ของดีมีอยู่ : ชีวิตใหม่ของ “ครูบุญยงค์ เกตุคง” / ปราปต์ บุนปาน

(ซ้าย) ครูบุญยงค์ เกตุคง (ขวา) อาจารย์บรูซ แกสตัน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ข่าวการเสียชีวิตของ “อาจารย์บรูซ แกสตัน” ทำให้มีโอกาสได้ย้อนกลับไปอ่านบทความขนาดสั้นๆ ชื่อ “ครูกับลูกศิษย์ จากวันนั้น…ถึงวันนี้” ซึ่งอาจารย์บรูซเขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ “ครูบุญยงค์ เกตุคง ศิลปินแห่งชาติ : ระนาดไข่มุกหล่นบนจานหยก” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี 2535

ในบทความดังกล่าว อาจารย์บรูซได้เขียนเล่าเหตุการณ์ตั้งแต่ครั้งที่ตนเองได้ฟังเพลง “ชเวดากอง” ที่แต่งโดยครูบุญยงค์ ระหว่างทำงาน-ศึกษาดนตรีอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2516

ถึงกับนั่งรถไฟลงมาตามหาและฝากตัวเป็นศิษย์ครูบุญยงค์ถึงที่กรุงเทพฯ

ก่อนที่ครูบุญยงค์และอาจารย์บรูซจะได้ร่วมกันนำดนตรีไทยเดิมไปเผยแพร่จัดแสดงบนเวทีระดับนานาชาติ

ดังที่ลูกศิษย์ฝรั่งเขียนบรรยายเอาไว้ว่า

 

“ต่อมาในปี 2521 ครูก็ได้นำวงดุริยางค์ไทยของวิทยาลัยพายัพ ไปแสดงในงานมหกรรมดนตรีที่ฮ่องกงและที่กรุงเบอร์ลิน ในงานมหกรรมดนตรี Matamusic ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูง เพราะนักแต่งเพลงคนสำคัญๆ ระดับโลก ก็เคยเอาผลงานไปแสดงในงาน Matamusic นี้…

“งานแสดงของเราที่มหกรรม Matamusic นั้นประสบความสำเร็จ และหลังจากที่เรากลับมาแล้ว ก็ได้เตรียมที่จะไปแสดงดนตรีไทยให้เผยแพร่ไปในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง เราได้อัดเทปเพลงเพื่อส่งไปเป็นตัวอย่างให้โรงละครต่างๆ ในต่างประเทศ”

แต่แล้วเหตุการณ์พลิกผันบางประการก็พลันบังเกิดขึ้นกับสภาพร่างกายของครูบุญยงค์ ดังรายละเอียดที่อาจารย์บรูซเขียนเล่าว่า

“ในการบันทึกเสียงครั้งนั้น ครูได้เดี่ยวระนาดเอกเพลงม้าน้ำ ผมเข้าใจว่าคงเป็นการเดี่ยวระนาดเอกครั้งสุดท้ายของครูที่มีการบันทึกเสียงเอาไว้ด้วย เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ครูต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยโรคปอด พักรักษาตัวอยู่นานนับเดือน

“หลังจากที่กลับบ้านได้แล้ว ครูบ่นว่าข้อมือหมดกำลัง ตั้งแต่วันนั้นท่านก็ไม่จับระนาดเอกไม้แข็งอีก คงตีด้วยไม้นวมเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น

“นี่คือความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตของครู ที่ผมได้เฝ้าสังเกตอยู่ ผมรู้สึกว่าครูเสียใจมาก ที่ไม่สามารถตีระนาดเอกได้เหมือนก่อน

“ในเวลาต่อมาเมื่อครูครบเกษียณราชการ และย้ายบ้านจากถนนตกไปอยู่บางขุนเทียน ชีวิตของครูช่วงนี้ราวกับว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง หมายความว่าเป็นยุคใหม่ที่ครูจะต้องหางานเลี้ยงชีพใหม่”

 

หลังเกษียณอายุราชการจากกรุงเทพมหานคร ครูบุญยงค์ได้ขยับขยายไปสอนดนตรีไทยให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านดนตรีไทยเดิมให้กับบริษัทบัตเตอร์ฟลาย ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักดนตรีไทยสากลหัวสมัยใหม่ในยุคนั้น

เข้าปี 2525 หรือวาระ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ครูบุญยงค์ได้มีส่วนสนับสนุนอาจารย์บรูซ ในการสร้างสรรค์ผลงานเพลงชิ้นสำคัญอย่าง “เจ้าพระยาคอนแชร์โต”

และในปีเดียวกัน วงดนตรีไทยเดิมประยุกต์ที่มีชื่อว่า “วงฟองน้ำ” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่ออนุรักษ์เพลงโบราณที่กำลังจะสูญหาย ประยุกต์เพลงไทยเดิมให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้ฟังรุ่นใหม่ และสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ๆ ที่ยังมี “วิญญาณแบบไทยๆ” แฝงอยู่

ผลงานของ “วงฟองน้ำ” ภายใต้การบุกเบิกของครูบุญยงค์และอาจารย์บรูซ ได้ปรากฏทั้งในรูปการแสดงสดอันน่าตื่นตาตื่นใจ, เพลงประกอบภาพยนตร์ และเพลงบันทึกเสียงในแผ่นซีดี

 

แน่นอนว่าความสำเร็จของ “วงฟองน้ำ” นั้นเกิดจากความกล้าหาญที่จะคิดใหม่-ทำใหม่ ของคนรุ่นเก่า ซึ่งมีองค์ความรู้แบบเก่าเป็นอย่างดี

แต่หากประเมินผ่านชีวประวัติของครูบุญยงค์ที่ปรากฏในงานเขียนของอาจารย์บรูซแล้ว

เราก็อาจมองได้ว่า “วงฟองน้ำ” คือชีวิตใหม่ของ “ครูดนตรีไทยเดิม” รายหนึ่ง ที่เกษียณอายุ/หมดวาระ/หลุดพ้นออกจาก “ระบบราชการ”

หรือถ้าจะลองสรุปเรื่องราวทั้งหมดด้วยพล็อตแบบนิยายกำลังภายในหน่อยๆ “วงฟองน้ำ” ก็อาจถือเป็นการก่อกำเนิดขึ้นใหม่อย่างยิ่งใหญ่ ของยอดฝีมือที่เคยสูญเสียวิทยายุทธ์ (ระนาด) บางส่วนไป