ของดีมีอยู่ : ต้นตอของวิกฤตที่แท้จริง / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

แทบทุกคนที่มี “สามัญสำนึก” และ “สติครบถ้วนสมบูรณ์” ต่างรับรู้เหมือนๆ กันว่า ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของ “โควิด-19” อย่าง “เละเทะ” “วุ่นวาย” “สับสน” และปราศจาก “ความเชื่อมั่น” ใดๆ ทั้งสิ้น

ลำพังการมีเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่รับมือยากกว่าเก่า แพร่กระจายเข้ามาในประเทศ นั่นอาจเป็นเรื่องหนักหนาที่สามารถยอมรับกันได้ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ในอีกหลายประเทศทั่วโลก

แต่การบริหารจัดการเรื่อง “วัคซีน” อันเต็มไปด้วย “ความรวนเรไม่แน่นอน” ต่างหาก ที่บ่งบอกว่าพวกเรากำลังดำรงชีวิตอยู่กับโรคระบาดด้วย “ความเสี่ยง” ที่สูงเกินกว่าปกติ

ทั้งเรื่องการไม่มี “วัคซีนทางเลือก” ที่หลากหลายครอบคลุมพอ

การจัดสรร-กระจายวัคซีนที่เต็มไปด้วยความติดขัดและความคลางแคลงใจของผู้คน

สภาวะที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐไม่สามารถสื่อสาร-สร้างความมั่นใจได้ว่า “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับความเชื่อถือมากกว่าวัคซีนอีกยี่ห้อที่ประเทศไทยมีอยู่ในมือนั้น จะมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของประชาชนในเร็ววันนี้หรือไม่

(ในช่วงเวลาเดียวกับการที่นายกรัฐมนตรีเข้ารับการฉีด “วัคซีนแอสตร้าฯ” ครั้งที่สองตามกำหนดการเดิม ท่ามกลางอารมณ์ยิ้มแย้มสบายใจของบุคคลรายล้อม)

ขณะเดียวกัน แอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” ซึ่งควรจะเป็นที่พึ่งหลักของผู้คนจำนวนมากที่ต้องการฉีดวัคซีน ก็มีอาการ “ไม่พร้อม” กระทั่งเพิ่งถูกสั่งเบรกจาก ศบค.

ยิ่งกว่านั้น เรายังได้พบเห็นปรากฏการณ์ที่คนมีกำลังทรัพย์จำนวนไม่น้อยพากันเดินทางข้ามทวีป เพื่อไปรับวัคซีนในประเทศซึ่งมีระบบการจัดสรรทรัพยากรที่ดีและทั่วถึงกว่า เช่น สหรัฐอเมริกา

“ชุดปัญหาโควิด” ที่ประเดประดังเข้ามาเหล่านี้ ส่งผลให้การพยายามโยนปัญหาไปยังประชาชนที่ไม่ยอมลงทะเบียนรับวัคซีน และการเกณฑ์ดารามารณรงค์เรื่องดังกล่าว (พร้อมได้รับอภิสิทธิ์ให้เข้าฉีดวัคซีนก่อนหน้าคนอื่น) กลายเป็นประเด็นที่ “เอาต์” ไปเรียบร้อยแล้ว

 

จากบริบทข้างต้น ย่อมไม่มีใครกล้าจะปฏิเสธว่าประเทศไทยไม่มีปัญหา เพราะปัญหานั้นมีอยู่แน่ๆ แถมมีอยู่เยอะด้วย

สิ่งต่อไปที่ควรวินิจฉัยกันก็คือ “ปัญหา” ซึ่งพวกเรากำลังเผชิญนั้น มันเริ่มต้นขึ้นจากจุดไหน?

หากมองย้อนไปใกล้ๆ ปัญหาน่าจะอยู่ที่รัฐบาลชุดปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีผู้มีส่วนรับผิดชอบ

ท่ามกลางคำถามหลากหลายข้อที่เกิดขึ้นในสังคม อาทิ

การแก้ปัญหาโควิดโดยให้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่ตัวนายกรัฐมนตรีและ ศบค.นั้น “เวิร์ก” จริงหรือไม่?

นายกรัฐมนตรีและ “คนใกล้ตัว” มีศักยภาพจะรับมือปัญหาซับซ้อนหลายระลอกดังกล่าวได้ดีเพียงใด?

ทำไมนโยบาย-แนวปฏิบัติหลายๆ เรื่อง ที่ใช้รับมือปัญหาโรคระบาด ระหว่างผู้นำรัฐบาลกับพรรคร่วมรัฐบาล จึงคล้ายจะขัดแย้งไม่ลงรอยกัน?

ปัจจุบัน รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้สมบูรณ์แบบแค่ไหน?

รัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ ควรได้เข้ามาร่วมแสดงบทบาทในการแก้ไขปัญหามากกว่านี้หรือไม่? เช่น รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้นหายไปไหน? ในภาวะชะงักงันของแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม”

 

หรือถ้าจะลองมองย้อนไปไกลยิ่งกว่านั้น ปัญหาอาจเริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับการทำรัฐประหารเมื่อ 7 ปีก่อน

รัฐประหารที่ “ปิดทาง” ของการแก้ไขปัญหาและการสั่งสมวุฒิภาวะของสังคม ด้วยระบอบประชาธิปไตย

รัฐประหารที่ “เปิดทาง” ให้ “อำนาจนอกระบบ” ซึ่งนำแสดงโดยกองทัพ

รัฐประหารที่ “ทำคลอด” ให้แก่ “ระบอบประชาธิปไตยกลายพันธุ์” “รัฐธรรมนูญที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน” และ “กระบวนการยุติธรรมอันบิดเบี้ยว”

รัฐประหารที่พยายาม “ขจัด” นักการเมืองผู้มีความสามารถ-วิสัยทัศน์ออกจากเวทีอำนาจ และ “สงวนรักษาพื้นที่” ไว้ให้แก่นักการเมืองที่สยบยอมต่อ “อำนาจอื่น” ซึ่งไม่ใช่ “อำนาจประชาชน”

อันนำมาสู่ “รัฐบาลที่ด้อยประสิทธิภาพ” ชุดปัจจุบัน

ในท้ายที่สุด