ของดีมีอยู่ : เหตุใดคนไทยเกือบไม่ได้ดู “ยูโร 2020” / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

สัปดาห์นี้ ขออนุญาตละเว้นเรื่องเหตุบ้านการเมืองสักหนึ่งครั้ง เพื่อข้ามไปพูดคุยถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม-วัฒนธรรม-เศรษฐกิจที่น่าสนใจไม่น้อย

นั่นคือปรากฏการณ์ที่คนไทยเกือบจะไม่ได้ดูการถ่ายทอดสด “ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020” (ที่ถูกเลื่อนมาจัดในปี 2021) ผ่านทางจอโทรทัศน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

หากสถานการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นจริง ก็ย่อมเป็นเหตุ “ผิดปกติ” เมื่อพิจารณาว่านับจาก “ฟุตบอลโลก 1990” เป็นต้นมา ได้มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลทัวร์นาเมนต์หลักของโลก คือ ฟุตบอลโลกและฟุตบอลยูโร มายังบ้านเราแบบครบถ้วนทุกแมตช์โดยตลอด

แม้จะไม่มีนักกีฬาไทยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง เหมือนกีฬาโอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์

เหตุผลหลักๆ ที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ “ยูโร 2020” เกือบหายไปจากจอทีวี ก็คือไม่มีใครกล้าซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ซึ่งแพง ไม่คุ้มค่า ไม่มีแนวโน้มทำกำไร ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หลังโควิด-19 ระบาดต่อเนื่องมาสองปี

รวมถึงอิทธิพลที่ลดน้อยลงของแพลตฟอร์มโทรทัศน์ ตรงข้ามกับการพุ่งผงาดของแพลตฟอร์มออนไลน์ (ซึ่งมีช่องทางให้ผู้คนสามารถหาลิงก์ดูบอลฟรีโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย)

อย่างไรก็ดี สุดท้ายแล้ว ได้มีหน่วยงานรัฐและ “เอกชนบางราย” ยื่นมือเข้ามาประสานงาน-ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันในห้วงนาทีที่ 89 กระทั่งแฟนฟุตบอลชาวไทยมีโอกาสนั่งชม “ยูโร 2020” กันหน้าจอทีวีแบบเต็มอิ่มอีกหนึ่งหน

 

กระนั้น ยังน่าครุ่นคิดต่อว่ามีบริบทอื่นใดอีกหรือไม่ที่ส่งผลให้ฟุตบอลยูโรเกือบหลุดหายไปจากจอโทรทัศน์ไทย?

หนึ่ง แม้หลายคนจะมองว่าอีเวนต์ฟุตบอลระดับอินเตอร์ทั้งหลาย มีสถานะเสมือนเป็น “มหกรรมกีฬามหาชน” มาตลอด

แต่เอาเข้าจริง ดูเหมือนจะไม่มีผู้ประกอบธุรกิจรายไหนเคยทำกำไรได้มากมายมหาศาล จากการซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขันฟุตบอลเหล่านี้มาถ่ายทอดสด

ในฐานะโปรแกรมหนึ่งของอุตสาหกรรมโทรทัศน์ การแข่งขันฟุตบอลโลก ฟุตบอลยูโร หรือฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ก็ไม่ได้มีเรตติ้งความนิยมสูงล้นอย่างที่บางคนเข้าใจ

เช่น อย่างน้อยที่สุด การถ่ายทอดสดทัวร์นาเมนต์เหล่านี้ นั้นไม่ได้มีเรตติ้งสูงกว่าละครหลังข่าว ละครเย็น หรือละครจักรๆ วงศ์ๆ วันเสาร์-อาทิตย์

ไม่นับรวมว่ากฎ “มัสต์แฮฟ” ของบ้านเรา ที่ครอบคลุมการแข่งขันฟุตบอลโลก ทำให้ (เอกชน) ผู้ซื้อลิขสิทธิ์การแข่งขัน มีทางเลือกในการจัดทำกลยุทธ์การตลาดแคบเรียวลง

สอง ก่อนหน้านี้ มีปรากฏการณ์อื่นๆ ที่บ่งชี้มาบ้างแล้วว่า อาจไม่มี “ยูโร 2020” ในทีวีไทย เช่น การที่แฟนบอลไทยต้องดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนลีกส์ฤดูกาลล่าสุดผ่านทางเว็บไซต์ยูฟ่าทีวี เพราะไม่มีเอกชนเจ้าใดนำมาถ่ายทอดสดลงจอโทรทัศน์

นี่หมายความว่าอุตสาหกรรมความบันเทิงอย่าง “กีฬาฟุตบอล” นั้นไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุนนัก หรือมิใช่ทางหลัก-ข้อบังคับที่จำเป็นต้องลงทุนเสมอไป

 

สาม ถ้าเชื่อว่าฟุตบอลคือ “กีฬามหาชน” ก็น่าตั้งคำถามว่า ณ ตอนนี้ ฐานแฟนบอล/คนดูบอลส่วนใหญ่ (อย่างน้อย ในกรณีของบ้านเรา) คือใคร?

หลายคนอาจเริ่มสังเกตได้ว่าคนอายุขึ้นต้นด้วยเลข 2 ลงไป คล้ายจะติดตามดูหรือนิยมในกีฬาลูกหนัง น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ  อย่างชัดเจน

วัยรุ่นชายดูจะหมกมุ่นกับกิจกรรมนันทนาการอื่นๆ เช่น เกมคอมพิวเตอร์ มากกว่าฟุตบอล

ขณะเดียวกัน ก็หาวัยรุ่นหญิงในยุคที่ “กระแสความบันเทิงแบบเกาหลี” กำลังครองโลก ซึ่งตามกรี๊ดนักฟุตบอลหน้าตาหล่อๆ คมๆ จากทวีปยุโรปหรืออเมริกาใต้ ได้น้อยลงเต็มที

ไปๆ มาๆ “มุขฟุตบอล” ประเภท “ผีกับหงส์” ดูจะเป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันเฉพาะในหมู่คนอายุ 30-50 ปี

เช่นเดียวกับการที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าความบันเทิงในสนามฟุตบอล ยังคงมีตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนในโลกใต้ดินของธุรกิจการพนันนอกกฎหมาย

ส่วนเรื่องที่ทีมชาติไทยตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลกอย่างหมดรูป โดยทำผลงานได้ย่ำแย่กว่าเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม ก็เป็นเรื่องชวนเครียดชวนถกเถียงสำหรับคนบางกลุ่ม แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่ม

และดูจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังกระตือรือร้นทางการเมือง หรือตื่นตัวในประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมอื่นๆ เช่น เพศสภาพและชาติพันธุ์

เท่ากับว่า “ฟุตบอล” กำลังถูกเบียดขับให้ค่อยๆ กลายสถานะเป็น “วัฒนธรรมย่อย” สำหรับคนบางรุ่นบางแวดวง โดยไม่ใช่ “วัฒนธรรมหลัก” ที่มีศักยภาพในการดึงดูดความสนใจของผู้ชมรุ่นใหม่ๆ

เอาเข้าจริง โลกภายนอกประเทศไทยก็กำลังประสบสภาพการณ์เช่นนี้เหมือนกัน

ความพยายามในการรวมกลุ่มก่อตั้ง “ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก” โดยสโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่หลายทีมของทวีปยุโรป (ซึ่งถูกต่อต้านอย่างหนักโดย “วัฒนธรรมแฟนบอลท้องถิ่น” ที่แข็งแกร่งในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร จนต้องล้มคว่ำลง) ก็คล้ายจะครุ่นคิดถึงโจทย์ปัญหาที่ว่า ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถนำพากีฬาฟุตบอลไปพบกับคนดูกลุ่มใหม่ๆ ได้อย่างไรบ้าง?

 

การเกือบจะหายไปของ “ยูโร 2020” ในจอโทรทัศน์ไทย จึงกำลังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอันน่าสนใจ

ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเราไม่ได้ตกอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองในประเทศเท่านั้น

แต่ยังเป็นประจักษ์พยานของความเปลี่ยนแปลงสากลด้านอื่นๆ ที่เชี่ยวกรากและทำความเข้าใจได้ไม่ง่ายนัก