ของดีมีอยู่ : ประมวลกฎหมายอาญา “มาตรา 112”

(ภาพซ้าย) ภาพประกอบจาก iLaw (https://freedom.ilaw.or.th/freedom-of-expression-101/QA-112) (ภาพขวา) ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คําถามที่มีต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กำลังก้องดังในสังคมอีกครั้ง

ผ่านการชุมนุมของคณะราษฎรที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม

ผ่านการขยับเขยื้อนของพรรคการเมืองฝ่ายค้านบางส่วน และแรงต่อต้านคัดค้านที่ตามมาโดยทันที

หนึ่งใน “เสียงกลางๆ” ที่ออกมาพูดเรื่องนี้ไว้อย่างน่ารับฟังผ่านช่องยูทูบมติชนทีวี ก็คือ “ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์รณกรณ์เริ่มต้นด้วยการระบุถึงปัญหาเบื้องต้น 3 ประการ ของการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้แก่

หนึ่ง ม.112 ถูกใช้อย่างถี่ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง

สอง มีการตีความกฎหมายที่เกินขอบเขตของตัวบท จนขัดแย้งกับรากฐานของกฎหมายอาญา

สาม ในกระบวนการดำเนินคดี ผู้ต้องหาคดี 112 มักไม่ค่อยได้รับการประกันตัว สวนทางกับผู้ต้องหาในคดีอื่นๆ ที่มีอัตราโทษสูงกว่า ซึ่งได้รับสิทธิดังกล่าว

การใช้ ม.112 อย่างถี่ กว้าง ไม่แม่นยำ ผ่านกระบวนการที่ไม่เปิดเผย-เป็นความลับ นำไปสู่ความไม่ชัดเจนในเชิงหลักการ ดังที่นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มธ. บรรยายว่า

“สุดท้ายกฎหมายอาญาควรจะต้องบอกเราได้ว่า อะไรที่เราทำได้ อะไรที่เราทำไม่ได้ อะไรทำแล้วจะติดคุก อะไรทำแล้วรัฐห้ามทำ อะไรผิดศีลธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานร่วมกันของสังคม

“แต่มาตรา 112 ที่ไม่ใช่ตัวลายลักษณ์อักษรนะครับ ที่บังคับใช้กันอยู่ (ทำให้) เราไม่กล้าเดิน เราไม่กล้าพูด เราไม่กล้าทำ มันทำให้เกิดความกังวลว่า ทำไปแล้ว เดี๋ยวมันจะผิด ก็เลยไม่กล้าทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไปเลย ทั้งที่จริงๆ มันมีขอบเขตของมันอยู่”

 

ผศ.ดร.รณกรณ์ คืออีกคนที่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการนำปัญหาเรื่อง ม.112 เข้าไปพูดคุยปรึกษาหารือกันในสภา ตามกระบวนการของระบอบประชาธิปไตย ดังทัศนะที่ว่า

“เราอยู่ในประเทศที่อย่างน้อยเราเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย เรามีรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหมดดีแล้วที่มันเอาเข้าสภา มันไม่ควรมีเรื่องไหนเลยที่บอกว่าเราคุยกันในสภาไม่ได้ เพราะฉะนั้น มันต้องลงถนน มันไม่ใช่กระบวนการทางประชาธิปไตยที่มันควรจะเป็น

“ถ้ากฎหมายมีปัญหา แก้กฎหมายผ่านสภา ถ้าการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา กรรมาธิการเชิญผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงอธิบายสอบถาม นี่คือกระบวนการที่เรียกว่าประชาธิปไตย”

หากมุ่งพิจารณาไปที่ตัวบทของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อาจารย์จากธรรมศาสตร์คาดหวังว่านักการเมืองในสภาควรจะถกเถียงกันเกี่ยวกับสองปัญหาสำคัญ

ข้อแรก ม.112 นั้นเอาผิดกับการกระทำสามลักษณะ ได้แก่ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย แต่ระวางโทษ โดยเฉพาะโทษสูงสุด คือ จำคุก 15 ปีนั้น ดูจะไม่ได้สัดส่วนกับความผิด

“ถ้ามันเป็นเรื่องต่อชีวิตร่างกาย 15 ปี อธิบายได้ แต่การกระทำต่อชื่อเสียง ต่อให้จะบอกว่าเป็นความมั่นคงของรัฐ ถ้าเป็นนักกฎหมายอาญาเขาจะถามว่าเราลงโทษเพื่ออะไร? เขาเป็นคนเลวขนาดจะต้องลงโทษ 15 ปี แก้แค้นทดแทน 15 ปี หรือเขาต้องอาศัย 15 ปีเพื่อแก้ไขฟื้นฟูปรับทัศนคติ ทำไมต้อง 15 ปี? 15 ปี มันคือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตที่มีความสำคัญมาก” ดร.รณกรณ์ตั้งคำถาม

ข้อสอง นักกฎหมายไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่าถูกสอนมาตั้งแต่ยุคของ “ศ.จิตติ ติงศภัทิย์” ว่า ในการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดานั้น ถ้าทำโดยสุจริตจะได้รับการยกเว้นโทษ หรือถ้าพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมจะไม่ถูกลงโทษ

คำถามที่นักวิชาการด้านกฎหมายอาญาผู้นี้ทิ้งโจทย์ไว้ก็คือ เราควรประยุกต์ใช้หลักการดังกล่าวกับ ม.112 ด้วยหรือไม่?

 

อาจารย์รณกรณ์ยืนยันว่าการนำเรื่อง ม.112 เข้าไปพูดคุยพิจารณาในพื้นที่รัฐสภา ถือเป็นมาตรฐานที่สังคมนี้พึงมี

“สังคมประชาธิปไตยคือสังคมของการคุย การฟังคนที่เห็นต่าง มันไม่ได้แปลว่าเราพูดแล้ว แล้วมันจะต้องเปลี่ยนตามใจเรา วันนี้เราพูดแล้วในสภา เสียงเราน้อยกว่า เราแพ้ ก็โอเค ไม่เป็นไร ก็หาเสียงใหม่ เอามาเป็นแคมเปญหาเสียงว่าถ้าอยากเปลี่ยนกฎหมายเรื่องนี้ เลือกพรรคนี้เพิ่มขึ้น หรือรวบรวมพรรคที่มีความเห็น (แบบเดียวกัน) เพิ่มมากขึ้น ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง

“เป็นไปได้อยู่แล้ว และก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่จะมีคนเขาไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ หรือเขาคิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงไปอีกทางหนึ่ง ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ

“สิ่งที่ผิดปกติคือการบอกว่าเรื่องนี้ห้ามพูด เรื่องนี้ห้ามเอามาคุยกัน เรื่องนี้พูดแล้วมันจะแตกแยก สังคมที่มันพัฒนามันเกิดจากการโต้เถียง สังคมที่สงบไม่ได้แปลว่าทุกคนปิดปาก แต่แปลว่าสังคมที่แตกแยกทะเลาะกันนี่แหละ แต่ทุกคนไม่ได้ใช้กำลัง ทุกคนรับฟังกันและกัน นี่คือสังคมที่สงบ

“สังคมที่ทุกคนปิดปากหมด ไม่พูดอะไรเลย เดี๋ยวกลัวทะเลาะ อันนั้นไม่ใช่สังคมที่ใครควรจะมีชีวิตอยู่ในสังคมแบบนั้น”