ของดีมีอยู่ : ขั้วที่สามทางการเมือง / ปราปต์ บุนปาน

ภาพจากเพจ Facebook 'ทะลุฟ้า - thalufah'

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ลุกลามออกไปสู่พื้นที่สาธารณะ เช่น ท้องถนน คนไทยดูจะคุ้นชินกับแนวคิดเรื่อง “มือที่สาม” ซึ่งหมายถึงมือป่วน ลึกลับ ไม่ทราบฝ่าย หรือไม่มีตัวตนแน่ชัด ที่เข้ามากระตุ้นเร้าให้สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยกระดับเป็นเหตุจลาจล

โดยเป็นที่ทราบกันดีว่า บ่อยครั้ง “มือที่สาม” นั้นมักสังกัดอยู่ในขั้วขัดแย้ง ไม่ “มือที่หนึ่ง” ก็ “มือที่สอง” หรือเป็นกลุ่มแยกย่อยใน “มือที่หนึ่ง/สอง” อีกที

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนสังคมการเมืองไทยกำลังต้องการ “ขั้วที่สาม” มากกว่า “มือที่สาม” ทางการเมือง

 

ในด้านหนึ่ง รัฐ-รัฐบาลไทย ที่บริหารจัดการสภาวะโควิดแพร่ระบาดได้อย่างล้มเหลว กำลังหมดสภาพ จนแม้แต่บรรดาผู้สนับสนุนก็รับรู้อยู่ลึกๆ ว่านี่คือ “การนำ” ที่ไปต่อไม่ได้ แต่คล้ายพวกเขายังไม่ทราบหรือคิดไม่เสร็จว่าจะหา “ทางเลือกใหม่” มาจากไหน? และอย่างไร?

อีกด้านหนึ่ง สภาวะ “รัฐล้มเหลว” ได้ผลักดัน “ม็อบ” จำนวนมากให้ลงถนน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงและวิตกกังวลก็คือ การชุมนุมในระยะหลังมักนำไปสู่เหตุปะทะรุนแรง โดยเฉพาะม็อบที่ประกาศรวมตัว-เคลื่อนขบวนโดย “คนรุ่นใหม่” ซึ่งถูกจัดการด้วยแก๊สน้ำตา กระสุนยาง รวมทั้งการสกัดกั้นควบคุมตัวบรรดาแกนนำด้วยกลไกทางกฎหมาย

นี่แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ยินดียินยอมจะพูดคุย เจรจา ประนีประนอม และหาทางออกของอนาคต ร่วมกับคนรุ่นใหม่

ในภาวะปั่นป่วนเช่นนี้นี่เอง ที่ “ขั้วที่สาม” ทางการเมือง ได้ก่อตัวขึ้นรางๆ

 

ในทางทฤษฎี ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนอาวุโส เพิ่งตั้งข้อสังเกตว่า อย่างไรเสีย พวกเราก็ต้องการคน-คณะบุคคล ที่จะมีความสามารถในการแปรเหตุการณ์จลาจล-การปะทะกันบนท้องถนน ให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ (ทางเลือกใหม่) ของสังคม

เมื่อปีก่อนจนถึงต้นปีนี้ ที่ “ม็อบคนรุ่นใหม่” ปรากฏกายขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ (และน่าตกใจ) ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคยโยนโจทย์ท้าทายเอาไว้ว่า “คนรุ่น (ใน) ระหว่าง” ซึ่งอยู่ในช่วงวัย 35-50 ปี จะเข้ามามีบทบาทในการนำความเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยากลงรอยระหว่าง “คนรุ่นสงครามเย็น” กับ “คนรุ่นโบขาว” ได้อย่างไร?

ในความเป็นจริงของเดือนสิงหาคม 2564

เราได้เห็นการก่อตัวของเครือข่าย “คาร์ม็อบ” ที่ริเริ่มโดยอดีตนักเคลื่อนไหวฝ่ายเสื้อแดงอย่าง “บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์” ซึ่งถูกสานต่อโดยหนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” และอดีตแนวร่วม กปปส. “ไฮโซลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย” เป็นต้น

นี่คือการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ขับเคลื่อนโดยคนอีกรุ่น และมีภารกิจหลักคือการ “ไล่ประยุทธ์” ซึ่งดำเนินคู่ขนานไปกับม็อบคนรุ่นใหม่ ที่ประนีประนอมกับรัฐน้อยกว่า (ในทางตรงกันข้าม รัฐเองก็เป็นฝ่ายไม่ยอมประนีประนอม และคุยกับพวกเขาไม่รู้เรื่อง) และครุ่นคิดถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองอย่างจริงจังกว่า

ถ้าเครือข่ายคาร์ม็อบสามารถทำงานเชื่อมประสานกับฝ่ายค้านในสภาและกลุ่มการเมืองอื่นๆ (เช่น กลุ่มที่ขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) ได้ด้วย นี่ก็อาจรวมตัวเป็นพลังทางการเมืองที่น่าสนใจ

และอาจกลายสภาพเป็น “ขั้วที่สามในทางการเมือง” ที่นักวิชาการหลายท่านคิดว่าจำเป็นต้องเกิดขึ้น?

 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนใน “ม็อบรุ่นปัจจุบัน” ที่ลงถนนด้วยอารมณ์โกรธแค้น เดือดดาล พร้อมปะทะกับเจ้าหน้าที่

โดยที่แกนนำคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะในนาม “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” หรือ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ซึ่งพยายามสั่งยุติการชุมนุมผ่านทางโซเชียลมีเดีย เมื่อเห็นแนวโน้มความรุนแรงบังเกิดขึ้น ก็มิอาจหยุดยั้งมวลอารมณ์ความรู้สึกที่แปรสภาพเป็นพฤติการณ์ต่อต้านท้าทายอำนาจรัฐอย่างร้อนแรงบนท้องถนนของผู้ชุมนุมกลุ่มนี้ได้

ผู้ชุมนุมกลุ่มนี้คือใคร?

จากข้อสังเกตเบื้องต้นของผู้เขียน (ซึ่งอาจผิดพลาดตกหล่นได้) ผู้ชุมนุมที่เดือดดาลโกรธแค้นเหล่านี้ดูจะเป็นคนชั้นกลางระดับกลาง-ล่างในเขตกรุงเทพมหานคร

เดิมที พวกเขาก็คือคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจระบบ-โครงสร้างทางการเมือง และความไม่เป็นธรรมในสังคม กระทั่งยินยอมพร้อมใจออกมาเป็นแนวร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชน นิสิต นักศึกษารุ่นใหม่ ตลอด 1-2 ปีที่ผ่านมา

ทว่า ความอดทนอดกลั้นของพวกเขาคล้ายจะถึงจุดสิ้นสุด เมื่อตนเองต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องความเปราะบางไม่มั่นคงในชีวิต และปัญหาเศรษฐกิจพังพินาศในยุคโควิด โดยรัฐ/รัฐบาลมิใช่ความหวังที่จะสามารถพึ่งพิงได้

ปัจจัยดังกล่าวอาจหนุนเสริมให้ผู้คนกลุ่มนี้กล้าออกมาเดินหน้าท้าชนอำนาจรัฐต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีการประกาศยุติการชุมนุม แม้แกนนำม็อบจะถูกจับกุมคุมขังไปจนหมดสิ้น

นี่ย่อมนำไปสู่สถานการณ์จลาจล แบบที่เราชอบเข้าใจทึกทักหรือพยายามอธิบายว่าเกิดขึ้นจาก “มือที่สาม” ทั้งๆ ที่ต้นเหตุของมันคือหน่อเนื้อซึ่งซุกซ่อนก่อตัวก่อนจะระเบิดกระจายออก จากความขัดแย้งอันดำรงอยู่กับพวกเราตลอดหลายปีที่ผ่านมา