมีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันหรือไม่? มากน้อยแค่ไหน?

สุดท้าย แคนดิเดตฯ ผู้ว่าฯ แบบที่มีหรือไม่มีทีมผู้สมัคร ส.ก. เป็นแบ๊กอัพ จะได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่ากัน?

คำถามข้อต่อมา คือ สาระสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น นั้นอยู่ตรง “การพัฒนาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมืองหลวง” หรืออยู่ที่การส่งเสียงไปถึงสังเวียน “การเมืองระดับชาติ” กันแน่?

ในแง่ผู้ลงแข่งขัน เข้าใจว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ แต่ละราย คงจะออกหาเสียงหรือขึ้นเวทีดีเบต ด้วยจุดยืนต่อเรื่องนี้ที่แตกต่างกันไป

บางรายน่าจะพยายายามจำกัดวงของตนเองไว้ที่เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต-ความเป็นอยู่ของคนเมืองหลวง

ขณะที่บางรายอาจพยายามเน้นย้ำว่า “การเมืองใน กทม.” คือเรื่องเดียวกับ “การเมืองระดับชาติ” และความเปลี่ยนแปลง-คะแนนเสียงของประชาชนในสนามหนึ่ง สามารถสั่นสะเทือนไปถึงการต่อสู้ในอีกสนามได้

อย่างไรก็ดี ผู้ที่จะให้คำตอบต่อคำถามนี้ ย่อมมิใช่บรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเราต้องพิจารณา-ใส่ใจความคาดหวังของพลเมือง ผู้ออกมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วย

จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคมนั่นแหละ ที่เราจะได้รับรู้แบบชัดๆ ว่าคนกรุงเทพฯ นั้นตัดสินใจกาเลือกผู้ว่าฯ และ ส.ก. ของพวกตน ด้วยชุดเหตุผลใด?

ระหว่างการเลือกนักการเมืองท้องถิ่น “เพื่อกรุงเทพฯ”

หรือการฉวยใช้ “การเมืองท้องถิ่น” เป็น “สาร” ซึ่งส่งไปถึงคณะผู้มีอำนาจ ที่อยู่นอก-เหนือศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร •