อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ของประเทศเพื่อนบ้าน : ฐากูร บุนปาน

ตามคณะตัวแทนรัฐบาลและเอกชนไทยที่ไปเข้าเยี่ยมพบ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรี และหารือด้านเศรษฐกิจกับคู่เจรจาฝ่ายลาว เมื่อสองสัปดาห์ก่อน

นครเวียงจันทน์กำลังไล่ตามกรุงพนมเปญ ของกัมพูชา มาติดๆ

ในแง่ของปริมาณการลงทุนจากจีน

ด้านหนึ่ง อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและธุรกิจ

แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ในแง่สังคมและจิตวิทยา

การมีแต่ “ต้าเกอ-พี่ใหญ่” เป็นหลักอยู่แต่เพียงผู้เดียวนั้นชวนให้อุ่นใจมากน้อยแค่ไหน

ยังต้องการ “มิตร” ที่ใกล้ชิดขนาดรั้วติดกันยาวเป็นร้อยเป็นพันกิโลเมตร ยืนเรียงเคียงไหล่ ทั้งในช่วงเวลาของความเจริญรุ่งเรืองและในยามเดือดเนื้อร้อนใจบ้างหรือเปล่า

และกลับกัน เพื่อนบ้านของประเทศเหล่านั้นคิดอะไรอยู่

ยังหลงกับดักชาตินิยมยุค “สงครามเย็น” ที่อยากจะให้ใครต่อใครมายืนอยู่ “ใต้ร่มธงไทย” อีกหรือไม่

หรือเริ่มเข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกและภูมิภาคขึ้นมาบ้างแล้ว

เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า หลายปีที่ผ่านมา (ไม่เจาะจงว่ากี่ปีละครับ เดี๋ยวจะถูกข้อหาว่าอคติเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 555) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย แทบจะต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

อธิบายอย่างปลอบใจตัวเองก็ต้องบอกว่า เป็นเพราะฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านมีขนาดเล็ก เวลาที่เจริญเติบโตขึ้นมา ถึงปริมาณจะไม่มาก แต่คิดเป็นอัตราส่วนแล้วมากกว่าประเทศใหญ่ที่อาจจะขยายตัวด้วยเม็ดเงินมากกว่า

แต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันก็คือ ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดฮวบลงอย่างน่าใจหาย

โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบกับเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ขณะที่ต่างชาติไม่มา ในประเทศด้วยกันก็ไม่ลงทุน

ไม่มีลงทุนใหม่ ไม่มีเงินใหม่ จะกินบุญเก่ากันไปได้นานแค่ไหน

ลำพังรัฐบาลจะแบกหามทั้งประเทศไปได้สักกี่น้ำ

จะรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนก็เถอะ

แวบขึ้นมาระหว่างข้ามแม่น้ำโขงอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในประเทศสังคมนิยมละแวกบ้านหรือแม้แต่ห่างออกไปนิด ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือจีนนั้น

ความต่อเนื่องของการกำหนดนโยบายไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเกิดจากระบบการสืบทอดอำนาจถูกจัดวางเอาไว้เป็นขั้นเป็นตอน

มีการฟูมฟักกลุ่มคนที่จะขึ้นมาสวมบทบาทในด้านการบริหาร

ความสำเร็จประเภทนี้มักถูกหยิบยกมาใช้ในประเทศที่โครงสร้างการบริหารล้มเหลว หรือเศรษฐกิจกำลังดิ่งไถล

ในประเด็นการฟูมฟักการเตรียมคนนั้นมีข้อควรแก่การพิจารณา

แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อควรระวังในเรื่องระบบ วิธีการ และความแตกต่างด้านพื้นฐานของแต่ละประเทศแต่ละสังคม

คนละดิน คนละน้ำ ต้นไม้ประเภทเดียวกันก็เติบโตให้ดอกออกผลแตกต่างกัน

หรือถ้าอยากจะเอาระบบของเขามาใช้ทั้งกระบิ ก็ต้องนึกด้วยว่าแล้ว “ระบบ” ที่มีอยู่ของตัวเองจะเป็นอย่างไร

มีทางเลือกทางอื่นให้พิจารณาหรือไม่

คุ้มไหมที่จะเดินย้อนทางกลับมาเริ่มต้นใหม่

เผลอไปคิดอะไรทื่อๆ ง่ายๆ (แบบมักง่าย) ในเรื่องของสังคมที่ซับซ้อนและหลากหลาย

หกคะเมนมาให้เห็นหลายรายแล้วครับ

กลับมาที่เพื่อนบ้านอย่างลาวหรือกัมพูชาอีกที

ในขณะที่มีจุดที่น่าชื่นชม ควรแก่การพิจารณา หรือว่าเอามาเป็นกระจกในการส่องมองดูตัวเอง

ก็มีอีกหลายตัวอย่างที่ควรแก่การเอามาเตือนใจ

ว่าในฐานะที่มีประสบการณ์และเคยผ่านสภาพเช่นนั้นมาก่อนแล้ว จะไม่เดินย้อนกลับไปสู่จุดที่เป็นปัญหา (หรือเผลอๆ อาจจะเป็นวิกฤต) อีกอย่างไร

โดยเฉพาะในแง่ความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านฐานะทางเศรษฐกิจและโอกาสของประชาชน

เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ช่องว่างตรงนี้ถ่างออกจนน่ากลัว

มาดีขึ้นกระเตื้องขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เห็นว่าปัจจุบันกำลังจะเดินวนกลับไปที่เดิมอีกแล้ว

หวาดเสียวนะครับ