ของดีมีอยู่ : มหาภารต(ประ)ยุทธ์ / ปราปต์ บุนปาน

ของดีมีอยู่

ปราปต์ บุนปาน

 

“ระบบการเมืองประเทศไทยมันเหมือนมีพรพิเศษให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคำสาป คือคำสาปนี้บอกว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นที่เกลียดชังอย่างไร ไม่ว่าคุณจะทำงานล้มเหลว คนไม่พอใจคุณมากแค่ไหน คุณจะพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเมื่อตัวคุณเองไม่ต้องการเป็นนายกฯ อีกต่อไปแล้ว

“เคยดูตัวละครในมหาภารตยุทธไหมครับ? ได้รับพรว่า ไม่ว่าจะถูกศาสตราวุธหนักหนาแค่ไหน คุณจะตายก็ต่อเมื่อตัวเองตัดสินใจว่าจะตาย สุดท้ายก็โดนอาวุธเต็มไปหมดเลย ไปอยู่บนแคร่ อาวุธปักเต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่ตายเพราะตายไม่ได้ มีความรู้สึกยังตายไม่ได้ ทรมานอยู่อย่างนั้น แต่ก็รู้สึกว่าตายไม่ได้ ต้องขอดูอะไรเสียก่อนข้างหน้า…

“ผมพูด ไม่ใช่ต้องการพูดเสียดสีอะไร แต่กำลังจะบอกว่า เพราะสภาพอย่างนี้นี่แหละ เพราะสภาพการเมืองที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเงื่อนไขพิเศษทางการเมืองจากระบบของรัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คน เลือกนายกฯ ได้นี่แหละ มันทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในสภาพที่ไม่ว่าจะบริหารล้มเหลวอย่างไร คนเกลียดชังอย่างไร คนอยากให้ไปมากแค่ไหนก็ตาม

“พล.อ.ประยุทธ์จะยังอยู่ได้ ตราบใดที่เขายังอยากอยู่ต่อ”

 

นี่คือคำสัมภาษณ์ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยรุ่นอาวุโสอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง” ได้บรรยายถึงสภาพการณ์ปัจจุบันของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เอาไว้อย่างแหลมคม

หลายคนคงพอทราบว่าจาตุรนต์กำลังเปรียบเทียบ “จุดแข็ง” ที่อาจกลายเป็น “จุดอ่อน” ทางการเมืองไปพร้อมๆ กันของ พล.อ.ประยุทธ์ กับชะตากรรมของตัวละครชื่อ “ภีษมะ” จากมหากาพย์ “มหาภารตะ”

“ภีษมะ” ผู้มิอาจตัดใจตาย กระทั่งต้องทนทุกข์ทรมานกับการดำรงอยู่เป็นประจักษ์พยานของการรบพุ่งกันในมหาสงครามทุ่งกุรุเกษตร ระหว่าง “ฝ่ายเการพ” กับ “พี่น้องปาณฑพ” ซึ่งต่างเป็นหลานของตนเองทั้งคู่

คำกล่าวของจาตุรนต์ทำให้ย้อนนึกไปถึงเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือบทละครเรื่อง “มหาภารตะ” ผลงานของ “ฌ็อง โกลด การิแยร์” นักเขียนบทละคร-บทภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสคนสำคัญ ซึ่ง “รศ.จักรกฤษณ์ ดวงพัตรา” แปลเป็นภาษาไทยเมื่อหลายปีก่อน

นั่นคือบทพูด ณ วาระสุดท้ายของตัวละคร “ภีษมะ” ก่อนที่เขาจะตัดสินใจอำลาจากโลกนี้ไป

ความว่า

 

“ชายผู้หนึ่งเดินอยู่ในป่าที่น่าอันตราย มืดมิด และชุกชุมด้วยสัตว์ร้าย ป่านั้นถูกคลุมไว้ด้วยตาข่ายมหึมา ชายผู้นั้นรู้สึกหวาดหวั่นใจ เขาออกวิ่งหนีสัตว์ร้าย แล้วเขาก็ตกลงไปในหุบเหวอันมืดลึก

“แต่เดชะบุญนัก เขาคว้ารากไม้ไว้ได้ เขารู้สึกถึงลมหายใจของงูใหญ่ที่แผ่แม่เบี้ยรออยู่เบื้องล่าง และที่ก้นเหวนั้น ยังมีช้างตัวหนึ่งเตรียมจะเสยงาแทงเขา ด้วยรากไม้ที่เขาเหนี่ยวอยู่ ก็มีหนูขาวกับหนูดำกำลังกัดแทะ

“ขณะนั้น มีผึ้งฝูงใหญ่ฝูงหนึ่งบินผ่านมา มันทำน้ำผึ้งหยดลงมา … ชายผู้นั้นค่อยๆ ปล่อยมือจากรากไม้อย่างระมัดระวัง แล้วเอื้อมไปแตะหยดน้ำผึ้งนั้น

“เขาถูกภยันตรายต่างๆ คุกคาม จนชีวิตและความตายของเขาเกือบจะเป็นสิ่งเดียวกันอยู่แล้ว แต่เพราะน้ำผึ้งหยดเดียวเท่านั้น ที่ทำให้เขาปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ในท้ายที่สุด “ภีษมะ” นั้นแสดงความประสงค์เด่นชัดว่าตนเองไม่ต้องการ “น้ำผึ้ง” หรือไม่ต้องการมีชีวิตสืบต่อ

 

คําถามต่อเนื่องจากอุปมาของจาตุรนต์ก็คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยังต้องการ “น้ำผึ้ง” อยู่หรือไม่?

ท่ามกลางสถานการณ์หนักหนาสาหัสที่ “ประชาชน” จำนวนมากปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป

โดยไม่แน่ใจว่า “น้ำผึ้ง” จะหยดลงถึงมือของพวกเขาเมื่อใด-อย่างไร?

และสิ่งที่ดูคล้ายๆ จะเป็น “น้ำผึ้ง” นั้น แท้จริงแล้วคือ “น้ำผึ้ง” ใช่หรือเปล่า?