‘พลวัต-ความเปลี่ยนแปลง’ ใน ‘สนามเลือกตั้งภาคใต้’/ ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

‘พลวัต-ความเปลี่ยนแปลง’

ใน ‘สนามเลือกตั้งภาคใต้’

 

หลายคนประเมินว่าผลการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลาและชุมพรเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาเก้าอี้เอาไว้ได้นั้น

คือดัชนีบ่งชี้ว่า “การเมืองในภาคใต้” ไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย

อย่างไรก็ดี การที่ “ภาพใหญ่ๆ” หรือ “ปรากฏการณ์ล่าสุด” ไม่เปลี่ยนชนิดพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ มิได้หมายความว่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตรงระหว่างทางจะไม่ขยับเขยื้อนเลื่อนไหล

เมื่อมีการขยับเขยื้อนเลื่อนไหล นั่นก็หมายความว่า “สนามเลือกตั้งภาคใต้” ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยพลวัตอันไม่หยุดนิ่ง ไม่ต่างจากสนามเลือกตั้งในภูมิภาคอื่นๆ

อย่างน้อยที่สุด หากพิจารณาไปยังพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบและความขัดแย้งทางอุดมการณ์

ผลการเลือกตั้งในช่วงสองทศวรรษหลังที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ก็บอกเราว่าการเมือง ณ พื้นที่เหล่านี้มีการต่อสู้-ต่อรองกันอยู่ตลอดเวลา

จากยุครุ่งเรืองของกลุ่มวาดะห์ มาสู่ชัยชนะของประชาธิปัตย์

จากการแบ่งเค้กระหว่างหลายพรรคการเมือง (ประชาธิปัตย์, ชาติไทยพัฒนา, มาตุภูมิ, เพื่อแผ่นดิน และเพื่อไทย) มาสู่การยึดพื้นที่ของประชาธิปัตย์อีกรอบ

ก่อนที่ในการเลือกตั้ง 2562 ชัยชนะจะตกเป็นของพรรคประชาชาติ โดยมีรองแชมป์เป็นพลังประชารัฐ ส่วนภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์แบ่ง ส.ส.กันไปพรรคละหนึ่งคน

 

สําหรับในโซนภาคใต้ตอนบนที่คล้ายจะมีสภาวะแน่นิ่งสงบเงียบ และเป็นเหมือน “ของตาย” ที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถยึดกุมครอบครองได้อย่างเด็ดขาด นับแต่การเลือกตั้งเดือนกันยายน 2535 จนถึงการเลือกตั้งปี 2538, 2539 และ 2544

แต่ก็ใช่ว่าจากปลายทศวรรษ 2540 ถึงทศวรรษ 2550 จะไม่มีความผันผวนเล็กๆ น้อยๆ ก่อตัวขึ้นเลยในพื้นที่เลือกตั้งบริเวณนี้

คอการเมืองส่วนใหญ่มักมี “ความทรงจำผิดเพี้ยน” ในทำนองว่าพรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในสนามเลือกตั้งภาคใต้

กล่าวคือ ไม่ว่าจะส่งผู้สมัครเท่าไหร่ มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน ก็แพ้เจ้าของพื้นที่อย่างประชาธิปัตย์ชนิดขาดลอย หมดลุ้น ไม่เห็นฝุ่น

กระทั่งเราอาจหลงลืมไปว่ากาลครั้งหนึ่งเมื่อปี 2548 พรรคไทยรักไทยเคยมี ส.ส.พังงา ชื่อ “กฤษ สีฟ้า” ซึ่งหักปากกาเซียนเอาชนะ “จุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์” ได้สำเร็จ

แม้จะเป็นความสำเร็จแบบชั่วครู่ชั่วยาม แต่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทยก็บ่งบอกว่าปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้บางประการ เช่น สถานการณ์สึนามิ (ซึ่งเปิดโอกาสให้รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาแก้ปัญหาภัยพิบัติในพังงาได้อย่างเต็มที่) รวมถึงกระแสนิยมทักษิณที่พุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศ ณ ห้วงเวลานั้น

สามารถสร้างรอยปริแยกแตกร้าวให้เกิดขึ้นในสนามเลือกตั้งภาคใต้ตอนบนได้

ความผันแปรย่อยๆ ยังเกิดขึ้นอีกคราวในปี 2554 จากปัจจัย “ความขัดแย้งภายใน” เมื่อ “ธานินทร์ ใจสมุทร” คนเก่าแก่ของประชาธิปัตย์ ย้ายไปสังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา แล้วชนะการเลือกตั้งที่สตูล เขต 1

 

ก่อนที่ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของสนามเลือกตั้งภาคใต้จะมาอุบัติขึ้นโดยชัดเจนจริงๆ ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562

อันเป็นการเลือกตั้งหลังรัฐประหาร 2557 เป็นการเปิดคูหาเลือกตั้งหลังประชาชนไม่ได้ใช้สิทธิของตนเองยาวนาน 8 ปี (เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2557 ถูกขัดขวางและได้รับการวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ) เป็นการเลือกตั้งหลังกลุ่ม กปปส. ที่นำโดย “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

สภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองที่ไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์มิได้มีสถานะเป็น “ตัวแทนหนึ่งเดียว/ตัวแทนหลัก” ของขั้วการเมืองฝ่ายขวา-อนุรักษนิยมอีกต่อไป

ทั้งยังมิใช่ “ตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียว” ของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในภาคใต้อีกด้วย

กระทั่งถูกผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐและภูมิใจไทยเบียดแทรกเข้ามาได้ในหลายๆ พื้นที่สำคัญ (ไม่รวมพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “กำนันสุเทพ” ที่เจาะจังหวัดชุมพรไปได้หนึ่งเก้าอี้)

หลายคนสรุปว่าผลการเลือกตั้งในโซนภาคใต้ตอนบนเมื่อสามปีก่อน คือ ความพ่ายแพ้หมดรูปของประชาธิปัตย์ ซึ่งถูกตอกย้ำด้วยความปราชัยต่อผู้สมัครพลังประชารัฐ (อีกครั้ง) ในการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2564

 

ดังนั้น เราคงไม่อาจอธิบายหรือตีความว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์สามารถรักษาเก้าอี้ ส.ส.ที่สงขลาและชุมพรเอาไว้ได้ คือการหมุนย้อนกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิม หรือการปราศจากความเปลี่ยนแปลงใดๆ ของสังคมการเมืองภาคใต้

ตรงกันข้าม นี่ดูจะเป็นการพยายามปรับตัวของ “อดีตเจ้าของพื้นที่” เพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไหวไปอย่างไม่ยอมหยุดหย่อนต่างหาก

เพราะเมื่อประเมินจากสถิติ ตัวเลข ผลการเลือกตั้งย้อนหลัง ก็คงยากจะปฏิเสธว่าสนามเลือกตั้งภาคใต้นั้นมีพลวัตอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

การต่อสู้อันดุเดือด เข้มข้น จริงจัง และสูสี ในการเลือกตั้งซ่อมต้นปี 2565 คือการส่งสารเตือนซ้ำว่าประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเต็งหามที่ปราศจากคู่แข่ง เหมือนดังเช่นยุคปลาย 2530 ถึงตลอดทศวรรษ 2540

เช่นเดียวกับ “บารมีทางการเมืองแบบเดิมๆ” ที่ไม่สามารถรับประกันชัยชนะในสนามเลือกตั้งได้ ถ้าขาดการระดมสรรพกำลัง หรือการทุ่มเทใช้ยุทธศาสตร์-ยุทธวิธีทุกๆ ด้าน (รวมทั้งการละทิ้งความเป็นพันธมิตรร่วมรัฐบาลลงชั่วคราว) เข้าไปเสริมหนุน

อย่างน้อยๆ หลังจากนี้เราอาจไม่ได้ยินคำกล่าวติดตลกทำนองว่า “ในพื้นที่ภาคใต้แค่ส่งเสาไฟฟ้าลงสมัครก็ได้รับเลือกตั้งแล้ว” อีกต่อไป