‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กับสังคมไทย / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กับสังคมไทย

 

ต้องยอมรับตรงๆ ว่าตัวเองไม่ได้เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ “วัฒน์ วรรลยางกูร” นักเขียน-นักต่อสู้คนสำคัญ ที่เพิ่งเสียชีวิต ณ ประเทศฝรั่งเศส

เนื่องจากเคยอ่านหนังสือของ “วัฒน์” อยู่เพียงไม่กี่เล่ม และได้ดูภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ของเขาอีกหนึ่งเรื่อง ทั้งหมดเกิดขึ้นในบริบท-บรรยากาศยุคต้นๆ 2540

ผมเริ่มรู้จักชื่อ “วัฒน์” จากการตามอ่านข่าววรรณกรรม ในฐานะที่เขาเป็น “ซีรอง” หลายสมัย

นิยายเล่มแรกของ “วัฒน์” ที่ผมซื้อมาอ่าน คือ “สิงห์สาโท” ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ก็จดจำเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆ แทบไม่ได้แล้ว

จำได้รางๆ เพียงว่า ในวัยหัดดื่ม ตนเองรู้สึกตื่นเต้นกับกระบวนการผลิตสุราพื้นบ้านที่ “วัฒน์” เขียนบรรยายไว้ในหนังสือ (ตลกร้ายเหมือนกัน ที่มาถึงตอนนี้ การผลักดันกฎหมาย “สุราก้าวหน้า” ก็ยังล้มลุกคลุกคลานและมีชะตากรรมไม่แน่ชัด)

ในอีกด้านหนึ่ง ผมเข้าใจ/ตีความเอาเองว่านิยายเล่มนั้นกำลังพูดถึง “ความพอเพียง” ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักของยุคสมัยดังกล่าว

ทว่า เป็น “ความพอเพียง” ที่เจืออารมณ์ขัน เป็น “ความพอเพียง” ของ “ผู้พ่ายแพ้”

(ผลงานวัฒนธรรมอีกชิ้นที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันและมีน้ำเสียงคล้ายคลึงกัน ก็คือหนังเรื่อง “สวัสดีบ้านนอก” ของ “ธนิตย์ จิตนุกูล” ซึ่งกล่าวถึง “ความพอเพียง” ในสังคมชนบท ด้วยพล็อตพ่อตา-ลูกเขย และการทำงานการเมืองผ่าน อบต. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบใหม่ที่เป็นความหวังในยุคนั้น)

ประเด็นปลีกย่อยอีกข้อที่ผมจำได้ ก็คือ สมัยเป็นนักศึกษาปี 1 ตนเองมักพกหนังสือนิยายเรื่อง “สิงห์สาโท” ไปนั่งอ่านในชั้นเรียนรวม (ท่ามกลางเพื่อนนักศึกษาร่วมพันคน) ซึ่งมี “รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร” เป็นผู้สอนหลัก

หลังจากนั้น อาจารย์วรพลจะเป็นนักวิชาการรายแรกๆ ที่ออกมาต่อต้าน “รัฐประหาร 2549” อย่างแข็งขัน ก่อนที่แกจะเสียชีวิตในปลายปี 2556 ก่อนหน้า “รัฐประหาร 2557” ไม่กี่เดือน

 

ถัดจากการอ่าน “สิงห์สาโท” ผมก็ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ของ “เป็นเอก รัตนเรือง” ซึ่งดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของ “วัฒน์”

ผมดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ด้วยมุมมองที่ไม่แตกต่างจากตอนอ่าน “สิงห์สาโท” มากนัก คือ ตีความการออกไปผจญภัยในโลกกว้างของ “แผน” ก่อนจะต้องซมซานกลับบ้านนอกไปหา “สะเดา” ว่าเป็นการเชิดชูแนวคิดเรื่องการย้อนกลับไปหา “ความพอเพียง” ในชนบท พร้อมๆ กับที่เป็นนิทานเปรียบเทียบว่าด้วย “คนพ่ายแพ้” (จากสงครามอุดมการณ์ทางการเมือง)

หลังดู “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ผมก็สนใจเพลงลูงทุ่งขึ้นอย่างฉับพลัน จึงไปหาหนังสือ “คีตกวีลูกทุ่ง ไพบูลย์ บุตรขัน” ของ “วัฒน์” มาอ่านเพิ่มเติม

ท้ายสุด ระหว่างความขัดแย้งทางการเมือง “หลังรัฐประหาร 2549” จนถึง “ก่อนรัฐประหาร 2557” ผมยังติดตามงานเขียนของ “วัฒน์” ในสื่อสิ่งพิมพ์บางฉบับอยู่เสมอ ในฐานะคนที่มีความเห็น-จุดยืนคล้ายๆ กัน แม้จะรู้สึก “หวาดเสียว” กับ “ความแรง” ของเขาเป็นระยะ

 

นั่นคือความทรงจำส่วนตัวที่ผมมีต่อ “วัฒน์ วรรลยางกูร” ทว่า ในเนื้อหาส่วนต่อไป ผมอยากจะทดลองนำเสนออะไรที่ใหญ่โตกว้างขวางกว่านั้น

ดังที่ได้เล่าไปแล้วว่า ผมเป็นอีกคนที่รู้จัก “วัฒน์” ท่ามกลางบริบทของสังคมไทยยุคต้น 2540 (หรืออาจเริ่มเห็นชื่อเขาตั้งแต่ราวทศวรรษ 2530 ด้วยซ้ำ)

สังคมไทยยุคนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยการเมืองแบบประชาธิปไตยในระบบการเลือกตั้ง และสภาพเศรษฐกิจที่เฟื่องฟู (ก่อนจะสะดุดลงชั่วครู่ในวิกฤตปี 2540) ภายใต้ร่มเงาของ “ฉันทามติร่วม” หลังความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์ยุติลง

จุดเด่นสำคัญประการหนึ่งของสังคมไทยสมัยดังกล่าว ก็คือ “การเปิดกว้างโอบรับความหลากหลาย” หรือเป็นสังคมที่แสวงหา “จุดประนีประนอม” ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

กระทั่งคนอย่าง “วัฒน์” ที่เคยร่วมต่อสู้กับฝ่ายซ้าย สามารถกลับมามีตัวตนและสร้างชื่อเสียงในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่กำลังเติบโต คล้ายคลึงกับคนที่เคยเข้าป่าหรือมีอุดมการณ์เป็นซ้ายอีกมากหน้าหลายตา ในอีกหลายแวดวง

 

คําถามข้อแรกที่มีต่อสมมติฐานข้างต้น ก็คือ “ความเปิดกว้าง-จุดประนีประนอม” ที่ว่า เป็น “บรรยากาศงดงาม” ซึ่งเคยดำรงอยู่จริงๆ ในยุค (ทอง) สมัยหนึ่ง

หรือเป็นเพียง “สภาวะเสมือนจะเปิดกว้าง-ประนีประนอม” ที่เปิดช่องโหว่-รูระบายเล็กๆ น้อยๆ ให้ผู้คนจากหลากหลายอุดมการณ์ (บางคนยังยึดถืออุดมการณ์เดิมอย่างเหนียวแน่น บางคนเปลี่ยนอุดมการณ์ไปอีกขั้ว) สามารถมีชีวิตที่ดีพอสมควร ในระบบรัฐ-ระบบทุนที่กดให้ทุกฝ่าย (ตั้งแต่ “ซ้ายเก่า” จนถึง “ผู้ครองอำนาจรัฐ”) ต้องสะกดกลั้นส่วนลึกสุด-แก่นแกนใจกลางของอุดมการณ์ที่ตนเองเลือกสมาทานเอาไว้ มิให้หลุดลอยออกจาก “ขวด-ตะเกียง”

เพราะพอถึงจุดหนึ่ง เมื่อความขัดแย้งระลอกใหม่ (จากปลายทศวรรษ 2540 ถึงปัจจุบัน) อุบัติขึ้น ภาพฝันว่าด้วย “การโอบรับความหลากหลาย” และ “จุดประนีประนอม” ที่เคยมีอยู่ ก็พลันแตกสลายลง

จนคนอย่าง “วัฒน์” ต้องกลับไปต่อสู้กับรัฐอีกรอบ และต้องเสียชีวิตลงระหว่างการลี้ภัยในต่างประเทศช่วงปัจฉิมวัย

คำถามข้อที่สองมีอยู่ว่า ถ้าความขัดแย้งระลอกนี้ผ่านพ้น-เจือจางไป จุดที่ผู้คนหลากหลายอุดมการณ์ในสังคมไทยจะสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้นั้นจะมีลักษณะ-หน้าตาเป็นแบบไหน?

เราและคนรุ่นหลังยังต้องการ “สังคมไทยแบบทศวรรษ 2530-2540” อยู่อีกหรือไม่?

หรือว่าปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปรพลิกผันหลายประการ จะพาเราไปพานพบกับ “ความเป็นไปได้-ดุลยภาพ” ชนิดอื่นๆ?

เช่น อิทธิพลของโซเชียลมีเดียที่ส่งเสริมให้ผู้คนจากแต่ละกลุ่มอุดมการณ์สามารถสื่อสาร (พูดคุย สังสรรค์ และทะเลาะ) กันเองได้ใน “โลกเฉพาะ” ต่างใบ ตลอดวัน ตลอดเดือน ตลอดปี

จนเป็นการบีบให้แต่ละพรรค/กลุ่ม/ขั้วการเมือง ต้องเลือกเล่นเกมที่จะขับเน้นอุดมการณ์ของตนเองให้ลงลึก-ไปไกลมากที่สุด เพื่อประคองรักษาความนิยมเฉพาะกลุ่มเอาไว้

ทั้งยังก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจ-การตลาด อันเต็มไปด้วย “นิชมาร์เก็ต” ที่มีฐานผู้บริโภคของใครของมัน กระทั่งความสำเร็จของปัจเจกบุคคลอาจไม่จำเป็นจะต้องได้รับการผลักดันจากสำนักพิมพ์ใหญ่ ค่ายเพลงใหญ่ สถานีโทรทัศน์เจ้าใหญ่ หรือรางวัลใหญ่ (ซึ่งมิได้มีอิทธิพลเหมือนเก่าอีกแล้ว) เสมอไป •