มองผลเลือกตั้งซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

มองผลเลือกตั้งซ่อม ‘หลักสี่-จตุจักร’

 

หลังวันที่ 30 มกราคม หลายฝ่ายได้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งซ่อมที่เขตหลักสี่-จตุจักร กันไปมากมายหลากหลายประเด็นแล้ว

โดยเฉพาะการเพ่งพินิจจุดเสื่อมทรุดของพรรคพลังประชารัฐ และการคาดการณ์ถึงขาลงของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม งานเขียนชิ้นนี้อยากจะกล่าวถึงผลการเลือกตั้งซ่อมที่กรุงเทพฯ ในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติมอีกสัก 2-3 ประเด็น

 

ประการแรก อยากพูดถึง “โพลลับหน่วยงานข่าว” และการทำนายผลเลือกตั้งตามแนวทาง “คณิตศาสตร์การเมือง” ของนักวิเคราะห์บางส่วน

ซึ่งหากจะมองว่าโพล-การทำนายเหล่านั้นมี “ความแม่นยำ” เพราะทายถูกต้องว่า “สุรชาติ เทียนทอง” จากพรรคเพื่อไทย จะชนะการเลือกตั้ง เราคงต้องบอกว่าคนที่พอตามข่าวการเมืองอยู่บ้าง ก็สามารถทายตัวผู้ชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่-จตุจักร ได้ “แม่นยำ” ไม่ต่างกัน

ที่อยากตั้งข้อสังเกต ก็คือ “โพลลับ” และ “นักคณิตศาสตร์การเมือง” นั้นทายผลของผู้สมัครที่ได้คะแนนรองลงมา แบบผิดฝาผิดตัวหมดเลย

หากนำการคาดหมายว่า “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” (พรรคกล้า) “สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” (พลังประชารัฐ) และ “กรุณพล เทียนสุวรรณ” (ก้าวไกล) จะได้คะแนนเป็นลำดับที่ 2-3-4 มาเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงที่ว่า “กรุณพล” มีคะแนนเหนือ “อรรถวิชช์” และ “สรัลรัศมิ์”

ปัญหาของความผิดพลาดดังกล่าวอาจอยู่ที่ “โพลลับ” (ซึ่งคล้ายจะเป็น “โพล” แค่เพียงชื่อ) และคำพยากรณ์ของนักวิเคราะห์ตัวเลขบางส่วน นั้นประเมินผลเลือกตั้งซ่อม กทม. เขต 9 จากการอ้างอิงผลคะแนนเสียงในการเลือกตั้งปี 2562, ฐานคะแนนที่เชื่อว่าผู้สมัครแต่ละรายมี และระบบหัวคะแนน-การจัดตั้ง เป็นหลัก

ทว่ากลับไม่ได้ประเมินอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนในเขตเลือกตั้ง (ว่าความคิด-การตัดสินใจของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? หรือพวกเขายึดมั่นในอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งอย่างมั่นคงเพียงใด?)

ไม่ได้ประเมินศักยภาพของผู้สมัครและพรรคการเมืองบนเวทีการปราศรัยช่วงโค้งสุดท้าย

การทำนายรายละเอียดจึงพลาดไปหมด

 

ประการที่สอง ผลการเลือกตั้งที่หลักสี่-จตุจักร ยืนยันซ้ำว่า โดยแนวโน้มแล้ว สนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ยังจะไม่ได้มีสถานภาพเป็นการทำสงครามระหว่าง “สองขั้วขัดแย้ง” ทางการเมือง

แต่มีลักษณะเป็นสนามแข่งขันของ “ตัวเลือกอันหลากหลาย”

เมื่อตัวเลือกฝ่ายประชาธิปไตยมีมากกว่าหนึ่งพรรค ส่วนตัวแทนของฝ่ายขวาก็มีหลายพรรคยิ่งกว่า (ไล่เฉดได้ตั้งแต่ “ขวาสุดโต่ง” จนถึง “ขวาแอ๊บกลาง”)

นี่คือแนวโน้มทางการเมืองที่คงลากยาวไปถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า

ทั้งยังสะท้อนถึงการไร้ “ฉันทามติ” ในสังคมการเมืองไทย ไปพร้อมๆ กัน

 

ประการสุดท้าย กล่าวเฉพาะในพรรคการเมืองขั้วประชาธิปไตยเอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างไรเสีย “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ย่อมหลีกเลี่ยงการมีสถานะเป็น “คู่แข่งทางการเมือง” ไปไม่พ้น

ความเป็นคู่แข่งถูกสะท้อนชัดผ่านการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมของแกนนำสองพรรคการเมือง เมื่อก้าวไกลเน้นย้ำจุดยืน “ไม่ประนีประนอม” ส่วนเพื่อไทยพูดเรื่อง “สู้เป็น” และสู้อย่างไรไม่ให้ถูกเขาฆ่าตาย

หากมองดีๆ ลักษณะการสร้างคะแนนความนิยมระหว่างสองพรรคการเมืองก็มีแนวทางผิดแผกกัน

ขณะที่เพื่อไทยมาแบบแน่นๆ เรื่อยๆ สม่ำเสมอ โดยมีตัวอย่างชัดเจน คือ การทำงานในพื้นที่เป็นระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน 17 ปี (ไม่ว่าจะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง ส.ส.) ของ “สุรชาติ เทียนทอง”

ก้าวไกลกลับรู้จักวิธีการสร้าง “เมจิก โมเมนต์” บนเวทีหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งน้ำตาให้แก่ความไม่เป็นธรรมในสังคมของ “เพชร กรุณพล” เรื่อยไปถึงการปลดปล่อยวลี “ปัดโถ่ว!” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ซึ่งชวนให้นึกถึงมนต์ขลังแบบ “ประชาธิปัตย์” ในยุคสมัยหนึ่ง

อย่างไรก็ดี การแข่งขันขับเคี่ยวผ่านคูหาเลือกตั้งกลับลงเอยด้วย “มิตรภาพ” ซึ่งสำแดงผ่านจุดยืน-ถ้อยแถลงของหัวหน้าพรรคการเมืองทั้งสองพรรค และผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1-2 ในสนามแข่งขัน

กระนั้นก็ดี ความเป็นมิตรระหว่างพรรคและสถานการณ์ “วิน-วิน” สำหรับเพื่อไทย-ก้าวไกล ที่หลักสี่และจตุจักร คล้ายจะไม่สามารถเจือจางบรรยากาศ “ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ” ของบรรดา “ติ่ง/แฟนคลับ” ในโลกออนไลน์ลงได้

ภาวะขัดแย้งระหว่าง “ติ่งแดง” กับ “ติ่งส้ม” จึงกลายเป็นลักษณะสามัญปกติของการเมืองไทยร่วมสมัยไปแล้ว

ในบริบทที่พรรคการเมืองหลักฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งมีทั้ง “จุดร่วม” และ “จุดต่าง” จำเป็นต้องลงแข่งในสนามเดียวกัน และต่างฝ่ายต่างมีผู้สนับสนุน ซึ่งเชื่อมั่นหนักแน่นต่อพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง

ต่อให้การรัฐประหารหรือการยุบพรรคการเมืองก็อาจไม่สามารถทำลายสภาวะ “ความเป็นปฏิปักษ์” ภายในขั้วประชาธิปไตย (ที่หลากหลายยิ่งกว่าเดิม) ได้