‘ชาวอีสานผู้รู้จักโลกกว้าง’ ในทัศนะ ‘ชาร์ลส์ คายส์’ / ของดีมีอยู่ : ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘ชาวอีสานผู้รู้จักโลกกว้าง’

ในทัศนะ ‘ชาร์ลส์ คายส์’

 

“ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอฟ. คายส์” นักมานุษยวิทยาอาวุโสชาวอเมริกัน ที่เดินทางเข้ามาศึกษาผู้คนและวัฒนธรรมในประเทศไทยตั้งแต่ยุค 1960 จนถึงปัจจุบัน เพิ่งเสียชีวิตลงในวัย 84 ปี

ผลงานการศึกษา-วิเคราะห์กลุ่มหนึ่งที่สำคัญและทรงคุณค่ามากๆ ของอาจารย์คายส์ ก็คือ การศึกษาเรื่องภาคอีสาน หรือ “ปัญหาอีสาน”

พื้นที่หลักที่นักวิชาการชาวสหรัฐเดินทางเข้าไปทำงานภาคสนามอย่างต่อเนื่องนานหลายทศวรรษ ก็คือ “บ้านหนองตื่น” ในอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

โดยอาจารย์คายส์ได้พยายามวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมชาวนาในหมู่บ้านชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับรัฐและวัฒนธรรมส่วนกลาง ตลอดจนแนวคิดเรื่องความทันสมัยและการพัฒนา

ท่ามกลางปฏิสัมพันธ์ที่คล้ายจะขัดแย้งกันดังกล่าว นักมานุษยวิทยาฝรั่งผู้นี้เสนอว่าคนอีสานมิได้ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือแยกตัวจากรัฐไทย (ตามโฆษณาชวนเชื่อในยุคสงครามเย็น) แต่พวกเขาอยากให้อัตลักษณ์-ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของตนเองได้รับการยอมรับ

 

ภายหลังการปราบปรามสังหาร “ประชาชนคนเสื้อแดง” (ซึ่งส่วนใหญ่คือ “ชาวบ้านอีสาน”) เมื่อกลางปี 2553

ปลายปีเดียวกัน อาจารย์คายส์ได้ออกมาเสนอแนวคิดสำคัญ ที่จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เกี่ยวกับ “คนเสื้อแดง” และ “ชาวอีสาน”

ครั้งนั้น อาจารย์บรรยายว่า “คนอีสาน” ไม่ได้เป็นตาสีตาสาที่เอาแต่ใช้ชีวิตอยู่ในไร่นา ส่วน “สังคมอีสาน” ก็มิได้มีสภาพเป็น “สังคมชาวนา” อีกต่อไป

ในทางตรงกันข้าม “ชาวอีสานวัยทำงาน” จำนวนมากทั้งชายและหญิงได้ตัดสินใจเดินทางออกนอกหมู่บ้าน เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่หรือข้ามเขตแดนไปต่างประเทศ

พวกเขาและเธอส่วนมากไม่ใช่แรงงานในภาคเกษตรกรรมอีกแล้ว แต่ได้ขยับเคลื่อนตนเองเข้าไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมบริการ รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก

ในทัศนะของนักมานุษยวิทยาอาวุโสชาวสหรัฐ “คนอีสาน” ยุคต้นทศวรรษ 2550 คือ ชาวบ้านชนบทที่มีโอกาสออกท่องโลกกว้าง กระทั่งมีประสบการณ์ชีวิตมากมายและรู้ทันโลก

แม้แต่เมื่อมองกลับเข้าไปภายในหมู่บ้าน หลายสิ่งหลายอย่างก็ผันแปรไป ผ่านสภาพการณ์ที่ชาวบ้านมีความปรารถนาจะผลักดันให้ลูกๆ หลานๆ เติบโตขึ้นเป็น “คนชั้นกลาง” ขณะที่เด็กๆ ในชุมชนชนบทต่างรู้จักคุ้นเคยกับอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี

จากปรากฏการณ์เหล่านี้ ศาสตราจารย์ชาร์ลส์ คายส์ จึงได้นิยามให้ “ชาวบ้านอีสานยุคใหม่” เป็น “cosmopolitan villagers” ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ชาวบ้านผู้รู้จักโลกกว้าง”

 

อาจารย์คายส์วิเคราะห์ต่อว่า แม้ “คนอีสาน” และ “สังคมอีสาน” จะเปลี่ยนแปลงไป ทว่า “คนชั้นกลางกรุงเทพฯ” ส่วนใหญ่ กลับไม่รับรู้และไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงข้างต้น

นี่คือเหตุผลเบื้องหลังอันนำไปสู่วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองในทศวรรษ 2550 (ที่เราอาจเรียกขานรวมๆ ว่า “สงครามเสื้อสี”)

ข้อเสนอเช่นนี้จะกลายเป็นแนวทางหลักในการวิเคราะห์ศึกษา “คนเสื้อแดง” ตลอดจนชัยชนะของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” และพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2554

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่านักวิชาการฝรั่งที่คลุกคลีกับเมืองไทยมานานผู้นี้ นั้นนับถือและให้ความสำคัญแก่พุทธศาสนาเป็นอย่างสูง

อาจารย์จึงมองว่ามิติทางด้านศาสนาหรือความเป็น “ชุมชนศีลธรรม” คือแหล่งยึดเหนี่ยวที่ทำให้ “ชาวบ้านอีสาน” (ซึ่งแยกย้ายกันไปทำงานในดินแดนไกลโพ้น) สามารถกลับมารวมตัวกันได้อย่างเหนียวแน่นในงานบุญประเพณีประจำปีต่างๆ

และความเป็น “ชุมชนศีลธรรม” ดังกล่าว ก็คือปัจจัยหลักที่ช่วยให้ “คนเสื้อแดง” สามารถมารวมตัวกันได้อย่างทรงพลังกลางเมืองหลวง

 

หนึ่งทศวรรษผ่านพ้น พลวัตในสังคมการเมืองไทยยังเคลื่อนหน้าไปเรื่อยๆ โดยไม่ยอมหยุดนิ่ง

ณ ครึ่งแรกของทศวรรษ 2560 ภายหลัง “รัฐประหารซ้ำสอง” เมื่อปี 2557 ดูเหมือนว่า “คนเสื้อแดงอีสาน” ได้กลับเข้าสู่ภาวะหลับใหลนิทรา (เพื่อรอเวลาลุกขึ้นสู้ครั้งใหม่)

และคล้ายกับว่าความเป็น “ชุมชนศีลธรรม” เพียงปัจจัยเดียว จะไม่สามารถประคับประคอง “ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง” ของชาวบ้านเอาไว้ได้ (หากขาดปัจจัยเกื้อหนุนจากสถาบันทางการเมืองอื่นๆ)

ภารกิจการต่อสู้เพื่อทวงคืนประชาธิปไตยค่อยๆ ถูกถ่ายโอนจาก “ชาวบ้านผู้เรียนรู้โลกกว้าง” ไปสู่ “คนรุ่นใหม่/ลูกหลานชนชั้นกลาง” ในเมืองใหญ่ (ซึ่งเคยเป็นปฏิปักษ์ทางความคิดกับ “คนเสื้อแดง”)

“คนรุ่นใหม่” เหล่านี้รู้จักคุ้นเคยใน “โลกกว้าง” ไม่ต่างจาก “ชาวบ้านอีสาน” ยุคทศวรรษ 2550 แถม “เส้นขอบฟ้า” ในการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของพวกเขาและเธอ ยังอาจขยับสูงขึ้นจาก “เส้นขอบฟ้าเดิม” ของคนรุ่นก่อนด้วย

พร้อมกันนั้น มิติทางด้านศาสนา-ชุมชนศีลธรรม ตลอดจนอำนาจนำทางวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่เคยทำงานได้ผล ก็ดูจะไม่ค่อยมี “คุณค่า” ในโลกทัศน์ของคนกลุ่มนี้มากนัก

นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่อาจารย์คายส์คงได้สัมผัสรับรู้ในช่วงปัจฉิมวัย

และรอคอยที่จะมีนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ มาศึกษา ค้นคว้า วิเคราะห์ปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างเป็นระบบต่อไป