ของดีมีอยู่ : “วิหารน้อยฟังเสียงนก” / ปราปต์ บุนปาน

(ซ้าย) ไม้หนึ่ง ก.กุนที (ขวา) "พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ" และ "พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต"

 

“ชะรอยในดวงใจของนักบวช

ก็เจ็บปวดระหว่างการแสวงหา

คำสอนเจ้าลัทธิศาสดา

บางขณะเลือนพร่ากว่าเสียงนก”

 

ขออนุญาตเริ่มต้นงานเขียนประจำสัปดาห์นี้ด้วยบทสุดท้ายของบทกวีที่มีชื่อว่า “วิหารน้อยฟังเสียงนก” ซึ่งเป็นผลงานน่าจดจำชิ้นหนึ่งจากพื้นที่คอลัมน์ “กวีกระวาด” ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปลายทศวรรษ 2530

นี่คือผลงาน “ยุคต้น” ของ “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” ผู้ล่วงลับ ก่อนที่สังคมไทยจะรู้จักเขาด้วยฐานะ “กวีเสื้อแดง”

ที่ต้องกล่าวอ้างถึงเนื้อหาบางส่วนของบทกวีชิ้นนี้ ก็เพราะรู้สึกว่าปริศนาที่ไม้หนึ่งทิ้งไว้ผ่านงานชิ้นคลาสสิคของเขา สามารถนำมาใช้อธิบายหรือตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งกำลังเป็นประเด็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” อยู่ ณ ขณะนี้ ได้ไม่มากก็น้อย

นั่นคือปรากฏการณ์ไลฟ์หลักหลายแสนวิวของ “พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต” และ “พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ” หรือ “สอง พส.” แห่งวัดสร้อยทอง

 

ไลฟ์มหาชนนิยมของสองพระมหาก่อให้เกิดวิวาทะมากมายหลายหลากตามมา

ถ้าจะให้ขมวดปม ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นก็วนเวียนอยู่ใน 2-3 ประเด็นหลักๆ

ข้อแรก คือ คณะสงฆ์และพุทธศาสนาควรพยายามมุ่งตอบคำถามต่อปัญหาร่วมสมัยและมีหน้าที่/ประโยชน์ในสังคมสมัยใหม่ หรือจะเลือกดำรงตนเป็น “สัจจะ-หลักการ” อะไรบางอย่าง ที่เป็น “ของแท้/ดั้งเดิม” และไม่สามารถบิดพลิ้วดัดแปลงได้เลย? (ซึ่งก็อาจถูกคนรุ่นหลังถามกลับว่า ที่ว่า “แท้และเดิม” นั้น “แท้และเดิม” ขนาดไหน?)

ข้อสอง นักบวชควรจะจัดวางตำแหน่งแห่งที่หรือท่าทีของตนเองกับเรื่องราวทางโลกย์อย่างไร?

โดยต้องคำนึงว่า เท่าที่ผ่านมา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับเรื่องทางโลกย์ไม่เคยแยกขาดออกจากกันอย่างเด็ดขาด

ส่วนพระสงฆ์กับ “มุขตลก” ก็มิใช่องค์ประกอบที่ผิดแผกแปลกแยกเข้ากันไม่ได้ หากพิจารณาจากพิธีกรรมเทศน์มหาชาติ ตุ๊ทางภาคเหนือ เรื่อยมาถึง “พระพยอม”

หากเราประเมินว่าการใช้อารมณ์ขันคือเรื่องราวทางโลกย์ที่ไม่เหมาะไม่ควรกับพระสงฆ์ ก็น่าตั้งคำถามต่อว่า ยังมีเรื่องทางโลกย์ประเภทอื่นๆ อีกหรือไม่ ที่ข้องแวะกับคณะสงฆ์อย่างหนักหนาลึกซึ้ง และไม่สอดคล้องกับ “หลักธรรมคำสอน” เสียยิ่งกว่า “มุขตลก”?

ข้อสาม พระและวัดควรเข้าไปข้องเกี่ยวกับเรื่อง “การตลาด” และ “ทุน” หรือไม่?

แม้คำตอบในทางหลักการจะมีอยู่ว่า “ไม่ควรข้องเกี่ยว” แต่ในทางปฏิบัติ หลักการเช่นนั้นกลับยากจะเกิดขึ้นจริง

ทั้งยังไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า หากนำผลประโยชน์ที่อารามใหญ่ๆ เก็บเกี่ยวจากที่ดินที่วัดถือครอง ค่าบัตรเข้าชมของนักท่องเที่ยว หรือเงินทำบุญ/เงินบริจาคต่างๆ ไปวางเทียบเคียงกับผลประโยชน์ที่ “สอง พส.” อาจได้รับจากการไลฟ์ในโซเชียลมีเดีย

ผลประโยชน์ชนิดหลังก็ดูจะเป็นเพียง “สิ่งจิ๊บจ๊อย” เท่านั้น

 

ในเชิงนามธรรม ถ้า “ธรรมะ” หมายถึงหรือยึดโยงอยู่กับ “ธรรมชาติ” เราก็ควรยอมรับความเป็นจริงที่ว่า พระสงฆ์และพระธรรม ย่อมต้องโอนอ่อนตาม “ธรรมชาติของสังคม” ที่เปลี่ยนแปลงไป

หาก “เสียงนก” ดังกว่า “คำสอนเจ้าลัทธิศาสดา” สิ่งที่เราควรทำคงไม่ใช่การไล่สังหารนก ปิดปากให้นกกลายเป็นใบ้ หรือเลือกจะเก็บตัวเพื่อพร่ำบ่นมนต์บทเก่าๆ อยู่ใน “วิหารน้อย” ต่อไป

แต่อาจต้องเสาะแสวงหาวิธีนำ “คำสอน” ดังกล่าวสอดประสานเข้าไปใน “เสียงนก” แม้จะต้องแลกมาด้วย “ความเจ็บปวด” บางประการก็ตาม

ทว่านั่นคงเป็น “ความเจ็บปวด” ที่สามารถยอมรับได้ ตราบใดที่ “ความโอนอ่อนตามเสียงนก” มิได้ก่อให้เกิดบาปฉกรรจ์ เช่น การใช้ศาสนาไปสนับสนุนให้เข่นฆ่าทำลายชีวิตใคร หรือการใช้ศาสนาไปช่วยค้ำยันอุดมการณ์ทางการเมืองบางอย่างเพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์เลวร้ายเช่นนั้น

เมื่อเป็นดังนี้ การกล้าเดินออกมาจาก “วิหารน้อย” ของ “พระมหาหนุ่ม” สองรูป เพื่อร่วมขับขานปัญหาแห่งยุคสมัยคู่เคียงไปกับ “เสียงนก” ก็ดูเป็นสิ่งที่สมเหตุผลอยู่มิใช่หรือ?