ของดีมีอยู่ : กิโยตินแห่งศีลธรรม / ปราปต์ บุนปาน

 

ของดีมีอยู่ / ปราปต์ บุนปาน

 

เมื่อแรกได้ยินได้ฟังเรื่องราวกรณีพระภิกษุที่สำนักสงฆ์ภูหินกอง จ.หนองบัวลำภู กระทำการตัดหัวตนเองด้วยกิโยติน โดยมีความมุ่งหมายที่จะถวายศีรษะเป็นพุทธบูชา ท่ามกลางการรับรู้ของลูกศิษย์แวดล้อมจำนวนหนึ่ง

นี่ถือเป็นเรื่องราวอันน่าสะเทือนขวัญ น่าแปลกประหลาดใจ ซึ่งผิดฝาผิดตัวจากบรรทัดฐานทางสังคมยุคใหม่ไปไกล

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพยายามสำรวจความเห็นของผู้คนฝ่ายต่างๆ และขบคิดตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ให้กว้างขวางและถี่ถ้วน

ก็อาจต้องเริ่มพิจารณาเรื่องนี้ด้วยคำถามตั้งต้นว่า เราควรจะมองปรากฏการณ์ที่สำนักสงฆ์ภูหินกองด้วย “แว่นตา” กรอบใดดี?

 

ถ้าเชื่อตามเสียงที่ “ดัง” หน่อย เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูก็เหมือนจะได้รับการตัดสินพิพากษาว่าเป็นปัญหาหรืออาการป่วยทางจิตของปัจเจกบุคคล และคณะบุคคลที่รวมกลุ่มกันในฐานะ “ลัทธิประหลาดนอกรีต”

วิธีการแก้ไขปัญหาในมุมมองนี้ คือการต้องเข้าไปสืบสวนตรวจสอบสำนักสงฆ์ต้นเหตุ ก่อนจะระงับ ควบคุม สะสาง กวาดล้าง ดำเนินคดี และรักษา

ขณะที่บางคนก็ไปใส่ใจกับตัววัตถุที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น “กิโยติน” ซึ่งถูกคาดหมายว่าควรจะเป็น “สิ่งของผิดแผกแปลกแยก” ในสังคมไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และพุทธศาสนาไทย

สำหรับบางคนที่มีพื้นฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ ก็คงจะพอรับทราบว่าพฤติกรรมของพระภิกษุที่สำนักสงฆ์ภูหินกอง ไม่ได้เป็นภาวะไร้แก่นสารเหลวไหลอันไร้ที่มา แต่ยึดโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนาในกลุ่มที่เรียกรวมๆ กันว่า “ลัทธิอนาคตวงศ์”

ที่อย่างน้อยก็เคยแพร่หลายในยุคต้นรัตนโกสินทร์ โดยภาพจิตรกรรม “พระเจ้าสังขจักรตัดศีรษะถวายพระพุทธเจ้า” เอง ก็มีปรากฏอยู่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดในกลาง จ.เพชรบุรี

แต่หากจะประเมินว่า เรื่องทำนองนี้มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรู้สึกแปลกหรือตื่นเต้นตกใจอะไร

นี่ก็คงเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างจะ “ด้านชา” ต่อเพื่อนมนุษย์และสังคมรอบข้างเกินไปหน่อย

 

ดังนั้น แทนที่จะมองว่าปรากฏการณ์ “พระใช้กิโยตินตัดศีรษะตนเอง” เป็นเพียงความวิปริตผิดเพี้ยนเฉพาะคนเฉพาะกลุ่ม

หรือเป็นแค่เรื่องราว-อุดมการณ์สามัญปกติที่ดำรงอยู่ในลัทธิความเชื่อของผู้คนบางกลุ่มมาเนิ่นนาน

เราอาจต้องพยายามตั้งคำถามว่า สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นถือเป็น “อาการป่วยไข้ของสังคมร่วมสมัย” หรือไม่? อย่างไร?

จากข่าวที่หนองบัวลำภู ไปถึงข่าวอดีต ส.ส.สุโขทัย ประกาศตนเป็น “พระศรีอาริยเมตไตรย” หรือข่าว “หลวงปู่องค์ดำ” ที่บุรีรัมย์ ฯลฯ

ไม่ว่าเราจะพิจารณาข่าวเหล่านี้เป็นข่าวอาชญากรรมที่ก่อความรู้สึกสยดสยอง ข่าวแก๊งต้มตุ๋นที่พึงระมัดระวัง หรือข่าวสีสันเบาสมองเรียกเสียงหัวเราะเฮฮา

นี่ต่างเป็นปรากฏการณ์ร่วมที่บ่งชี้ว่า “ศูนย์กลาง-แบบอย่างที่ดีเลิศ” ในทาง “ศีลธรรม-จริยธรรม-คุณธรรม” ของสังคมไทยนั้นกำลังเลือนหายไป หรือไม่ทรงพลังมากเพียงพอในโลกทัศน์ของชาวบ้านคนธรรมดาสามัญจำนวนมาก

กระทั่งพวกเขาต้องดั้นด้นไปค้นหาหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจหรือศูนย์รวมความศรัทธาแบบใหม่ๆ ในรูปของ “ลัทธิพิธี” ต่างๆ

ในภาวะที่ “อำนาจทางศีลธรรม” แตกแยกกระจัดกระจายตัวออกไปเป็นความเชื่อ-พิธีกรรมทางเลือกเล็กๆ น้อยๆ โดยปราศจาก “ศูนย์กลาง” หรือ “แบบอย่างที่ดีเลิศ” เช่นนี้

“ฝ่ายก้าวหน้า” อาจสามารถวิพากษ์วิจารณ์จุดอ่อนของศาสนาผ่านการดำรงอยู่ของสภาวะคลอนแคลนดังกล่าว หรืออาจตีความให้เป็นภาวะประชาธิปไตยในทางความเชื่อไปได้เลย

แต่ถ้าต้องครุ่นคิดจากมุมของ “ฝ่ายอนุรักษนิยม”

ปัญหาน่าหนักใจอาจอยู่ตรงคำถามที่ว่า “ศูนย์กลาง/แบบอย่างที่ดีเลิศในทางศีลธรรม” ซึ่งเคยมีอยู่ (หรือถูกเชื่อว่าเคยมีอยู่) นั้นเลือนหายไปตอนไหน? เลือนหายไปได้อย่างไร?

และพวกเขาจะสามารถรื้อฟื้นกู้คืนอำนาจชนิดนี้กลับมาได้หรือไม่? ด้วยวิธีการเช่นใด?