ฐากูร บุนปาน : พ่อๆ “พวกสภาของไทย” เขากำลังออกกฎหมายอะไรกันอยู่ครับ ?

ช่วงนี้ไปไหนมาไหน จะถือหนังสือสลับติดมือไปด้วยอยู่สองเล่ม

ที่ถือพร้อมกันไม่ได้ เพราะเล่มใหญ่นิดหนึ่งครับ-หนัก (ฮา)

เล่มหนึ่งคือ “ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง” ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล

อีกเล่มคือ “17 สมการเปลี่ยนโลก” ที่เขียนโดย Ian Stewart แปลโดย คุณสว่าง พงศ์ศิริพัฒน์ และ ดร.ยุทธนา ตันติรุ่งโรจน์ชัย

ได้ ดร.วุทธิพันธุ์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นบรรณาธิการพิเศษ

เล่มแรกนั้นเป็นหนึ่งในหนังสือชุด 4 เล่มของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันของ “เดอะปุ๊” ธนาพล อิ๋วสกุล พิมพ์จำหน่าย

ประกอบด้วย คนไทย/คนอื่น, โฉมหน้าราชาชาตินิยม, 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

และประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง

หิ้วมาตั้งแต่ช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ แล้วค่อยๆ ละเลียดอ่าน

บางเล่มบางเรื่องเคยอ่านมาก่อนบ้างแล้ว แต่อ่านใหม่ก็ได้มุมมองใหม่ ความเข้าใจใหม่

และรู้สึก (เอาเอง) ว่าเข้าใจสังคมไทยมากขึ้นอีกสักหนึ่งหรือสองกระเบียด

เมื่อพอจะเข้าใจเรื่องที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นอนาคตข้างหน้าอยู่รางๆ

แต่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ที่ตั้งใจจะพูดวันนี้คือขอเป็นเซลส์กิตติมศักดิ์ทำงานให้เดอะปุ๊เขาแบบเปล่าๆ สักหน

เพราะหนังสือน่าอ่านน่าเก็บครับ

4 เล่มชุดปกอ่อนจากราคา 1,230 บาท ตอนงานสัปดาห์ฯ ลดเหลือ 920 บาท

ชุดปกแข็งจากราคา 1,700 บาท งานสัปดาห์ฯ เหลือ 1,190 บาท

ตอนนี้จะยังเหลืออีกหรือไม่ ราคาเท่าไหร่

ลองสอบถามที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

หรือที่ตัวคุณธนาพลเขาดู

ส่วนอีกเล่มคือ “17 สมการเปลี่ยนโลก” นั้น เป็นของสำนักพิมพ์มติชนเอง

สารภาพเสียก่อนว่า ในฐานะนักเรียน “ศิลปภาษา” (เดี๋ยวนี้ไม่รู้ยังมีหรือเปล่า หรือเขาเรียกเป็นอะไรไปแล้ว)

บางสูตรบางสมการอ่านไม่รู้เรื่องทั้งหมดหรอกครับ

และเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่และไม่ชอบคณิตศาสตร์อย่างจริงจัง

ก็คงจะเกิดอาการเดียวกัน

แต่ถึงกระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็อ่านสนุกครับ

ขอยืนยันว่าสนุกจริงๆ

ไม่ใช่สนุกเพราะเป็นหนังสือของสำนักพิมพ์มติชนเอง

แต่สนุกเพราะเนื้อหา

คนเขียนเขียนดี คนแปลก็แปลเก่ง

ไม่ต้องเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดก็ได้ครับ

แต่เขาทำให้เราเข้าใจแนวคิด ที่มา การประยุกต์ใช้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตประจำวันได้

ไม่ว่าจะสมการของพีธากอรัส ที่เป็นสูตรซึ่งคนจำได้มากที่สุดในโลก สูสีกับสมการของไอน์สไตน์

หรือสมการของนิวตัน ที่ทำให้อยากย้อนกลับไปดูหนังเรื่อง “อินเตอร์สเตลล่า” อีกรอบ

ไปจนถึงสูตรของมนุษย์ทองคำ ที่เป็นหนึ่งในต้นตอของความวิบัติทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ด้วยภาษาง่ายๆ ด้วยตัวอย่างง่ายๆ

แสดงถึงความรู้จริงของคนเขียน

คล้ายๆ กับที่ไอน์สไตน์เคยพูดไว้ (ขอยืมคำคนดังมากทำให้ขลังขึ้นสักหน่อย) ว่า

“ถ้าคุณอธิบายอะไรสักอย่างง่ายๆ ไม่ได้ ก็แปลว่าคุณไม่รู้เรื่องนั้นจริง”

เป๊ะเลยครับ-เล่มนี้

ที่เกิดอยากจะเปิดสมองของตัวเองขึ้นมานั้นไม่มีเหตุผลอะไรมากมาย

แค่เพราะว่าวันหนึ่ง ลูกชายซึ่งกำลังอยู่ในวัยกึ่งเด็กกึ่งผู้ใหญ่ ถามทะลุกลางปล้องขึ้นมาบนโต๊ะกินข้าว

ระหว่างกินไปดูข่าวโทรทัศน์กันไปว่า

“พ่อๆ สงสัยว่าพวกสภาของไทยเนี่ย เขาออกกฎหมายอะไรกันอยู่เหรอครับ

เพราะรัฐสภายุโรปเขาเริ่มร่างกฎหมาย AI (ปัญญาประดิษฐ์) ตั้งแต่ปีที่แล้ว

เรื่องตำแหน่งกับปริมาณงานของ AI ว่าจะแทนที่มนุษย์ได้แค่ไหนน่ะครับ”

ถูกเด็กอายุยังไม่ถึง 20 ถามเข้าให้แบบคนเป็นพ่อตอบไม่ได้ ข้าวจุกอยู่ที่ลำคอนี่

ถ้าไม่ขวนขวายไปหาอะไรมาประดับสมองเพิ่มเติม

เดี๋ยวอีกหน่อยมันเลิกคุยด้วย ก็จะเหงาตาย (ฮา)

แต่ถึงอ่านโน่นอ่านนี้ อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ไปแล้ว

ก็ยังไม่มีคำตอบให้ลูกอยู่ดี

อันที่จริง จะว่าไม่มีไม่ได้

แต่กลัวตอบไปตามความเป็นจริงแล้วเด็กเกิดช็อก หมดหวังในชีวิตหรืออนาคตของตัวเอง

พ่อแม่ยิ่งจะช้ำยกกำลังสอง

เฮ้อ