‘ยุครุ่งเรือง’ ของ ‘การพิมพ์ไทย’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ยุครุ่งเรือง’ ของ ‘การพิมพ์ไทย’

 

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว สำนักพิมพ์มติชน เพิ่งจัดงาน Matichon Book Launch โดยหนึ่งในกิจกรรมหลักของงาน ก็คือ การเสวนาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์การพิมพ์กับอำนาจความรู้ของสามัญชน”

“ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ” นักประวัติศาสตร์อาวุโส ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะนักวิจัยผู้จัดทำหนังสือ “สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในไทย” เล่าถึง “ยุครุ่งเรืองทางความคิด” ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของสื่อสิ่งพิมพ์ไทย/สยามไว้อย่างน่าตื่นเต้นและน่าสนใจ

หลายคนอาจทราบกันดีว่า “บางกอกรีกอเดอ” (The Bangkok Recorder – บางกอกรีคอร์เดอร์) ที่มี “หมอบรัดเลย์” เป็นผู้จัดทำและจัดพิมพ์นั้น ถือเป็น “หนังสือพิมพ์เชิงนิตยสาร” เล่มแรกของไทย

อย่างไรก็ดี บทบาทสำคัญสูงสุดของ “บางกอกรีกอเดอ” ในมุมมองอาจารย์ธเนศ อาจไม่ได้อยู่ตรงเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาในกรุงสยาม

แต่คือการเปิดพื้นที่ให้ “คนทำหนังสือพิมพ์” ได้แสดงความคิดเห็นของตนเอง และการรับฟังความคิดเห็นของ “ผู้อ่าน”

อันนำไปสู่การโต้ตอบอภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย

 

หัวหน้าคณะนักวิจัยผู้เขียนหนังสือ “สยามพิมพการ” เล่าต่อว่าผู้อ่านรายหนึ่ง ซึ่งส่งความเห็นมาโต้ตอบกับ “หมอบรัดเลย์” ใน “บางกอกรีกอเดอ” บ่อยๆ ก็คือ “ในหลวงรัชกาลที่ 4” (แม้มิได้ระบุพระนามโดยเด่นชัดในจดหมาย แต่สามารถสันนิษฐานเช่นนั้นได้จากวิธีคิดที่ปรากฏและหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ)

จนก่อให้เกิดวิวาทะน่าสนใจมากมาย อาทิ ข้อถกเถียงว่าด้วยความไร้เหตุผลและความมีเหตุผลของความเชื่อเรื่องพุทธศาสนาในกรุงสยาม เป็นต้น

“คือถ้ามามองในปัจจุบัน มองกลับไป นั่นขนาดยุคแรกนะ เพิ่งเริ่มต้นพิมพ์ ไม่ได้มีจารีตการพิมพ์หนังสือพิมพ์อะไรต่างๆ มาเลย แล้วรัชกาลที่ 4 ที่เป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็น absolute อำนาจสูงสุด ยังยอมฟังแล้วก็โต้ แทนที่จะสั่งปิด ปรับ จับอะไรต่างๆ คือทำอะไรได้หลายอย่างก็ทำได้ทั้งนั้น

“เพราะหมอบรัดเลย์ก็เป็นแค่มิชชันนารี ตอนนั้นอเมริกาก็ยังไม่ได้มีอำนาจเหมือนกับตอนนี้ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรแกก็ได้ ก็ไม่ (ทำ) แต่ก็พอใจที่จะตอบโต้กัน ที่จะแลกเปลี่ยนกัน

“คือพออ่านบรรยากาศตอนนั้นแล้ว ตอนหลังเรารู้ว่าอันนี้คือเสรีภาพทางความคิด ทางการแสดงออก ซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ตอนนั้นมันไม่มี ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย

“แต่การปฏิบัติที่ต่อมาจะจารึกในรัฐธรรมนูญ ทุกประเทศทั่วโลกที่มีรัฐธรรมนูญต้องมีมาตรานี้ ว่าประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพในทางศาสนา ในตอนนั้น ผมคิดว่าไอ้หลักใหญ่ๆ พวกนี้ มันปฏิบัติผ่านหนังสือพิมพ์-นิตยสารที่พิมพ์ในยุคนั้นหมดเลย” อาจารย์ธเนศวิเคราะห์

 

“สภาวะรุ่งเรืองทางความคิด” ผ่าน “การพิมพ์สยามช่วงเริ่มต้น” ยังถูกส่งมอบมาสู่ปัญญาชนสยามรุ่นแรกๆ อย่าง “เทียนวรรณ” และ “ก.ศ.ร.กุหลาบ” ดังที่อาจารย์ธเนศเล่าเอาไว้ว่า

“คนกรุงสยาม เขาคิด เขาตอบโต้ เขาพยายามที่จะหาเหตุผลอะไรต่างๆ สู้ด้วยเหตุผล แล้วข้อมูลเขาก็มีทั้งไกลทั้งใกล้

“เทียนวรรณเขียนเรื่องความละเมอเพ้อฝัน (“ว่าด้วยความฝันละเมอ แต่มิใช่นอนหลับ”) 30 อย่างที่แกอยากเห็นในกรุงสยาม ตั้งแต่เลิกทาส ผู้หญิงต้องมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย ต้องตั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เสนอให้มีสิทธิบัตร มีโรงงานทำปลากระป๋อง แกเสนอหมด เพราะแกนั่งเรือไปสิงคโปร์ ไปฮ่องกง แกเห็นโลกเยอะ

“สุดท้ายก็คือว่าให้มีสภา ให้มีผู้แทนของราษฎร”

ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์อาวุโส นั่นคือ “ความก้าวหน้า” ที่ปรากฏผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในกรุงสยาม ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 เสียอีก

ซึ่งเป็นเรื่องตลกร้ายชวนเศร้าอยู่ไม่น้อย ที่บรรยากาศที่เคยมี ณ “ตอนนั้น” กลับไม่ค่อยมีเหลืออยู่ใน “ตอนนี้” •