ฐากูร บุนปาน : รัฐบาลชักมีดขึ้นมาตัดมือตัวเอง ?

ว่าด้วยกรณีกฎหมายต่างด้าว

ที่รัฐบาลชักมีดขึ้นมาตัดมือตัวเอง

มีข้อสังเกตอยู่ 2 ประเด็นสำหรับเรื่องนี้

ประเด็นแรก มีองค์ประกอบร่วมอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาในสองสามสัปดาห์

ไม่ว่าจะเรื่องขับไล่แรงงานต่างด้าว การเสนอขึ้นทะเบียนดิจิตอลของประชาชน

หรืออาจจะรวมไปถึงการร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ด้วยก็ได้

นั่นคือทั้งหมดเป็นเรื่องของการเหยียดคนที่ (รู้สึกว่า) ต่ำกว่า

พอเป็นไทยก็เหยียดเพื่อนบ้านรอบข้าง

เป็นผู้ดีท่านก็เหยียดไพร่

หรือเป็นผู้ (คิดว่า) รู้ก็เหยียดคนที่ (คิดว่า) โง่กว่า

คำถามคือบรรดา (ผู้เชื่อว่าตัวเองเป็น) ผู้รู้-ผู้กำหนดความเป็นไปและอนาคตของสังคม ทั้งเทศและไทยมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์

จะสามารถควบคุมสังคมให้อยู่ในอุ้งมืออย่างนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน

จะรู้ได้อย่างไรว่าชีวิตจะเป็นเส้นตรงตามที่ตัวเองหรือพวกพ้องต้องการ

ในโลกที่ความทรงจำยกกำลังสองเพิ่มขึ้นทุกปี

ซึ่งไม่มีใครคาดหมายอะไรได้

แม้แต่ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ไม่ต้องพูดถึง 10-20 ปีหรอกครับ

เมื่ออนาคตก็ไม่รู้

แถมปัจจุบันก็ยังแหว่งๆ วิ่นๆ

ก็มีคำถามสำหรับปัจจุบันขึ้นมาว่า แล้วจะเดินกันอย่างไรต่อไปแบบมนุษย์ปกติ

และคำถามต่อก็คือว่า ถ้าไม่ปกติอะไรจะเกิดขึ้น

ว่าด้วยกรณีต่างด้าวก่อน

ใครคิดหรือเชื่อบ้างว่า 180 วัน ระบบราชการไทยจะแก้ไขปัญหาให้กับคนจำนวนนับล้านได้

ด้วยกติกาที่ออกมา เอาเฉพาะประเด็นเรื่องค่าธรรมเนียมทั้งหลายแหล่อย่างเดียว

ก็ชวนให้สงสัยเสียแล้วว่า นี่เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา

หรือเพื่อสร้างปัญหาให้หนักข้อยิ่งขึ้น

ยังไม่นับว่าฝั่งพม่าฝั่งกัมพูชาก็มีปัญหาไม่แพ้ฝั่งไทยเหมือนกัน

เจริญละครับ

กรณีขึ้นทะเบียนดิจิตอล

เอาแค่ว่าถ้ามาตรการ “ล้ำโลก” นี้มีผลบังคับใช้จริง ผู้ประกอบการที่ไหนจะกล้ามาเสี่ยงมาลงทุน

แค่ของเก่าก็ยังไม่รู้จะอยู่ต่อไปไหม

ของใหม่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง

มาถึงกรณีรัฐธรรมนูญ (รวมถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย)

ร่างกันเข้าไป เหมือนไม่ได้เห็นหัวชาวบ้าน

และที่ท่านอยากทำ คนส่วนใหญ่ไม่ได้อยากทำด้วย (ไม่เชื่อก็ลองเลือกตั้งดู)

ไม่เหยียดกันนี่ทำเรื่องพวกนี้ไม่ได้จริงๆ นะครับ

ประเด็นต่อมา เป็นนิทานเก่าเอามาเล่าใหม่

เป็นประวัติศาสตร์การเมืองหมาดๆ ที่เกิดขึ้นไม่นานนัก

สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ยุคนั้นเพื่อจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ “แกตต์” หรือข้อตกลงว่าด้วยการค้าและศุลกากร ที่ต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นองค์การการค้าโลกหรือดับเบิลยูทีโอ

สหรัฐในฐานะหัวเรือใหญ่ของการค้าเสรี บังคับให้ประเทศต่างๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายการค้าเสรีหรือเทรด แอกต์ ออกกฎหมายในทำนองนี้

ไทยก็อยู่ในข่ายที่ถูกบีบด้วย

แต่แทนที่จะต้องรีบเอาใจมหาอำนาจ ด้วยการออกฎหมายรวบรัดเป็นพระราชกำหนด

พล.อ.เปรมและคณะเลือกออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติ

กว่าจะผ่านขั้นตอนของราชการมาถึง ครม.

กว่าจะต่อเข้าไปในสภาตามขั้นตอน

กว่าจะแปรญัตติ กว่าจะไปถึงวาระสองวาระสาม

อ้าว-ยุบสภาเสียอีกแล้ว

สองรอบสามรอบ กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมา

แต่รัฐบาลไทยก็อธิบายกับรัฐบาลสหรัฐได้ว่า ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว

เพียงแต่ทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการตามระบอบประชาธิปไตย

ในฐานะหัวเรือใหญ่ของโลกเสรี สหรัฐก็ควรจะเข้าใจ

เรื่องก็เป็นเช่นนี้แหละครับท่านสารวัตร

ส่วนนิทาน (จากเหตุการณ์จริง) เรื่องนี้จะมีข้อเตือนใจอะไรหรือไม่ ใครได้รับบทเรียนอะไรไปหรือเปล่า

ก็แล้วแต่วาสนาของแต่ละท่านละครับ

จะไม่รับไว้เลยก็ว่ากันไม่ได้อีก

เป็นผู้น้อยเป็นไพร่ ทำได้อย่างมากก็แค่เล่านิทาน

ใครไม่เหยียดกัน ท่านเปิดใจรับฟัง ก็ยินดี

ท่านไม่ยินดียินร้าย ใครจะกล้าไปว่าอะไรท่านได้

หุหุ