ของดีมีอยู่ : ผู้นำทางเลือก / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ในทุกวิกฤต ย่อมมีโอกาสและความหวัง

แม้ในวิกฤตหนัก ซึ่งเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรม ความเคร่งเครียด เสมือนไร้ทางออก ดังเช่นที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ด้านหนึ่ง วิกฤตโควิดระลอกล่าสุด ได้คุกคามสถานภาพ “ความเป็นผู้นำ” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อย่างชัดเจน โดยมิอาจปฏิเสธ

ดังนั้น การเชื่อมั่นว่าเครือข่าย “3 ป.-พลังประชารัฐ” จะสามารถคุมเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างหมดจด

การเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถคุมสนามเลือกตั้งในต่างจังหวัดได้อย่างอยู่มือ

การเชื่อมั่นว่าตนเองจะเป็นฝ่ายกำชัยชนะได้อย่างไม่ยาก ในระบอบ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ”

จึงอาจกลายเป็นการประเมินความเป็นไปได้ทางการเมืองที่ผิดฝาผิดตัวไปหมด ถ้าไม่นับรวมปัจจัยเรื่องโควิด ตลอดจนอารมณ์โกรธแค้น-ผิดหวังของผู้คนในสังคม เสริมเติมเข้าไปด้วย

อีกด้านหนึ่ง ภาวะเสื่อมทรุดของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ผลักดันกระตุ้นเร้าให้สังคมต้องแสวงหา “ทางเลือก” อื่นๆ ในทางการเมือง

พร้อมๆ กับที่มี “ตัวแสดงทางการเมือง” บางราย ต้องพยายามนำเสนอตนเองในฐานะ “ทางเลือก” (ไม่ว่าจะ “เก่า” หรือ “ใหม่”)

“ทางเลือก” 2 ราย ที่กำลังท้าทายความอับแสงของนายกรัฐมนตรีโดยโดดเด่น ก็คือ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”

 

ทักษิณในนามของ “โทนี่ วู้ดซัม” นั้นรุกคืบผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดีย (เริ่มต้นจากคลับเฮาส์ก่อนขยายสู่แพลตฟอร์มอื่นๆ) มาอย่างต่อเนื่อง

อดีตนายกฯ ใช้โอกาสนี้แสดงวิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำ เสนอแนะวิธีบริหารจัดการปัญหาต่างๆ อย่างเป็นระบบ และเอ่ยอ้างถึงองค์ความรู้-นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างคนที่ทำการศึกษามาจริงๆ ซึ่งหลายคนมองว่านี่เป็น “สิ่งที่ขาดแคลน” ไปจากภูมิปัญญาของคณะผู้นำไทยยุคปัจจุบัน

แม้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยจะยังติดใจหรือมองว่าจุดยืน/ทัศนคติทางการเมืองของ “พี่โทนี่” นั้นมีลักษณะ “โอลด์สกูล” อยู่

ในกรณีของพิธา เขาเริ่มฉายแววน่าสนใจ ตั้งแต่การอภิปรายเรื่องนโยบายเกษตรกรรมและการจัดการที่ดิน เมื่อครั้งแรกเริ่มเข้าสภา

ทว่าต่อมา “ออร่าทางการเมือง” ดังกล่าวกลับค่อยๆ จางหายไป ทั้งเพราะปัจจัยเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมถึงการที่แกนนำพรรคก้าวไกลบางคน เช่น “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” “อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล” หรือ “รังสิมันต์ โรม” สามารถพูดจาสื่อสารกับสาธารณะ โดยจับชีพจรของสังคมได้อย่างแม่นยำกว่า

หลายคนถึงขั้นตั้งคำถามว่า พิธานั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการนั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคก้าวไกล และการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอนาคต จริงหรือไม่?

แต่ท่ามกลางวิกฤตโควิด หัวหน้าพรรคก้าวไกลผู้นี้กลับออกมาแสดงบทบาทและสื่อสารกับสาธารณชนได้อย่างน่าประทับใจหลายหน

นับตั้งแต่การฟันธงให้ยุบทิ้ง ศบค. และปรับ ครม. ในการเสนอญัตติด่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด ต่อสภาผู้แทนราษฎร

การแสดงความวิตกกังวลเรื่อง “คลัสเตอร์โรงงาน” และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ผ่านพื้นที่สื่อ

การเปิดใจคุยกับนักดนตรี-ผู้ประกอบธุรกิจกลางคืน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายป้องกันโควิดของรัฐบาล อย่างทรงพลัง

การเข้าพื้นที่ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว และพยายามเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา อย่างทันท่วงที

นี่คือครั้งแรกสุด ซึ่งสังคมมองเห็นว่าพิธาสามารถก้าวเข้ามาทำหน้าที่แทน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ได้โดยสมบูรณ์

 

แม้ประชาชนจำนวนไม่น้อยอาจเชื่อมั่นว่าทักษิณหรือพิธามีศักยภาพมากพอจะเป็น “ผู้นำทางเลือก” ของสังคมการเมืองไทย

แต่ “ผู้นำทางเลือก” ทั้งสองคน ก็คงจะต้องเผชิญหน้ากับขวากหนาม ทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะส่วนและปัญหาในภาพรวม

สำหรับทักษิณ คำถามสำคัญก็คือเขาจะกลับประเทศไทย (ตามที่ชอบประกาศในโลกออนไลน์) ได้หรือไม่? หรือจะผ่องถ่าย “สิทธิอำนาจ-บารมี-วิสัยทัศน์” เฉพาะตน ไปสู่ผู้นำรายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยได้อย่างไร? (ในกรณีที่เขากลับไทยและหวนคืนสู่การเมืองไทยไม่ได้)

แม้หลายๆ คนอาจมองเห็นพิธาเป็น “ตัวเลือกใหม่” แต่ยังมีใคร/กลุ่มไหน ที่ไม่สะดวกใจจะเลือกเขาและพรรคก้าวไกลอยู่บ้าง? ฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองนี้ในพื้นที่ต่างจังหวัดมีพัฒนาการอย่างไร? และคะแนนเสียงในเขตเมืองเมื่อการเลือกตั้งครั้งก่อน (ที่กลายสภาพเป็น “งูเห่า” เสียเยอะ) ยังพอมีเหลืออยู่หรือไม่?

ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ แม้สภาพการณ์ ณ ขณะนี้ จะบ่งชี้ว่าการสร้าง “ฉันทามติไม่เอาประยุทธ์” ได้ก่อตัวและขยายใหญ่ขึ้นแล้ว

แต่เราควรตั้งคำถามต่อว่า แล้ว “ฉันทามติทางการเมือง” ของเครือข่ายชนชั้นนำร่วมสมัยล่ะเป็นอย่างไร?

พวกเขายังเห็น “พล.อ.ประยุทธ์” เป็น “ทางเลือกที่ดีเลิศที่สุด” อยู่?

อย่างไรเสีย พวกเขาก็จะไม่เลือก “ทักษิณ-พิธา”?

หรือพวกเขากำลังเริ่มครุ่นคิดถึงบุคคล-กระบวนการเมือง ที่จะกลายเป็น “ตัวเลือก-ทางเลือก” รูปแบบอื่นๆ ซึ่งยังไม่ปรากฏกายขึ้นมาในฉากทัศน์ปัจจุบัน