‘โต๊ะอาหาร’ กับ ‘คูหาเลือกตั้ง’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘โต๊ะอาหาร’ กับ ‘คูหาเลือกตั้ง’

 

ไม่มีใครปฏิเสธว่า “การเมือง” คือ “การต่อรองผลประโยชน์”

และดูเหมือน “การเมืองไทย” ณ ห้วงเวลานี้ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ “กระบวนการเจรจา-ต่อรอง” ในสองระดับ สองรูปแบบ สองพื้นที่

ด้านหนึ่ง “สองกระบวนการ” นี้ดูคล้ายจะขัดแย้ง-แยกส่วนกัน แต่อีกด้าน นี่ก็เป็นเหมือนคู่เติมเต็ม ที่จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง (โดยเฉพาะองค์ประกอบข้อหลัง) ไม่ได้

 

“กระบวนการเจรจา-ต่อรอง” ประเภทแรก คือ การพูดคุยกันในหมู่ “ชนชั้นนำ” ซึ่งอาจจำแนกแยกแยะออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ ได้สองแนวทาง

แนวทางที่หนึ่ง คือ การเจรจา-ต่อรองระดับ “วงใน-วงลึก” ซึ่งบางคนก็เรียกขานว่าเป็น “ดีลลับ” บ้าง “การเกี้ยเซียะ” บ้าง หรืออาจเป็น “วงแตก” ในบางครั้ง ตามผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป ไล่ตั้งแต่ “การประนีประนอม-ประสานประโยชน์” กันได้ ไปจนถึง “ภาวะแตกหัก” หรือการตัดสินใจทำ “รัฐประหาร”

ทั้งนี้ ทุกคนล้วนทราบว่าการเจรจา-ต่อรองผลประโยชน์ในบรรยากาศข้างต้นนั้น เป็นการคุยกันเงียบๆ วงเล็กๆ ทว่าทรงพลัง มีผลต่อชะตากรรมของประเทศ และสามารถพลิกเปลี่ยนเกมการเมืองได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ

แนวทางที่สอง คือ การเจรจา-ต่อรองวงเล็กใน “พื้นที่เปิด” เช่น การกินข้าวระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หรือการกินข้าวระหว่างผู้มีอำนาจกับหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก

หลายคนมักมองว่ากิจกรรมแนวทางที่สองนี้มีคุณค่าเป็นแค่ “การสร้างภาพ” หรือ “อีเวนต์ถ่ายรูปโชว์สื่อ” มากกว่าจะนำไปสู่ข้อตกลงจริงจังใดๆ ดังที่เกิดขึ้นกับการเจรจา-ต่อรองระดับ “วงใน-วงลึก” ตามแนวทางที่หนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยกันในหมู่ “ชนชั้นนำ” ไม่ว่าแบบ “เปิด” หรือ “ปิด” ล้วนยืนยันให้เราตระหนักว่า ในแง่มุมหนึ่ง “การเมือง” เป็น “เกมต่อรองผลประโยชน์” ของคนส่วนน้อย ตรงส่วนบนของพีระมิด-บริเวณศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งเชื่อมั่นหรือพยายามหลอกตนเองว่า พวกเขาสามารถกำหนดควบคุมชะตากรรมของประเทศและผู้คนอีกหลายสิบล้านชีวิตไว้ได้

 

“กระบวนการเจรจา-ต่อรอง” ประเภทหลัง นั้นไม่ใช่การพูดคุยกันในวงเล็กๆ ของผู้มีอำนาจน้อยราย แต่เป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้ามาหาข้อสรุปในประเด็นสาธารณะบางเรื่องหรือจัดการกับข้อขัดแย้งระดับชาติบางประการร่วมกัน เช่น การแสวงหาผู้นำคนใหม่และรัฐบาลชุดใหม่

แม้ในปัจจุบัน หลายคนอาจมองว่าการเจรจาต่อรองประเภทนี้สามารถทำกันได้ในโซเชียลมีเดีย ที่มีจุดเด่นตรงความรวดเร็วทันสถานการณ์ ทว่า ระบบนิเวศของสื่อสังคมออนไลน์ก็เอื้อให้เกิดการหลั่งไหลของอารมณ์ความรู้สึกในทิศทางเดียว มากกว่าจะเป็นการประมวลความคิดเห็นที่หลากหลายของสาธารณชน

กระทั่งมีอยู่บ่อยครั้ง ที่สื่อโซเชียลพาเราไปผจญภัยกับปัญหาดราม่าไม่รู้จบ มากกว่าจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาดั้งเดิมที่ยังค้างคา

ดังนั้น วิธีการคลาสสิค เช่น “การเลือกตั้ง” จึงยังเป็นทางเลือกที่ดี มีประสิทธิภาพ และมีกฎกติกาชัดเจนที่สุด สำหรับการเจรจา-ต่อรองทางการเมืองระดับชาติ

น่าสังเกตว่า พร้อมๆ กับที่ภาพกิจกรรม “การเมืองบนโต๊ะอาหาร” ของผู้นำรัฐบาลปรากฏถี่ยิบขึ้นในช่วงหลัง สังคมไทยก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่ “โหมดเลือกตั้ง” อย่างเข้มข้นเต็มตัวยิ่งขึ้นตามลำดับ

นอกจากการเลือกตั้งซ่อมที่ชิมลางไปแล้วสามพื้นที่ ปลายเดือนพฤษภาคมนี้ (ในวาระครบรอบ 8 ปี รัฐประหาร) เราจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นงวดสุดท้าย คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและนายกเมืองพัทยา

ขณะที่ถ้าเชื่อคำพูดและการหยั่งรู้ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็มีแนวโน้มสูงว่าอาจเกิดการยุบสภาตอนปลายปี 2565 เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งใหม่

ทั้งหมดบ่งชี้ว่า ถึงที่สุดแล้ว สังคมการเมืองไทยก็ยังต้องพึ่งพา “กระบวนการเจรจา-ต่อรองวงใหญ่ที่สุด” นั่นคือการลงคะแนนเสียงผ่านคูหาเลือกตั้งของประชาชน

ด้วยรูปการณ์เช่นนี้ ผลการเลือกตั้งทั้งในสนามเล็กและสนามใหญ่จะกลายเป็นฉันทามติใหม่และกรอบการเจรจาใหม่ ที่ส่งอิทธิพลสะท้อนกลับไปยัง “โต๊ะกินข้าววงเล็ก” ของชนชั้นนำ อีกทีหนึ่ง •