ของดีมีอยู่ : จากเหยียด ‘คนอีสาน’ สู่ ‘คนรุ่นใหม่’ และการผลักไสจากรัฐ / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ประเด็น “เหยียดคนอีสาน” ในคลับเฮาส์ กลายเป็นกระแสข่าวคราวอันครึกโครม

แต่เอาเข้าจริงแล้ว รูปแบบ-วิธีการเหยียดดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเดินตามรอยอคติที่ดำรงอยู่มายาวนานอย่างน้อยๆ 3-4 ทศวรรษ

ความพ้นยุคหมดสมัยของ “การเหยียดคนอีสานในคลับเฮาส์” ถูกพิสูจน์ผ่านปรากฏการณ์ที่การเหยียดระลอกนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักแน่นรุนแรง ทั้งจากรัฐบาล จากนักการเมืองฝ่ายค้าน หรือผู้คนในวงการบันเทิง

อย่างไรก็ตาม หากใครติดตามการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ ก็อาจได้พบเห็นวิวาทะเรื่อง “การเหยียดคน/ภาคอีสาน” ที่แตกต่างออกไปจากกรณีดราม่าในคลับเฮาส์

กล่าวคือ หลังๆ มานี้ ผมพบว่าพฤติกรรม “เหยียดคน/ภาคอีสาน” นั้นไม่ได้กินความเพียงแค่การพูดจาดูถูกเหยียดหยามชาติพันธุ์ หน้าตา ภาษา วัฒนธรรม ฯลฯ อย่างทื่อๆ ตรงๆ

แต่ในบางครั้ง การแสดงความเห็นต่อสาธารณะว่าภาคอีสานถูกกด คนอีสานถูกสาป ภูมิภาคแห่งนี้ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ก็อาจถูกตีความเป็นการ “เหยียดคน/ภาคอีสาน” ได้เช่นกัน

โดยความเห็นสาธารณะข้างต้นมักถูกตอบโต้ผ่านชุดความคิดที่ว่าสังคมอีสานปัจจุบันนั้นพัฒนาไปมากแล้ว ถ้าพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจของเมืองการค้าชายแดนหลายแห่ง ความทันสมัยของหัวเมืองใหญ่ในภูมิภาค และเส้นทางการคมนาคมที่ขยับขยายไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

พูดอีกอย่างคือการปลุกคนอีสานให้ลุกขึ้นสู้ ด้วยการฉายให้เห็นสภาพปัญหาว่าพวกเขาถูกกดขี่ข่มเหงในเชิงโครงสร้างอย่างไรนั้น อาจเป็น “ความจริง” ที่ไม่น่ารับฟัง เท่ากับคำอธิบายหรือวาทศิลป์ชนิดอื่นๆ

เช่น การนิยามว่า “คนอีสาน” ที่เดินทางออกไปเป็นแรงงานต่างถิ่นจำนวนมหาศาล คือ “ชาวบ้านชนบทผู้เรียนรู้โลกกว้าง”

หรือการนิยามว่าในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา “คนอีสาน” คือ “ผู้ตื่นตัวทางการเมือง” หรือ “ยักษ์ที่ถูกปล่อยออกจากขวด” ในนาม “กลุ่มคนเสื้อแดง”

รวมทั้งการประเมินความสำเร็จของ “คนอีสาน” ผ่านแง่มุมศิลปวัฒนธรรม เช่น สถานภาพของ “หมอลำ” ที่เป็นสินค้าบันเทิงตลาดล่างแต่มีฐานกว้างใหญ่ ทั้งยังสามารถปรับตัวเข้ากับความทันสมัยอื่นๆ และ “ความเป็นไทย” ในส่วนกลาง ได้อย่างราบรื่น

ในท่ามกลางความระมัดระวังและการใส่ใจเรื่อง “ความถูกต้องทางการเมือง” ดูคล้ายสังคมจะต้องเลือกพูดถึง “ชัยชนะบางด้าน” ของผู้ตกเป็น “เป้าหมายในการเหยียด” มากกว่าจะกล่าวถึง “ความพ่ายแพ้” หรือ “การตกเป็นเบี้ยล่าง” ซึ่งดำรงอยู่จริงอย่างน่ากระอักกระอ่วน ณ อีกฟากมุมหนึ่ง

 

ปัญหา “การเหยียดคนอีสาน” คือคนละเรื่องเดียวกันกับสถานภาพของ “คนรุ่นใหม่” ในสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

ปีก่อน กระแสตื่นตัวทางการเมืองของเหล่าคนรุ่นใหม่นั้นปะทุขึ้นโดยฉับพลันและทรงพลังอย่างสูง

หลายฝ่ายประเมินว่าพวกเขาอาจเป็น “ตัวแสดงอื่นๆ” ในสงคราม “แบ่งขั้ว” ทางการเมือง ที่ดำรงอยู่เสมือนโรคเรื้อรังมายาวนานร่วมทศวรรษ

นี่คือ “ตัวแสดงหน้าใหม่” ที่อาจผลักดันสังคมไทยไปสู่ “ทางออก/ทางเลือกใหม่ๆ” เป็นอนาคตที่พอจะมองเห็นหนทางของการปรับประสานต่อรอง การปฏิรูป และการประนีประนอม

หนึ่งปีผ่านไป หากประเมินจากปรากฏการณ์ที่แกนนำม็อบเยาวชนทั้งหลายมีคดีติดตัวกันอย่างมากมาย หลายคนยังไร้อิสรภาพอยู่ในเรือนจำ

รวมถึงคำวินิจฉัยล่าสุดของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าสามแกนนำคณะราษฎร 2563 อย่าง “อานนท์ นำภา” “ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” และ “ภาณุพงศ์ จาดนอก” มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองฯ

ก็เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐไทยไม่สามารถแสวงหาหนทางประนีประนอมกับ “คนรุ่นใหม่” ได้ แต่กำลังจะผลักไสพวกเขาให้กลายเป็น “คนเสื้อแดง-คอมมิวนิสต์-ผู้ก่อการร้าย” ขบวนล่าสุด

 

“คนรุ่นใหม่” ในสังคมไทยร่วมสมัย จึงไม่ต่างจาก “คนอีสาน”

ในด้านหนึ่ง พวกเขาคือผู้ทรงอำนาจ-ผู้มีอิทธิพล ในโซเชียลมีเดีย ในนิยายออนไลน์ ในการสร้างสรรค์จินตนาการว่าด้วยคู่จิ้น และในวัฒนธรรมแฟนด้อม

แต่ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขากำลังถูกไล่ต้อนเข้าสู่จุดอับ-ทางตันทางการเมือง

และค่อยๆ กลายสภาพเป็น “อีกหนึ่งความเป็นอื่น” จากมุมมองของผู้หลักผู้ใหญ่และ/หรือรัฐไทย