ของดีมีอยู่ : หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

หลายปีก่อน เมื่อตอนที่ คสช.เพิ่งทำรัฐประหาร กระบวนการทางประชาธิปไตยถูกตัดตอน-ควบคุมอย่างเข้มข้น อุดมการณ์อนุรักษนิยมขวาจัดถูกแพร่กระจายไปตามสื่อแขนงต่างๆ

แม้กระทั่งเด็กนักเรียนก็ยังต้องท่องจำ “ค่านิยมหลัก 12 ประการ”

เวลานั้น มิตรสหายจำนวนหนึ่งพากันแสดงความวิตกกังวลผ่านทางโซเชียลมีเดียว่า เยาวชนไทยรุ่นที่เติบโตมาในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2550 คงถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาด้วยชุดความคิด-อุดมการณ์ย้อนยุคดังกล่าว

จนเติบโตกลายเป็น “มวลชนขวาจัด” ผู้ไร้วิจารณญาณ ขาดสติ บ้าคลั่ง และฉุดกระชากสังคมไปสู่จุดที่น่ากลัว-น่าหดหู่ยิ่งขึ้น

 

ผมกลับอ่านความกังวลของเพื่อนมิตรโดยมีความเห็นแย้งอยู่ในใจ ด้วยฐานคิดที่ว่าช่วงเวลาของการเป็นเด็ก/เยาวชน/วัยรุ่น นั้นดำเนินไปพร้อมกระบวนการเติบโต-เรียนรู้อันน่าพิศวงอยู่มิใช่น้อย

กล่าวคือ เยาวชนทั้งหลายมักมีแนวโน้มจะตั้งคำถามหรือมีปฏิกิริยาต่อต้าน ต่ออำนาจหรืออุดมการณ์ใดๆ ก็ตาม ที่พยายามจะแทรกซึมเข้ามาในความคิดจิตใจของพวกเขา ไม่ว่าด้วยเครื่องมือทางวัฒนธรรมแบบฮาร์ดเพาเวอร์หรือซอฟต์เพาเวอร์

พูดอีกอย่างได้ว่า ยิ่งผู้ใหญ่ใส่อะไรลงไปในหัวและชีวิตประจำวันของเด็กๆ ผลลัพธ์มักจะออกมาตรงกันข้าม เพราะการไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่คือธรรมชาติสำคัญของเยาวชน

กระทั่งคนวัย 30-40 ปีบางส่วน ที่มีจุดยืนวิพากษ์อุดมการณ์อนุรักษนิยมไทยและรัฐไทยอย่างเผ็ดร้อน ก็ล้วนเติบโตขึ้นมาในระบบการศึกษาไทยอันแสนพิกลพิการ

พวกเราถูกกล่อมเกลาด้วยหนังสือมานีมานะ ถูกสอนให้ท่องจำมากกว่าคิดวิเคราะห์ตั้งคำถาม

พวกเราเติบใหญ่มาในบริบทของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างโรงเรียนใหญ่ที่กรุงเทพฯ กับโรงเรียนเล็กตามต่างจังหวัด ตลอดจนบริบทของระบบแพ้คัดออกอันเข้มข้น ตั้งแต่วัยประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย สู่มหาวิทยาลัย

แต่ใช่ว่าเด็กเรียนดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ บางคนได้เกียรตินิยมและมีโอกาสไปร่ำเรียนถึงเมืองนอก จะกลายสภาพเป็นมนุษย์ผู้เฉื่อยชา ซึ่งถูกป้อนกลับเข้าไปเป็นชิ้นเล็กส่วนน้อยของระบบโครงข่ายอำนาจแบบเดิมเสียทั้งหมด

เพราะกระบวนการเรียนรู้ตามรายทางสามารถเปลี่ยนแปลงมนุษย์จำนวนหนึ่ง ให้ค่อยๆ รู้จักตั้งคำถามกับอำนาจนำที่ครอบงำตัวเขาเอง คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมสังคม ทั้งอย่างโจ่งแจ้งและแนบเนียน

ข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์สามารถเติบโตเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นพลเมืองผู้กระตือรือร้นได้ ถูกยืนยันเด่นชัดด้วยปรากฏการณ์การตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในต้นทศวรรษ 2560

ไม่ว่าเราจะเรียกพวกเขาว่าคณะราษฎร 2563, แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มเยาวชนปลดแอก, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มทะลุแก๊ซ หรืออะไรอย่างอื่น

 

ความเป็นจริงทางสังคมข้างต้นดูจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับการดำรงอยู่ของ “หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก” ซึ่งกำลังถูกตรวจสอบโดยกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล เพราะผู้มีอำนาจคล้ายจะหวาดระแวงว่าหนังสือเหล่านี้อาจปลูกฝัง “ความคิดผิดๆ” ให้แก่เยาวชน กระทั่งอาจเป็น “ภัยคุกคามความมั่นคง” ในอีกรูปแบบหนึ่ง

ผมอยากจะพิเคราะห์สถานภาพของ “หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก” ที่กำลังเป็นปัญหา ด้วยมุมมมองอันแตกต่างจากบรรดาผู้นำประเทศพอสมควร

ขอเริ่มต้นด้วยโจทย์ที่ว่าแม้ระบอบประชาธิปไตย-ลัทธิเสรีนิยม กับระบอบเผด็จการ-ลัทธิอนุรักษนิยม จะมีความเชื่อ วิธีคิด และระบบคุณค่าอันแตกต่างกัน

ทว่ากระบวนการเผยแพร่อุดมการณ์ทั้งสองชุด อาจต้องประสบชะตากรรมคล้ายคลึงกัน

กล่าวคือ “หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก” ที่มุ่งปลูกฝังความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยให้เยาวชน และ “ค่านิยมหลัก 12 ประการ” ของ “ลุงตู่” ต่างมีโอกาสถูกตั้งคำถาม รวมถึงถูกต่อต้านจากเด็กๆ ผู้รับสาร โดยเท่าเทียมกัน

ด้วยกระบวนการเผยแพร่อุดมการณ์เช่นนี้ อำนาจจึงตกอยู่ในมือของเยาวชน ถ้าพวกเขารู้สึกว่าอุดมการณ์ใดๆ ไม่เวิร์ก ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง และไม่เชื่อมโยงกับอนาคตของตนเอง พวกเขาย่อมตัดสินใจโยนมันทิ้งไป

วิธีคิดแบบประชาธิปไตยที่แฝงซ่อนใน “หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก” จึงอาจฝังติดแน่นอยู่ในอุดมการณ์ทางการเมืองของเยาวชนผู้อ่านไปจนกระทั่งพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้ หรืออาจหมดอายุขัยลงอย่างรวดเร็วดังเช่นโฆษณาชวนเชื่ออันล้าหลังบางประการก็ได้

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอนุรักษนิยมจึงไม่จำเป็นจะต้องไปควบคุม-เซ็นเซอร์ “หนังสือนิทานภาพ” ของฝ่ายประชาธิปไตย

แต่ภารกิจสำคัญกว่า คือ การที่รัฐต้องสร้าง “อุดมการณ์ทางเลือกอื่นๆ” ให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่

ปัญหามีอยู่ว่า “อุดมการณ์ทางเลือก” ดังกล่าวจะมีเนื้อหาอย่างไร และสามารถดึงดูดใจผู้คนได้มากน้อยเพียงไหน

 

ยิ่งกว่านั้น ความพยายามจะเข้าไปตรวจสอบควบคุม “หนังสือนิทานภาพ” ยังแสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจยุคปัจจุบันเล่นการเมืองผ่าน “อาวุธทางวัฒนธรรม” กันไม่เป็น

ในอดีต ผลงานทางวัฒนธรรมที่แฝงไว้ซึ่งอุดมการณ์แบบหนึ่ง อาจถูก “ไฮแจ็ก” โดยกลุ่มคนผู้มีอุดมการณ์อีกแบบได้

ชะตากรรมระหกระเหินของบทเพลง เช่น “แสงดาวแห่งศรัทธา” หรือ “เดือนเพ็ญ” คือตัวอย่างอันชัดเจนในกรณีนี้

กระทั่งตัวบุคคลผู้ผลิตผลงานทางวัฒนธรรมด้วยอุดมการณ์แบบหนึ่ง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ของตนเองได้ ด้วยแรงจูงใจในรูปผลประโยชน์ หรือสายสัมพันธ์ทางสังคมบางชนิด

คงไม่ต้องเอ่ยชื่อว่ามีใครบ้างที่ถือเป็นบุคคลประเภทนี้

หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา จึงเป็นเรื่องตลกร้ายอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลอำนาจนิยมชุดนี้ เลือกจะมีปฏิกิริยาตอบโต้กลับไปยัง “หนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก” ด้วยวิธีการที่ค่อนข้างหยาบกระด้างและไร้ชั้นเชิงจนน่าเหลือเชื่อ