ของดีมีอยู่ : ‘คณิตศาสตร์การเมือง’ ที่ ‘หลักสี่’

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

‘คณิตศาสตร์การเมือง’ ที่ ‘หลักสี่’

 

และแล้วโอกาสในการพิสูจน์สมมุติฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์การเมือง ว่าด้วยเรื่องการตัดคะแนนกันเองของฝ่ายประชาธิปไตย ก็อาจจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยไม่ต้องรอถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังมีกำหนดการไม่แน่ชัด แม้จะมีผู้สมัครเบอร์ใหญ่บางรายประกาศตัวลงแข่งขันแล้วก็ตาม

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “สิระ เจนจาคะ” พ้นสภาพ ส.ส. จนทำให้เก้าอี้ ส.ส.กทม. เขต 9 (เขตหลักสี่และเขตจตุจักร ยกเว้นแขวงจตุจักรและจอมพล) ว่างลง และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม

ย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 สิระ ผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในเขตนี้โดยมีเสียงประชาชนสนับสนุน 34,907 คะแนน เฉือนเอาชนะอดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย คือ “สุรชาติ เทียนทอง” ซึ่งได้รับไป 32,115 คะแนน อย่างหวุดหวิด

ขณะที่อันดับสามและอันดับสี่ คือ “กฤษณุชา สรรเสริญ” จากพรรคอนาคตใหม่ และ “พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ” จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้รับเสียงสนับสนุน 25,735 และ 16,255 คะแนน ตามลำดับ

 

ถ้าเราเชื่อสนิทว่าผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือโหวตเตอร์นั้นมีความคิด การตัดสินใจ พฤติกรรม และจุดยืนทางการเมืองเหมือนเดิม (คือเคยเลือกตั้งอย่างไร ก็ยังคงเลือกแบบนั้น แม้เวลาจะผ่านไปสามปีแล้วก็ตาม)

โจทย์ท้าทายย่อมไปอยู่ตรงจำนวนผู้ลงสมัครในศึกเลือกตั้งซ่อม

หากโครงสร้างการแข่งขันยังเป็นสี่พรรค (เหมือนที่เพื่อไทยกับก้าวไกลเคยชนกันในหลายสนาม และพลังประชารัฐเคยเอาชนะประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งซ่อมที่ภาคใต้)

ผลคะแนนที่หลักสี่และบางส่วนของจตุจักรก็อาจออกมาไม่ต่างจากเดิม

แต่ถ้าประชาธิปัตย์ยอมหลีกทางให้พลังประชารัฐ ในฐานะแชมป์เก่า ที่สนามเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ฯ โดยที่เพื่อไทยก็เป็นคู่แข่งเพียงรายเดียว จากฝั่งประชาธิปไตย

นี่ก็จะเป็นการวัดพลังกันระหว่างกลุ่มการเมืองสองขั้ว สมความปรารถนาและความคาดหวังของใครหลายคน

ทั้งยังมีแนวโน้มสูงที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะ (คำนวณด้วยการนำฐานคะแนนเสียงของผู้สมัครพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่มารวมกัน ซึ่งได้ผลลัพธ์มากกว่าฐานคะแนนเสียงของฝั่งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์)

ทว่าหากเกิดศึกสามก๊ก ระหว่างพลังประชารัฐกับเพื่อไทยและก้าวไกล นั่นก็จะนำไปสู่ความวิตกกังวล (และการกล่าวโทษ) เรื่องที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีโอกาสตัดคะแนนกันเอง (จนพ่ายแพ้ทั้งคู่) อย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าสมมุติฐานหรือการคิดเชิงยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ วางอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า “ประชาชน” ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ตลอดจนสังคมการเมืองไทย) นั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปเลย ท่ามกลางภาวะผันผวนต่างๆ นานาตลอด 2-3 ปีหลัง

(ยังไม่รวมข้อเท็จจริงเชิงประชากรศาสตร์ว่าจะมีคนหน้าใหม่ๆ ที่เพิ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงครั้งแรกในการเลือกตั้งซ่อมหนนี้เพิ่มเติมเข้ามา และมีผู้ลงคะแนนหน้าเดิมหลายรายที่ล้มหายตายจากไป)

 

แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นผ่านการต่อสู้ในคูหาเลือกตั้งที่เขตหลักสี่และบางส่วนของเขตจตุจักร

ไม่ว่าจะเป็นการที่อดีต ส.ส.สุรชาติ และ/หรือพรรคเพื่อไทย สามารถกลับมาทวงคืนเก้าอี้ได้สำเร็จ

หรือการที่พรรคพลังประชารัฐต้องประสบความพ่ายแพ้-สูญเสียเก้าอี้ในสภา

หรือการที่ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลและประชาธิปัตย์ (ถ้าตัดสินใจลงแข่ง) ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

นั่นก็แสดงว่าพฤติกรรมของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งและบรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองนั้นกำลังผันแปรไปอีกครั้ง

ส่วนผลการเลือกตั้งอื่นๆ ในอนาคต เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งทั่วไปหนหน้า ก็ไม่สามารถจะถูกพยากรณ์/คาดการณ์ได้ด้วยสมมุติฐานชุดเดิมอีกต่อไป

ยิ่งถ้าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมี “คุณ” กับทางฝ่ายเพื่อไทย และ/หรือก้าวไกล อันหมายความว่าคะแนนเสียงก้อนใหญ่ของ “ประชาชน” ในเขตเลือกตั้งที่ 9 ของ กทม. ได้สะวิงจากขั้วรัฐบาลมาสู่ขั้วฝ่ายค้าน

ก็มีแนวโน้มสูงที่วันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อาจถูกยืดออกไปให้ไกลที่สุด

เช่นเดียวกับที่รัฐบาลชุดปัจจุบันคงต้องประคับประคองตัวเองให้อยู่ในอำนาจจนใกล้ครบวาระมากที่สุด (แม้สภาจะล่มแล้วล่มอีกก็ตาม)