ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
ของดีมีอยู่
ปราปต์ บุนปาน
พลังของ ‘จำนวน’
ในระบอบประชาธิปไตย
แม้เรื่อง “จำนวน” แบบเพียวๆ อาจมิใช่แก่นสาร-แก่นแท้เพียงประการเดียว หรือมิได้เป็นปัจจัยหลักที่บ่งชี้ “คุณภาพ” ของระบอบประชาธิปไตย
แต่ความมาก-น้อยของ “จำนวน” ก็เป็นเครื่องมือชี้วัดเชิง “ปริมาณ” ที่มีความสำคัญ สำหรับระบอบการปกครอง ซึ่ง “อำนาจ” ควรจะถูกครอบครองร่วมกันโดยประชาชนหลายสิบล้านคน
ไม่ว่าจะเป็น “จำนวน” ของคะแนนเสียงเลือกตั้ง “จำนวน” ส.ส.ในสภา “จำนวน” เสียงสนับสนุน-คัดค้านรัฐบาล
เรื่อยไปถึง “จำนวน” ของการระดมกำลังทุน-กำลังทรัพย์ เพื่อใช้ในการดำเนินงานหรือกิจกรรมทางการเมืองประเภทต่างๆ ทั้ง “บนดิน” และ “ใต้ดิน”
ที่ผ่านมา การระดมทุนทางการเมือง มักถูกประเมินให้เป็นกิจการหรือกระบวนการสานสายสัมพันธ์-ประสานประโยชน์ ระหว่างชนชั้นนำ กลุ่มทุนใหญ่ และเครือข่ายคอนเนคชั่นต่างๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือและเกินกำลังศักยภาพของราษฎรคนเล็กคนน้อยทั่วไป
เครื่องมือการต่อสู้กันด้วย “จำนวน” สองช่องทางหลักๆ ที่สามัญชนคนธรรมดาพอจะฉวยใช้ได้ในสองทศวรรษหลัง ก็คือ การสู้ผ่าน “จำนวนคะแนนเสียง” ในหีบบัตรเลือกตั้ง และการสู้ผ่าน “จำนวนผู้ชุมนุม” บนท้องถนน
แต่ที่เราแทบไม่ค่อยพบเห็น ก็คือ การแสดงพลังของคนตัวเล็กๆ ในสังคม ผ่านการระดมกำลังทุนหรือกำลังเงิน
มิหนำซ้ำ คนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังมักถูกเหมารวมตีค่าประทับตราว่าเป็นพลเมืองที่ชอบ “ขายเสียง” และถูกซื้อได้ง่ายๆ ด้วย “นโยบายประชานิยม” หรือไม่ก็เป็นเพียง “ม็อบรับจ้าง”
อย่างไรก็ดี มีความเปลี่ยนแปลงบางด้านก่อตัวขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ความเปลี่ยนแปลงข้อแรกปรากฏตัวผ่านเงินอุดหนุนจำนวน 30 ล้านบาท ที่กองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองจัดสรรให้ “พรรคก้าวไกล” ในปี 2565
“จำนวนเงิน 30 ล้านบาท” ดังกล่าว วางพื้นฐานอยู่บน “เงินอุดหนุนภาษีพรรคการเมือง” ที่ประชาชนผู้เสียภาษีสามารถเลือกบริจาคให้แก่พรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ-สนับสนุนได้
นี่คือปรากฏการณ์ที่หลายคนตีความตรงกันว่า ณ ปัจจุบัน “พรรคก้าวไกล” คือพรรคการเมือง ซึ่งสามารถครองใจมนุษย์เงินเดือน-คนชั้นกลางในเมืองไว้ได้มากที่สุด
ความเปลี่ยนแปลงประการถัดมา เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในกรณีที่ “กองทุนราษฎรประสงค์” ประกาศรับเงินบริจาค เพื่อนำไปประกันตัว “อานนท์ นำภา” และ “เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์”
แม้ท้ายสุด อานนท์จะยังไม่ได้รับอิสรภาพ ทว่า ปรากฏการณ์ข้างเคียงที่ได้รับความสนใจจากสังคม ก็คือ ยอดเงินในบัญชีธนาคารของ “กองทุนราษฎรประสงค์” ซึ่งพุ่งทะยานขึ้นจากหลัก 2 ล้านบาท ไปสู่หลัก 10 ล้านบาท ภายในเวลาแค่ 3 ชั่วโมง ของช่วงค่ำวันที่ 22 กุมภาพันธ์
“ผศ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์” หนึ่งในผู้ถือบัญชี “กองทุนราษฎรประสงค์” เปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนคนที่บริจาคเงินเข้ามาจนทะลักล้นไม่ทันชั่วข้ามคืนนั้น มีมากมายมหาศาลนับพันหน้ากระดาษเอสี่
หมายความว่าเงินบริจาคส่วนใหญ่ คือ เงินก้อนเล็กๆ ที่ได้รับการสมทบทุนจากบรรดาผู้บริจาครายย่อยๆ หรือเป็นพลังเงินของเหล่าคนเล็กคนน้อยนั่นเอง
หากถามว่า “จำนวนเงินหลักสิบล้าน” ที่ประชาชนจำนวนมากบริจาคให้ “พรรคก้าวไกล” และ “กองทุนราษฎรประสงค์” นั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงใดในเชิง “ปริมาณ” ?
ถ้ามองในสายตาของทุนใหญ่ เจ้าของธุรกิจขนาดยักษ์ ตลอดจนชนชั้นนำ-นักการเมืองมากคอนเนคชั่น “เงินจำนวนเท่านี้” อาจไม่ได้มีมูลค่าที่สูงมากมายนัก
เพราะเพียงแค่กระดิกนิ้วหรือพูดคุยกันภายในเครือข่ายเส้นสายระดับสูง “เงินจำนวนมากกว่านี้” ก็อาจหลั่งไหลเข้าสู่กระเป๋าของพวกเขาโดยง่ายดาย
อย่างไรก็ตาม “เงินหลักสิบล้าน” ที่ระดมทุนมาจากคนชั้นกลาง-มนุษย์เงินเดือน ซึ่งเชื่อมั่นในพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง หรือ “เงินหลักสิบล้าน” ซึ่งราษฎรแบ่งปันมาช่วยเหลือราษฎรด้วยกัน นั้นแฝงไว้ด้วยนัยยะสำคัญทางการเมืองบางประการ
กล่าวคือทั้งหมดเป็นการระดมกำลังทรัพย์ ผ่านภราดรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความไว้วางใจ ความห่วงใย ความรัก และความศรัทธา ซึ่งผู้คนที่ไม่ได้มีอำนาจมากมายนักในสังคม พยายามส่งมอบให้กัน
แม้การระดมทุนของเหล่าผู้มีอำนาจบนยอดพีระมิด อาจจะทำได้ง่ายกว่าและรวบรวมเงินได้เยอะกว่า แต่ “เงินมหาศาลจำนวนนั้น” ก็มิได้วางฐานอยู่บนภราดรภาพของ “คนที่เท่ากัน” หากเป็นการหมุนเวียนถ่ายเททรัพย์สินภายในแวดวง “คนจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ในสังคม”
จุดนี้แหละ ที่ “เงินหลักสิบล้าน” ซึ่งถูกบริจาคเข้าบัญชี “พรรคก้าวไกล” และ “กองทุนราษฎรประสงค์” ได้สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้แก่ผู้มีอำนาจ
เพราะนี่คือ “จำนวน/ปริมาณ” อันแสดงให้เห็นถึงพลัง (บางส่วน) ของ “คน 99 เปอร์เซ็นต์ในสังคม”
นี่คือ “จำนวน/ปริมาณ” ที่แสดงให้เห็นถึงขอบเขตการต่อสู้แบบใหม่ ซึ่งต่อขยายมาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการออกมารวมตัวในพื้นที่สาธารณะ