ของดีมีอยู่ : ความล้มเหลว-ล่มสลายของนายกรัฐมนตรี / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

สัปดาห์นี้ขออนุญาตโควตคำสัมภาษณ์ของ “รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส” คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก และ “สมบัติ บุญงามอนงค์” (บก.ลายจุด) นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยมานำเสนอ

น่าสนใจว่าแม้ประเด็นในการสัมภาษณ์บุคคลทั้งคู่จะแตกต่างกัน แต่กลับนำไปสู่ข้อสังเกต ณ เบื้องท้าย ที่คล้ายคลึงกันโดยมิได้นัดหมาย

 

เริ่มต้นจากอาจารย์นันทนาที่มาวิพากษ์วิจารณ์ศักยภาพในการสื่อสารกับสาธารณชนของนายกรัฐมนตรีอีกหนหนึ่ง ดังนี้

“นั่งนับดูในระหว่างที่ท่านนายกฯ แถลง ท่านพูดคำว่า ‘นะจ๊ะ’ 13 ครั้ง ถามว่าอันนี้มันเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศควรออกมาสื่อสารอย่างนี้หรือเปล่า?

“ถ้าเผื่อว่าพูดจาแบบนี้ คนที่เขาฟังอยู่เขาจะไม่รู้สึกเลยว่าคนที่แถลงคือท่านนายกฯ มีความจริงใจกับเรื่องราวที่กำลังพูดอยู่ ไม่ได้รู้สึกรู้สากับชีวิตของคนไทย ที่ขณะนี้กำลังทุกข์ระทมอย่างหนัก ชีวิตเขากำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่กับโควิด

“แต่นายกรัฐมนตรีมานะจ๊ะ นะจ๊ะ อันนี้มันทำให้คนรู้สึกผิดหวัง แล้วก็ไม่มีความเชื่อถือผู้นำต่อไป…

“ท่านนายกฯ พูดว่าอะไร ทุกคนเดือดร้อนหมด ผมก็เดือดร้อน พอพูดอย่างนี้ คนรู้เลยว่า ท่านไม่ได้รู้สึกเลยว่าคนนั้นเนี่ยเดือดร้อนยังไง ท่านเดือดร้อนอะไร? ท่านไม่ได้เดือดร้อน แต่คนที่เขาหาเช้ากินค่ำตอนนี้ ชีวิตเขาทุกข์ระทมแสนสาหัส กลับมาพูดถึงว่าผมก็เดือดร้อน การเป็นผู้นำประเทศ พูดแบบนี้ คนจะมีความหวังอะไรกันคะ…

“การที่ท่านนายกฯ ออกมาพูดเอง แสดงอารมณ์ที่ขัดกับความรู้สึกของผู้คน อันนี้ต้องบอกว่าเป็นจุดอันตรายหรือหายนะของการสื่อสารในภาวะวิกฤต

“เพราะว่าการสื่อสารในภาวะวิกฤตก็คือการให้ข้อมูลเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ เสนอแนวทางให้คนหลุดพ้นจากวิกฤต สร้างความมั่นใจในการดำเนินแนวทางนโยบาย เมื่อประชาชนได้ฟังแล้ว จะต้องทำให้เขาเกิดความหวัง เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

“แต่การที่คนกำลังทุกข์ระทม แล้วนายกรัฐมนตรีมาร่าเริง แสดงอารมณ์อย่างที่มันขัดกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมาก ก็ทำให้คนเขารู้สึกว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้อยู่ในความรู้สึกร่วมกับประชาชน ไม่ได้รู้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน เหมือนคนไปพูดตลกในงานศพ แปลว่าไม่ได้สนใจบริบท ไม่ได้สนใจว่าคนเขาอยู่ในอารมณ์อะไร อยากจะพูด อยากจะแสดงออกยังไง ก็ทำไป…

“แล้วตอนนี้ คนก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นแล้ว เวลาที่บอกว่าจะมีการแถลงข่าวใหญ่จากท่านนายกฯ มีการรวมการเฉพาะกิจ เพราะเขาก็รู้สึกว่าเดี๋ยวก็มานะจ๊ะ นะจ๊ะ แล้วก็ไม่รู้ว่าพูดอะไร แล้วก็ไม่ได้สร้างความหวังอะไร แล้วก็พูดมาแล้ว วันรุ่งขึ้นก็อาจจะเปลี่ยนอีก

“อันนี้ต้องบอกว่าเป็นความล้มเหลวในการสื่อสารของผู้นำ เพราะถ้าผู้นำพูดอะไรแล้วไม่ศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรแล้วคนไม่เชื่อ คนหัวเราะ คนเอาไปใส่ในติ๊กต็อกล้อเลียน อันนี้ก็จบเลยนะคะ แปลว่าผู้นำพูดแล้วประชาชนไม่เชื่อ ขาดความมั่นใจ นั่นก็แปลว่าภาวะผู้นำล่มสลายไปด้วย”

 

ขณะที่ บก.ลายจุด ได้พยายามอธิบายถึงเหตุผลหลักๆ ซึ่งกระตุ้นให้เขาต้องออกมาจุดกระแสประท้วงรัฐบาลผ่านรูปแบบ “คาร์ม็อบ” ความว่า

“จริงๆ ผมก็กลัวนะ คือผมก็กลัวทั้งโควิดและฝีมือการบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ กลัวพอๆ กันตอนนี้ ไอ้สองสิ่งนี้มารวมกัน ผมเลยคิดว่าอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้แล้ว เวิร์กฟรอมโฮมมานานแล้ว ต้องออกมาหน่อยนะ…

“ข้อเท็จจริงตอนนี้มันปรากฏชัดมากว่าหายนะหรือปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้าไปเกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าว มันเป็นปัญหาอย่างมาก และมันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ มันซีเรียสมาก

“ดังนั้น ภาวะที่เรียกว่าจิตนิยม แบบรักชอบอย่างนี้ เคยเชียร์กันมา คอยหนุนกัน ผมคิดว่าคนจำนวนมากจะค่อยๆ ตาสว่างเอง ค่อยๆ เปลี่ยนย้ายฝั่ง แล้วก็อยู่บนฐานความเป็นจริงมากขึ้น

“ยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์อยู่นาน ประชาชนจำนวนมากก็จะประจักษ์ คือไม่ต้องมาเถียงกับใคร เถียงกับข้อเท็จจริง ไม่ต้องเถียงกับผม พล.อ.ประยุทธ์เป็นข้อเท็จจริง เราเถียงกับผลงาน สิ่งที่มันเกิดขึ้นในสังคมเราตอนนี้จริงๆ ว่าเป็นยังไง นั่นแหละ

“แล้วคนจำนวนมากเขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ และยอมรับความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ คนที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงคือ พล.อ.ประยุทธ์ แกยังคิดว่าตัวเองมีความสามารถอยู่ เป็นคนที่แบบเก่ง ฉลาด เลิศล้ำ และประเทศนี้ ถ้าไม่มีแกบริหารประเทศ มันจะอยู่ต่อยังไง…

“พลังความโกรธแค้นหรือความรู้สึกไม่พอใจของประชาชนในเวลานี้มันทะลักออกมา มันไม่ใช่เพียงแค่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ในวันนั้น คือถ้าเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ผมเข้าใจว่า พล.อ.ประยุทธ์งงมากว่าฉันพูดอะไรต่างจากที่ผ่านมาเหรอ? ทำไมครั้งนี้ประชาชนถึงมีปฏิกิริยากับคำพูดหรือคำสั่งที่ออกมารุนแรงหนักหน่วงขนาดนั้น?

“เพราะว่ามันเป็นความเจ็บปวดที่สะสมกันมา และมันไม่ไหวแล้ว ผมพูดตรงๆ นะ มันจะกลายเป็นฉันทามติแล้วตอนนี้ ผมไม่กล้าพูดว่าฉันทามติเลยนะ แต่ผมคิดว่าตอนนี้มันใกล้มากแล้ว”

 

คล้าย รศ.ดร.นันทนาและสมบัติ เริ่มมองเห็นตรงกันว่า “ฉันทามติเรื่องความล้มเหลวล่มสลายของนายกรัฐมนตรี” กำลังก่อตัวขึ้น

ก่อนจะกลายสภาพเป็นปัจจัยทางการเมืองข้อสำคัญ

ในอนาคตอันใกล้