ของดีมีอยู่ : วิกฤตวัคซีนโควิด-19 / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

ในสถานการณ์วิกฤต ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน ขออุทิศพื้นที่คอลัมน์ให้ทำหน้าที่ประหนึ่ง “ร่างทรง” อีกหนึ่งหน

โดยคราวนี้ ขออนุญาตนำเนื้อหาบทสัมภาษณ์บางส่วนของ “นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท จากช่องยูทูบมติชนทีวี มาเผยแพร่ซ้ำ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดหนักของโควิด

 

“ตอนนี้ ประเด็นมันมีประเด็นเดียว วัคซีนมันมาน้อยมาก มาน้อยจนต้องมาแย่งกันเอง แล้วเราก็ไม่อยากแย่งผู้สูงอายุ เพราะเราเข้าใจว่าผู้สูงอายุ ถ้าเขาได้รับเชื้อโควิด อัตราตายสูง อัตราป่วยหนักสูง อัตราไอซียูเต็มจะล้นกรุงเทพฯ ล้นต่างจังหวัดทุกแห่ง

“ซึ่งเราก็คิดว่า ถ้ารัฐบาลมีความสามารถ ต้องมีความสามารถด้วยนะ ไปหาวัคซีนไวรัลเวกเตอร์มาให้ได้ แอสตร้าฯ นี่แหละ แอสตร้าฯ ทั่วโลกใช้น้อยลง เพราะหลายประเทศก็เริ่มไม่ใช้ ญี่ปุ่นเองผลิตแอสตร้าฯ ไม่ใช้แอสตร้าฯ อเมริกาผลิตแอสตร้าฯ ก็ไม่ใช้แอสตร้าฯ อเมริกาบริจาคแอสตร้าฯ 60 ล้านโดสให้โคแวกซ์ ให้ประเทศที่เข้าโคแวกซ์ ซึ่งพอดีเราไม่เข้าเลยอด…

“จริงๆ ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ก็ลือมาตั้งสองเดือนแล้ว แล้วเราก็รู้ว่า 20 ล้านโดสจะมา ‘ไตรมาสสี่’ ไตรมาสสี่ไม่ได้แปลว่าตุลาคม ไตรมาสสี่นี่ไม่รู้ว่าตุลาฯ พฤศจิฯ หรือธันวาฯ

“แล้วเราก็รู้อีกว่า ปกติถ้ารัฐบาลเซ็นสัญญาสั่งวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม เขาก็จะมีอภินันทนาการ อันนี้เป็นมาตรการการตลาดปกติ ล็อตอภินันทนาการให้มาลองใช้ ให้ใช้ให้สบายใจขึ้น ล้านโดสสองล้านโดสก็ว่าไป มันก็ (ใจ) ชื้นขึ้นนิดนึง มันก็ไม่ใช่ล็อตใหญ่ มันเป็นล็อตอภินันทนาการ แล้วมันก็จะหายไปเลย มาล็อตเดียวแล้วก็หายไปเลย จะไม่มาอีกเลยจนกว่าจะถึงไตรมาสสี่…”

 

“ที่ยอด (ฉีดวัคซีน) ตกเหลือวันละแสน สองแสน สามแสนโดส เพราะว่ามันไม่มีวัคซีนให้เราฉีดนะครับ เหตุผลมีข้อเดียว ไม่ใช่ว่าเหตุผลคือเราหมดแรง หรือว่าเราฉีดช้า หรือว่าเราไม่ได้จัดภารกิจให้ความสำคัญ ไม่จริง ไม่มีให้เราฉีด…

“ถ้าดันทุรังเปิด (ประเทศ) ก็เปิดได้ แต่จะเปิดประเทศแบบไหน? มันเปิดประเทศได้หลายแบบ เปิดแบบไม่มีคนเข้ามา ก็ถือว่าเปิดแล้ว หรือเปิดแบบเต็มภาคภูมิ

“แต่ผมกังวลเรื่องเปิดประเทศมากนะครับ คือการเปิดประเทศเป็นความหวังของภาคธุรกิจ มันไม่ใช่เรื่องการระบาดวิทยา เราคิดเรื่องธุรกิจ เขาก็มีความหวังกับการเปิดประเทศ แล้วเราก็อยากให้ 120 วันเปิดประเทศเป็นจริง อยากให้เป็นจริง เพราะว่าทำให้ธุรกิจเดินได้ ตรงกับซีซั่นการท่องเที่ยวที่จะมาช่วยกอบกู้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจของผู้คนพอดี

“แต่ว่าถ้าประกาศเปิดประเทศ 120 วัน แล้วก็สร้างความหวังให้กับผู้คน ผู้คนเตรียมกู้เงินหรือควักกระเป๋าเงินเก็บก้อนสุดท้ายเอามาลงทุนตกแต่งร้านใหม่ สั่งข้าวสั่งของเข้ามา แล้วปรากฏว่าเปิดประเทศไม่สำเร็จ เปิดประเทศสำเร็จแต่ชื่อ แต่ไม่มีคนเข้า หรือเปิดแล้วปรากฏว่าเกิดการระบาดหนัก แล้วก็ต้องปิดอีกครั้งหนึ่ง อย่างนี้ก็จะเสียหายมากครับ

“หัวใจก็คือ ถ้าวัคซีนยังน้อยๆ แบบนี้ น่าจะเลื่อนเปิดประเทศไปเลย เพื่อผู้ประกอบการจะได้ไม่เสียหายหนัก ไม่งั้นผู้ประกอบการจะเจ็บหนัก…

“ผู้ติดเชื้อวันละหมื่นไม่ใช่เรื่องยาก น่าจะถึง คือปัจจุบันการติดเชื้อมันเข้าสู่ครัวเรือน เข้าสู่ทั่วไปหมดแล้วแหละ ไทม์ไลน์แทบจะไร้ประโยชน์ ไม่รู้ต้นตอแล้วว่ามาจากไหน ดังนั้น อัตราการเพิ่มก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อัตราการป่วยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลหรือเข้าไอซียู อัตราตายสูงขึ้น

“วันละหมื่นเราจะเห็นแน่ๆ ที่เป็นผู้ติดเชื้อ แต่สำหรับเรา ทางการแพทย์ วันละหมื่นนั้นก็ไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับอัตราตาย อัตราตายสะท้อนว่าไอซียูเต็ม โรงพยาบาลเต็ม เพราะถ้าไอซียูพอ อัตราตายจะลดลงอย่างมาก ลดลงครึ่งๆ เลย…”

 

“ชมรมแพทย์ชนบทคุยกันหนักมาก เราคิดว่าการมีวัคซีนฉีดเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ที่จะยุติการระบาด หรือทำให้การระบาดทุเลาลงได้บ้าง แล้วก็อัตราการตายจะลดลง

“ผมคิดว่าเดือนกรกฎาฯ นี้ รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนให้มากที่สุด ถ้าไม่สามารถเจรจาหาแอสตร้าฯ มาได้มากกว่านี้ ก็ต้องยอมนำเข้าซิโนแวคจำนวนมาก ฉีดปูพรมให้มากที่สุด แล้วก็ยอมสารภาพความผิดพลาดความล้มเหลวกับประชาชน เพราะไม่งั้นผู้คนก็มีความหวังว่าจะรอไฟเซอร์ รอโมเดอร์นา ซึ่งไม่มานะครับ รอโน่นรอนี่ ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

“เราอาจจะต้องยอมรับซิโนแวค 2-3 เดือนนี้ ที่เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีนยังไม่มา แล้วรัฐบาลก็ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนให้ดี สารภาพความไม่ลงตัวให้เรียบร้อย เพื่อผู้คนจะได้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง แล้วหลังจากนั้นก็เน้นเอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน แล้วก็นำเข้าซิโนแวคให้น้อยลง อันนี้น่าจะเป็นทิศทางที่ควรจะเป็น แต่คนที่อยู่ในรัฐบาลก็ยังไม่ได้พูดสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจน

“ส่วนภาคประชาชนก็ไม่มีอะไร ประชาชนก็กดดันรัฐบาลกันต่อไป แรงกดดันของเราเท่านั้นที่จะทำให้วัคซีนนำเข้ามากขึ้น ไม่มีวิธีอื่นครับ”