ฐากูร บุนปาน : นี่เราอยู่โลกเดียวกันหรือเปล่า?

สืบเนื่องมาจากกรณีที่อาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งว่า ภรรยาที่เดินทางกลับมาเมืองไทย ต้องติดแถวตรวจคนเข้าเมืองอยู่ถึง 4 ชั่วโมง พร้อมกับชาวต่างประเทศอื่นๆ อีกร่วม 5,000 คนนั้น

มีปฏิกิริยา (ทั้งที่มีสติ ไร้สติ หมดสติ สิ้นสติไปแล้ว หรือไม่เคยมีสติเลย แต่ชอบแสดงภูมิ) ตามมาสารพัด

ทำให้เกิดอาการคันมือ ต้องร่วมแสดงหางอึ่งกับเขาบ้าง

อย่างน้อยสองประเด็น

ประเด็นแรก ว่าด้วยด่านตรวจคนเข้าเมืองไทย

อันนี้รูปมันฟ้อง ข้อเท็จจริงชัดเจนยืนยันอยู่ คำชี้แจงประเภทที่ว่าเครื่องลงพร้อมกัน 25 ไฟลต์ ยังไงก็ต้องมีคนเป็นพันรอเข้าด่านตรวจ

ฟังไม่ขึ้นครับ

ยิ่งแสดงถึงความ “ห่วยแตก” อย่างที่มีผู้วิจารณ์ไว้

ไม่เคยรู้กันเลยหรือครับ ว่าวันหนึ่งๆ มีเครื่องมาลงสุวรรณภูมิ (หรือดอนเมือง หรือสนามบินอื่นๆ ที่ต้องตรวจคนเข้าเมืองกี่เที่ยว)

และช่วงเวลาไหนบ้าง

มีมาตรการจัดการกับ “ช่วงเวลาเร่งด่วน” ไหมครับ

1. การท่าอากาศยาน กับ ตม. ประสานงานกันอีท่าไหน

2. การจัดการวิกฤต (ที่เกิดขึ้นแทบทุกวันของ ตม.) คืออะไร

ในชั่วโมงเร่งด่วน เพิ่มช่องทางและเจ้าหน้าที่ได้ไหม

ถ้ามันเหลือบ่ากว่าแรง สุดปัญญาที่ระบบราชการจะจัดการได้

จ้างเอกชนมาทำแทนได้ไหม

ถามจริงๆ ว่า ใครคิดบ้างว่าถ้า “เอาต์ซอร์ส” ไปแล้วบริการจะแย่กว่าเดิม

3. ถ้ายังประกาศว่า การท่องเที่ยวจะเป็นรายได้หลักตัวหนึ่งของเศรษฐกิจ

ก็ต้องปรับปรุงกลไกรองรับการท่องเที่ยวทั้งหลายให้มีประสิทธิภาพ สะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย

เริ่มตั้งแต่หน้าประตูบ้านอย่าง ตม. นี่ก่อนเลย

4. อย่าลืมว่าหัวใจหลักของด่าน ตม. มี 2 เรื่องนะครับ

คือตรวจสอบความปลอดภัยกับบริการ

ข้อหลังนี่ท่านสอบตกมานานแล้ว

(หรือแก้เป็นช่วงๆ ไป พอข่าวซา คนเลิกสนใจก็กลับมาทุลักทุเลอย่างเดิม)

5. และตัวที่ทำลายหลักการข้อแรกมากที่สุด ก็ไม่ใช่ใครอื่น

แต่เป็น ตม. หรือที่ถูกต้องเรียกว่า “ระบบเจ้าขุนมูลนาย” ของเรากันเอง

เพราะขณะที่คนทั้งต่างชาติและไทยจำนวนมหาศาล ต้องไปยืนเข้าแถวรอตรวจกันเป็นชั่วโมง

ท่านก็จัด “ช่องทางพิเศษ” เอาไว้บริการผู้ใหญ่ หรือคนมีเส้นทั้งหลาย

ไม่ต้องพูดเรื่องความปลอดภัยหรือก่อการร้ายหรอกครับ

เอาแค่ว่าหิ้วสินค้าราคาแพงอะไรติดตัวเข้ามา ต้องเสียภาษีหรือไม่

ก็ไม่เคยได้รับการตรวจสอบ

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งวัน

ต่อหน้าคนเป็นพันเป็นหมื่นที่ไม่มีเส้นทั้งหลาย

นี่เราอยู่โลกเดียวกันหรือเปล่า?

ประเด็นต่อมา ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์

โดยเฉพาะจากฝั่งที่ออกมาตั้งหน้าตั้งตา “ถล่ม” นั้น

ด้วยข้อหาว่า ไม่รักชาติ (เพราะบังอาจมาวิจารณ์ข้อบกพร่องขององคาพยพในชาติ) บ้าง

เป็นแผนสมคบคิดทางการเมืองบ้าง

หรือมาพูดเพราะไม่มีเส้น เพราะมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ (สองอย่างหลังนี้น่าเกลียดมาก และสิ้นคิดจนไม่รู้จะหาคำมาอธิบายอย่างไร) บ้าง

ฯลฯ

ทั้งหมดนี้อยู่บนพื้นฐานสองข้อ

คือหนึ่ง ทำเป็นไม่เห็นไม่รับรู้ ว่ามีปัญหาอย่างนี้ดำรงอยู่จริง

(จะเพราะอาย เพราะจุดยืนการเมืองไม่ตรงกัน เพราะตัวเองมีเส้น ไม่เคยต้องเผชิญปัญหาเหมือนชาวบ้านทั่วไป)

ฉะนั้น คนธรรมดาจึงอย่าบ่น และไม่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอะไรทั้งสิ้น

อีกหนึ่ง (ซึ่งร้ายกาจและน่าเกลียดกว่า) คือรู้อยู่แก่ใจ ว่าเกิดอะไรขึ้น ปัญหาเป็นอย่างไร แต่จะด่า จะเหยียดหยาม จะปลุกปั่น (ไม่ให้เชื่อที่มันพูดมันเขียน)

หรือเลยไปกว่านั้นก็คือทำให้เกิดความเกลียดชังคนที่เอาข้อเท็จจริงออกมาวางแบ

เพราะมันไม่ใช่พวกเรา

หรือเราไม่ชอบขี้หน้ามัน

นี่เราอยู่โลกเดียวกันจริงๆ หรือ?

เรื่องทำนองคล้ายๆ กันอย่างนี้ ไม่ได้เกิดกับกรณี ตม. หรือเกิดกับตัวอาจารย์ปิยบุตรเท่านั้น

แต่เป็นบรรทัดฐานในการคิด การแสดงออกของคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยช่วงหลัง และจะให้แฟร์ก็ต้องบอกว่ามีด้วยกันทุกสี ทุกฝ่าย

อาการแบบนี้ปรองดองเปลือกๆ เอาไม่อยู่หรอกครับ

เอาเป็นว่าแก้ปัญหาระดับพื้นฐานง่ายๆ 2 ข้อให้ได้ก็พอ

อย่างแรก อะไรเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ก็แก้ด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงไป

อย่าเผลอไปเลือกข้าง เลือกสี เลือกฝ่าย เลือกปฏิบัติให้มีปัญหาอารมณ์ความรู้สึกตามมาอีก

อย่างต่อมาคือ รับความจริงเสียว่า ปรองดองแบบเจอหน้าแล้วดูดปากกันจ๊วบจ๊าบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

อยู่กันแบบเห็นด้วยกันบ้าง เห็นต่างกันบ้าง

แต่ไม่ลุกขึ้นมาฆ่ากัน ไม่ปลุกปั่นให้ลุกขึ้นมาฆ่ากัน

เราถึงจะกลับมาอยู่โลกเดียวกันได้เสียที