ของดีมีอยู่ : “ความหวังสุดท้าย” ในประเทศสิ้นหวัง / ปราปต์ บุนปาน

ขอบคุณภาพจาก www.cont-reading.com

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

ท่ามกลางปรากฏการณ์รายล้อมที่เกิดขึ้นมากมาย

ดูเหมือนผู้คนในสังคมไทยยังไม่ค่อยได้ครุ่นคิดกันอย่างจริงจังนัก ว่าอะไรคือ “ความหมาย” ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง “การประท้วงอดอาหาร” โดย “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” และเพื่อนๆ จำนวนหนึ่งของเขา

นักวิชาการผู้หนึ่งซึ่งขบคิดประเด็นนี้มาโดยตลอดก็คือ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

อาจารย์กนกรัตน์เพิ่งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวมติชนทีวีและเสนอว่า “การประท้วงอดอาหาร” คืออีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันว่า “คนสองรุ่น” ในสังคมเรานั้นมีวิธีคิด-มุมมองต่อโลกแตกต่างกันมหาศาล

ถึงแม้ว่า “การประท้วงอดอาหาร” ในฐานะที่เป็นเครื่องมือหรือกิจกรรมทางการเมืองเชิง “สันติวิธี” จะไม่ใช่เรื่องใหม่

สำหรับบ้านเรา อย่างน้อยที่สุด การประท้วงรูปแบบนี้ก็เคยปรากฏขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535

อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ประเมินว่า “การอดอาหาร” ที่ผ่านๆ มา มักเป็นเพียง “เครื่องมือเชิงสัญลักษณ์”

ผิดกับ “การอดอาหารของเพนกวิน” ซึ่งเป็น “การอดอาหารจริงๆ” ที่กินเวลายาวนานเกินกว่าหนึ่งเดือน

ดังนั้น แม้ “การอดอาหาร” ของ “คนรุ่นโบว์ขาว” (กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องบนท้องถนนในช่วง 1-2 ปีหลัง) มักถูกสบประมาทจากผู้ใหญ่ “คนรุ่นสงครามเย็น” ว่า “โอ๊ย! อดไม่นานเดี๋ยวมันก็เลิกแล้ว” เนื่องจากคนกลุ่มหลังคุ้นชินกับการมอง “การประท้วงอดอาหาร” ในฐานะเครื่องมือขู่-ต่อรองทางการเมือง

ทว่าสำหรับเพนกวินและเพื่อนๆ “การประท้วงอดอาหาร” คือการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพูดถึงอนาคตของตนเอง มิใช่แค่เพียงการต่อรองอำนาจทางการเมือง การเปลี่ยนรัฐบาล หรือการผลักดันพรรคการเมืองของตนให้ชนะการเลือกตั้ง

ทั้งยังอาจเป็น “ความหวังสุดท้าย” ของคนรุ่นพวกเขา

 

ดังที่อาจารย์กนกรัตน์อธิบายไว้อย่างละเอียดลออว่า

“เพราะฉะนั้น เราจะเห็นความจริงจังในการอดอาหารครั้งนี้ของคุณพริษฐ์แบบเราไม่เคยได้เห็นมาก่อน คือสิ่งที่เขาทำมันไม่ใช่การข่มขู่ต่อผู้มีอำนาจ แต่เป็นการบอกจริงๆ ว่า ในฐานะของคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีอาวุธ นี่เป็นเครื่องมือเดียวจริงๆ คือการเอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพันต่อการที่จะบอกว่าเขาไม่มีอาวุธอื่นเหลืออยู่แล้วนะในการที่เขาต้องการเรียกร้อง

“เพราะตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาของการเรียกร้อง เราจะเห็นว่าคนรุ่นสงครามเย็นไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือยอมต่อข้อเรียกร้องของคนรุ่นโบว์ขาวเลย ดิฉันพูดไปหลายครั้งที่ว่า เมื่อเราเห็นภาพการเรียกร้องของเกษตรกร การเรียกร้องของชนเผ่าในเรื่องที่ผ่านมา คนรุ่นสงครามเย็นในรัฐบาลนี่ยอมอ่อนโอนคือมีการยอมเปิดเจรจา

“แต่กับการลุกขึ้นมาของคนรุ่นโบว์ขาว แม้แต่เรื่องการปฏิรูปการศึกษา เรายังไม่เห็นการขยับแม้แต่นิดเดียว

“ซึ่งการอดอาหารของคุณพริษฐ์เนี่ยนะคะ ดิฉันต้องบอกว่ามันเป็นความพยายามในการบอกเฮือกสุดท้ายของคนรุ่นนี้ ในภาวะที่พวกเขามีเครื่องมือที่จำกัดมาก นี่คือเครื่องมือสุดท้ายที่เขามี ข้อเรียกร้องของเขามันไม่ใช่เรื่องอำนาจทางการเมือง มันคือชีวิตของเขาทั้งหมดในอีก 30-40 ปีข้างหน้า”

 

ตามการวิเคราะห์ของนักวิชาการที่ศึกษาประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองในหมู่คนรุ่นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง “การอดอาหาร” โดย “เพนกวิน” จึงเป็นการส่งสารไปถึงคนรุ่นก่อนว่า หากข้อเรียกร้องของคนรุ่นพวกเขาไม่ประสบผลสำเร็จหรือไม่ได้รับการตอบสนองเลย

การจะมีหรือไม่มีชีวิตอยู่ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

ในบริบทที่ “อนาคตของคนรุ่นใหม่” ตกไปอยู่ในมือของผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นคนอีกรุ่นหนึ่ง แบบเบ็ดเสร็จ “การอดอาหาร” ได้กลายเป็นวิธีการเดียวที่พวกเขาพอจะใช้สื่อสารกับคนกลุ่มนั้น

ปัญหาที่น่าคิดต่อจากข้อสังเกตของอาจารย์กนกรัตน์ก็คือ อะไรจะเป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งผลักดันให้ผู้มีอำนาจหรือ “คนรุ่นสงครามเย็น” ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิดของตนเอง เพื่อทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของ “เพนกวิน” และเพื่อนๆ?

และความขัดแย้งระหว่างรุ่นจะลุกลามยืดเยื้อไปถึงจุดไหน?

เอาเข้าจริง เราอาจทดลองนำแนวทางการวิเคราะห์ “การประท้วงอดอาหารของเพนกวิน” โดยอาจารย์กนกรัตน์ มาใช้ทำความเข้าใจกระแสความคิด “ย้ายประเทศกันเถอะ” ของคนรุ่นใหม่จำนวนมากด้วยก็ได้